ประชากรมนุษย์บนใบโลกนี้มีกว่า 7,000 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีความแตกต่างทั้งทางด้าน ชาติพันธ์ุ สีผิว ความเชื่อ วัฒนธรรมทางสังคม อีกทั้งยังมีความต้องการที่หลากหลาย มีหลายกลุ่มหลายแนวความคิด มีความได้เปรียบ – เสียเปรียบในเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่ากัน ผู้ที่แข็งแรงกว่า มีความพร้อมมากกว่าทั้งทางด้านพละกำลังและอำนาจ ก็ใช้อำนาจที่มีอยู่นั้นในการบังคับกดขี่ต่อกลุ่มคนที่ด้อยกว่า ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความขัดแย้ง และการละเมิดระหว่างกันได้ในที่สุด
ดังนั้น กระแสความคิดด้านสิทธิมนุษยชนจึงได้กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงและแผ่ขยายไปทั่วโลก มีบุคคล กลุ่ม องค์การทางสังคมและทางการเมืองเคลื่อนไหว เรียกร้องในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครอง ขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ ฯลฯ
โดยภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ยุติลง ได้สูญเสียชีวิตมนุษย์ไปมหาศาล อีกทั้งยังได้ส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ต่อความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ทั้งในเรื่องของความอดอยาก การใช้แรงงานเด็กและสตรี การทรมานนักโทษ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น โดยประเทศสมาชิกสหประชาติได้ให้คำมั่นว่า”จะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดโศกนาฎ กรรมดังกล่าวขึ้นอีก ” ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Universal Declaration of Human Right จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทั่วทุกแห่ง และได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากฎหมายภายในประเทศของประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยการลงคะแนนเสียงร่วมกันของประเทศต่างๆ
แต่เหตุการณ์ภายหลังการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์กร สหประชาชาติ ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างต่อเนื่องทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่น เหตุการณ์ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาในช่วงปี ค.ศ.1974 – 1977 เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติยุคใหม่ ที่ทำให้ชาวกัมพูชาร่วม 1.7 ล้านคนเสียขีวิต
เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ที่ชนพื้นเมืองชาวทุตซี และชนพื้นเมืองชาวฮูตู ถูกสังหารหมู่ ไปประมาณ 800,000-1,071,000 คนในประเทศรวันดา ในช่วงเวลา 100 วันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมในปี ค.ศ.1994
เหตุการณ์สงครามยูโกสลาเวีย หรือ สงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย ระหว่าง ค.ศ.1992 – 1995 จากกรณีที่รัฐต่างๆต้องการแยกเป็นอิสระจากยูโกสลาเวีย โดย ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (International Center for Transitional Justic) รายงานว่าสงครามในยูโกสลาเวียคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 140,000 ศพ
แม้กระทั่งในสังคมอเมริกันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพและเคารพสิทธิ มนุษยชนเองก็ตาม ยังเกิดเหตุการณ์การเหยียดสีผิวจนนำไปสู่ความรุนแรง ตั้งแต่กรณีของ “รอดนีย์ คิงส์” เมื่อปี 1991 ที่ถูกตำรวจผิวขาว 4 นายถูกทุบตีจนปางตาย และลุกลามจนกลายเป็นเหตุจลาจลเผาเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมือง ลอสแองเจิลลิส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 55 คน และกว่า 2,000 คนบาดเจ็บหลังจากที่ตำรวจทั้ง 4 นายพ้นผิดลอยนวลผ่านกระบวนการศาล และใน กรณีของ จอร์จ ซิมเมอร์แมน หนุ่มผิวขาวที่ยิงวัยรุ่นผิวดำอายุ 17 ปีช่ือ เทรย์วอน มาร์ติน จนเสียชีวิตในฟลอริด้า ” และศาลตัดสินให้ซิมเมอร์แมน พ้นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ปี 2013 ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในกว่า 100 เมืองทั่วสหรัฐ
หรือ เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ถูกขับไล่จากพื้นที่อยู่อาศัยของตนเอง ถูกทารุณกรรม ถูกฆ่า ถูกข่มขืน ไม่มีสิทธิแม้จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล การทำงาน ถูกกดขี่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องอพยพลี้ภัยเสี่ยงอันตราย ดั่งที่จะได้เห็นจากข่าว แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
เรื่องราวที่กล่าวมาเป็นเพียงเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้น ซึ่งมิอาจหยิบยกมาได้ทั้งหมด เหตุการณ์เหล่านี้กำลังบอกอะไรแก่เรา ? เหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพขององค์การสหประชาชาติ ในการป้องกันเหตุการณ์ ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ หรือไม่? เหตุใดในบางเหตุการณ์ ประเทศโลกที่หนึ่ง เช่น ชาติตะวันตก และสหรัฐอเมริกา จึงเลือกที่จะเงียบ ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่เข้าแทรกแซง แต่ในบางกรณีกลับใช้คำว่า สิทธิมนุษยชนในการดิสเครดิตคู่พิพาทในเวทีการเมืองโลก เช่น จีน คิวบา เวเนซุเอลา อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน ฯลฯ ทำให้มีความจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ของประชาชนในประเทศนั้นๆที่ถูกกระทำจากฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีการเลือกประนามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบนโลก เพียงแค่บางเหตุการณ์เท่านั้น
คำว่าสิทธิมนุษยชนจะมีคุณค่าและถูกหยิบยกมาใช้ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่ได้ประโยชน์ เพียงเท่านั้นหรือ ? หรือเป็นเพียงการประดิษฐ์คำขึ้นมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อแปะฉลากให้สวยงามดูดี แต่ไม่มีสรรพคุณที่สามารถใช้ได้จริง ? มีคำถามเกิดขึ้นมามากมาย เกี่ยวกับแก่นสาระของคำว่าสิทธิมนุษยชน ว่าแท้จริงแล้วมีอยู่จริงหรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนควรหันมาทบทวนบทบาท แก้ไขปรับปรุงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยกันทำให้ คำว่า”สิทธิมนุษยชน” ทรงคุณค่าตามความหมายและเร่งผลักดันในทางปฏิบัติให้เกิดเป็นผลขึ้นได้จริง
จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากมนุษย์มองเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมชาติ ด้วยสายตาแห่งความมีเมตตาและความเท่าเทียมกัน หยุดทำร้าย หยุดเอารัดเอาเปรียบ และร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นมาบนโลกอย่างแท้จริง …..????