ในช่วงดึกของคืนวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2559 ทหารตุรกีได้เข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่งในเมืองอิสตันบูลและเมืองหลวงกรุงอังการา ในความพยายามวางแผนทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลนายตอยยิบ เออร์โดกาน
เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากพลเมืองตุรกีได้ออกมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ อันเป็นการตอบสนองต่อคำเรียกร้องของประธานตุรกี ตอยยิบ เออร์โดกาน ที่ขอให้ประชาชนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารสามารถเข้ายึดสถานที่ราชการ และจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
เออร์โดกานและประเทศตุรกีต้องขอบคุณการรัฐประหารและการแทรกแซงของทหารที่มีต่อระบอบการเมืองการปกครองของตุรกีตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน อันทำให้ประชาชนตุรกีเกลียดการแทรกแซงทางทหารมากกว่าที่พวกเขาไม่ชอบผู้นำเผด็จการของตน เห็นชัดว่าชาวตุรกีส่วนใหญ่เข้าใจและรู้สึกได้ว่า “ความน่ากลัวของประชาธิปไตย” นั้นยังดีกว่า “การปกครองของทหาร” พวกเขาจึงได้ตอบรับคำเรียกร้องของเออร์โดกาน และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การรัฐประหารในครั้งนี้ล้มเหลวในที่สุด
จุดประสงค์ในการทำรัฐประหารครั้งนี้ทหารอ้างว่าต้องการ “ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ” แต่ประธานาธิบดีเออร์โดกานชี้ว่า นี่เป็นเพียงข้ออ้าง แต่แท้ที่จริงคือฝีมือและการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มลับที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในสถาบันของรัฐทั้งหมดที่จัดตั้งโดยนักการศาสนามุสลิมชื่อ “ฟัตฮุลเลาะห์ กูเลน” (fethullah Gulen) ซึ่งตอนนี้ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในเพนซิลวาเนีย
อย่างไรก็ดีกูเลนได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น ทั้งยังได้กล่าวหาว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ถูก “จัดฉาก” ขึ้นมาโดยเออร์โดกาน เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและกระชับอำนาจของตน ซึ่งในที่สุดก็จะปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองของตุรกีไปสู่การกำกับดูแลโดยประธานาธิบดีอย่างเบ็ดเสร็จ อันจะทำให้เออร์ดูกันมีสถานะเฉกเช่นสุลต่านในยุคร่วมสมัย
ประชาชนตุรกีถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเชื่อในสิ่งที่ประธานาธิบดีบอกพวกเขา ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเชื่อฝ่ายตรงข้ามและต่อต้านระบอบการปกครองของเออร์โดกาน
กล่าวสำหรับเออร์โดกานนั้น ประชาชนบางฝ่ายรักเขาอย่างสุดซึ้ง ในขณะเดียวกับที่เขาก็เป็นบุคคลที่น่าขยะแขยงสำหรับบางฝ่าย
เส้นแบ่งทางสังคมและการเมืองแบบดั้งเดิมในตุรกี ได้แก่ ศาสนากับฆราวาส แต่เมื่ออิทธิพลอาหรับสปริงได้แผ่ขยายเข้าสู่ประเทศนี้ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ตรวจสอบการรับสินบนในปี 2013 ก็ได้มาซึ่งรอยแตกแยกใหม่ในหมู่ประชาชนที่ได้แบ่งเป็นสองฝ่ายในการสนับสนุนและต่อต้านเออร์โดกาน
การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนี้เดินทางมาถึงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในเดือนพฤษภาคมปี 2013 เมื่อเออร์โดกานต้องการจะรื้อถอนสวนสาธารณะในจัตุรัสตักซิม (Taksim Square) ในเมืองอิสตันบูลและสร้างอาคารหลังใหม่ที่สะท้อนถึงความเป็นออตโตมันแห่งยุคสมัย และแม้ว่าจัตุรัสตักซิมจะเป็นสัญลักษณ์ของ เคมาลิสต์ (Kemalism) ฆราวาสปีกซ้าย แต่ผู้คนหลากศาสนาก็ได้เข้าร่วมประท้วงแนวคิดของเออร์โดกานเพื่อรักษาสวนสาธารณะแห่งนี้ โดยมีทั้งเคมาลิสต์ เคิร์ด อะลาวี และรวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวกุเลน ที่จับมือกันต่อต้านรัฐบาลของเออร์โดกาน จนนำมาสู่การปราบปรามและจับกุมผู้ประท้วงไปนับพันคน
อันที่จริงก่อนเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงนั้น เออร์โดกานถูกมองว่าเขาเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างน่าทึ่ง แต่หลังจากอาหรับสปริงเริ่มต้นขึ้นในปี 2011 เขาเริ่มที่จะกล่าวโทษยุโรป อเมริกา และอิสราเอลว่ามีส่วนแทรกแซงในโลกมุสลิม เขาหันไปยังฝูงชนที่ไม่มีความสุขตามท้องถนนในประเทศอาหรับและเริ่มที่จะทำตัวเป็นผู้นำ แกนของตุรกีเริ่มที่จะย้ายออกไปจากประเทศตะวันตกและต่อเผด็จการตะวันออกกลาง เขาเริ่มถูกมองว่ามีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นและสร้างจักวรรดิออตโตมันแห่งยุคสมัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำโลกมุสลิมของชาวเติร์กอีกครั้ง
ในเดือนธันวาคมปี 2013 กลุ่มของอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มสืบสวนการทุจริตขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและทางผ่านเงินของอิหร่านในการหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษและคว่ำบาตรของประชาคมระหว่างประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับ เรซา ซาร์เรบ (Reza Zarrab) นักธุรกิจเชื้อสายตุรกี-อิหร่าน ที่ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในสหรัฐอเมริกาในข้อหาสมคบคิดละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
เออร์โดกานอ้างว่านี่คือการสมรู้ร่วมคิดเพื่อทำลายเขาโดย “ประเทศมหาอำนาจต่างชาติ” ที่จับมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนานำโดยฟัตฮุลเลาะห์ กุเลน ซึ่งนำมาสู่ปฏิบัติการล่าแม่มดผู้ทรยศในหมู่ตำรวจและตุลาการตลอดช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา รวมทั้งการดำเนินคดีต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยและอยู่ตรงกันข้าม หนังสือพิมพ์และช่องทีวีถูกยึด นักข่าวประมาณ 3,000 คนต้องตกงาน
และสถานการณ์ล่าสุดหลังรัฐประหารล้มเหลว และรัฐบาลของนายเออร์โดกานสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้วนั้น จากนี้ไปกระบวนการล่าแม่มดของเขาต่อกลุ่มต่อต้านคงจะดำเนินไปอย่างเฉียบขาดและไร้ผู้โต้แย้ง อันจะเป็นไปตามที่เออร์โดกานได้ประกาศกร้าวว่า ต้องการกวาดล้างไวรัสที่เป็นตัวแพร่เชื้อความคิดก่อรัฐประหาร และผู้ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามนี้จะต้องได้รับบทลงโทษที่สาสมตามที่เขาพูดว่า “การลุกฮือต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ถือว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า”
ล่าสุดนายบินอาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีของตุรกี กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งปลดและโยกย้ายตำรวจทั่วประเทศรวมเกือบ 9,000 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ “กวาดล้าง” เครือข่ายที่อยู่เบื้องหลังความพยายามยึดอำนาจ นอกเหนือจากการจับกุมบุคคลต้องสงสัยอีกเกือบ 8,000 คน ในจำนวนนี้เป็นทหาร 6,038 นาย และเป็นทหารระดับนายพลไม่ต่ำกว่า 100 นาย ขณะที่กระทรวงการคลังสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ราว 1,500 คน ฐานต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 290 ศพ ในจำนวนนี้อย่างน้อย 145 ศพเป็นพลเรือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,400 คน
ความพยายามของกลุ่มทหารที่ทำการรัฐประหารล้มเหลวเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เสริมอำนาจและความนิยมของผู้นำตุรกีจากความเกลียดกลัวรัฐประหาร ของพลเมืองตุรกีเท่านั้น แต่ยังปูทางไปสู่การปราบปรามอำนาจทางการเมืองอื่นในตุรกี และรวบอำนาจเข้ามาสู่ประธานาธิบดีมากยิ่งขึ้นด้วย
ซึ่งจากนี้ต่อไปสถานการณ์ของประเทศตุรกีภายใต้การนำของตอยยิบ เออร์โดกานจะสงบราบเรียบลงหรือคลื่นลมยิ่งโหมแรงขึ้นนั้น…ยังคงต้องติดตามอย่างไม่กระพริบตา