นโยบายของสถาบันพระมหากษัตริย์ กับศาสนาต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติความเป็นมาของดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางค้าขายและการเผยแพร่ศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 – 6  ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหลายฉบับ เช่น คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชาดก, มูลศาสนา, ชินกาลมาลีปกรณ์, มหากาพย์รามายณะปุรณา รวมไปถึงบันทึกการเดินเรือของชาวยุโรป (The Periplus of the Erythrean Sea)  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูลงหลักปักฐานและมีอิทธิพลต่อสังคม การเมืองการปกครองในดินแดนแถบนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าพันปี และในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้เองก็ยังได้ปรากฎหลักฐานการเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานของศาสนิกชนอื่นๆ อีกหลายศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาซิกข์ ตามช่วงเวลาที่ต่างกันของหน้าประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งถือว่าชนต่างชาติต่างศาสนามีบทบาทอย่างสูงทั้งทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลสืบเนื่องยาวนานมาจวบจนปัจจุบัน

บทบาทของชาวต่างชาติ ในกรุงศรีอยุธยา – กรุงรัตนโกสินทร์

โปรตุเกสนับเป็นชาติตะวันตกชาติแรกๆ ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072)  โดยมีการทำสนธิสัญญาระหว่างกันเพื่อประโยชน์ในการค้าและการเผยแพร่ศาสนา กล่าวคือทางอยุธยาจะอำนวยความสะดวกและให้สิทธิพิเศษแก่พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่างๆ  ส่วนโปรตุเกสก็ต้องยอมให้ชาวเมืองที่กรุงศรีอยุธยาไปทำมาค้าขายที่เมืองมะละกาได้ (ขณะนั้นโปรตุเกสควบคุมช่องแคบมะละกาอยู่) อีกทั้งยังให้โปรตุเกสช่วยหาอาวุธปืนและกระสุนดินปืนที่อยุธยาต้องการให้ ด้านการศาสนาก็อนุญาตให้พ่อค้าชาวโปรตุเกสสามารถปฏิบัติกิจทางศาสนา (คริสต์ศาสนา) ได้อย่างเสรี

ในช่วงยุคสมัยพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2089) มีทหารอาสาชาวโปรตุเกสเข้ามารับราชการในกองทัพอยุธยาและได้ให้คำแนะนำทางการทหารรวมไปถึงการใช้ปืนแบบยุโรป ทำให้กรุงศรีอยุธยามีชัยชนะในศึกกับพม่า พระไชยราชาธิราชจึงทรงตอบแทนโดยการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอยุธยา พร้อมทั้งพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอกกำแพงเมืองใช้ชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์ในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ขึ้นเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรสยาม

นอกจากความสัมพันธ์กับโปรตุเกสแล้วยังมีฮอลันดา(ฮอลแลนด์) ที่เริ่มเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปีพ.ศ.2147 ทำให้ไทยกับฮอลันดามีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเกิดขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องมาถึงในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153) พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยโปรดให้มีการส่งทูตานุทูตอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ามอริสในราชวงศ์ ออเรนซ์แห่งฮอลันดาในปีพ.ศ.2151 นับเป็นคณะฑูตคณะแรกที่เดินทางไปยุโรป ตามมาด้วยอังกฤษซึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2151-2171) ได้มีการส่งพระราชสาส์นของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เพื่อขอพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาทำการค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก (ต่อมามีการทำสนธิสัญญากับอังกฤษอย่างเป็นทางการอีกครั้งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์คือ “สนธิสัญญาเบอร์นี่” ในรัชกาลที่ 3 และ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” รัชกาลที่ 4 ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการค้า ความมั่นคง และการเผยแพร่ศาสนา) ตามมาด้วยการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆในเวลาต่อมา

บันทึกของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet พ่อค้าชาวฮอลันดาที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่าวันวลิต) ได้จดบันทึกเรื่องราวในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไว้ว่า ชาวต่างชาติมีบทบาทมากในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่แต่เพียงชาวตะวันตกเท่านั้น ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของชาวมุสลิมเปอร์เซียนามว่าท่านเฉกอะหมัดที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพื่อทำการค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่ากายี จนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีในกรุงศรีอยุธยาและได้ช่วยราชการแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวา และมีตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ดูแลควบคุมชาวมุสลิมในราชอาณาจักรสยามอีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะหมัดเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้ที่นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์เข้ามาในอาณาจักรสยาม

ต่อมาในรัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าประสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกอยู่ในตำแหน่งจางวางมหาดไทยเป็นที่ปรึกษาราชการในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจวบจนสิ้นอายุขัย ซึ่งในเวลาต่อมาบรรดาลูกหลานของท่านเฉกอะหมัดล้วนมีบทบาทอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนย่างเข้าสู่ยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์และมีสายสกุลที่เป็นที่รู้จักจวบจนถึงปัจจุบันทั้งสายที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม (นิกายชีอะฮ์) โดยสายสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัดที่มีปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อะหมัดจุฬา อากาหยี่ จุฬารัตน์ ช่วงรัศมี บุนนาค บุรานนท์ ศรีเพ็ญ ภานุวงศ์ เป็นต้น

(อนึ่ง : ในยุคเดียวกันนี้เอง หัวเมืองทางภาคใต้ที่ปกครองโดยบรรดาสุลต่านและประชาชนตามเมืองต่างๆ ได้มีการนับถือศาสนาอิสลาม(นิกายซุนนี่) มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามมาจากพ่อค้าชาวอาหรับที่ได้นำเรือสินค้าเข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เป็นครั้งแรกที่เกาะสุมาตราเหนือและได้แพร่ขยายขึ้นมาจากทางตอนเหนือของมลายูเข้ามายังตอนใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน จากบันทึกการเดินทางของอิบนู บัตตูเตาะห์ (The travel of Ibn Battuta) และมาร์โคโปโล (Marco Polo) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 )

จากความเจริญทางการค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเอกกาทศรถทำให้กรุงศรีอยุธยามีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกันมากมายหลายชาติ อีกทั้งการใช้นโยบายการใช้กองกำลังต่างชาติและเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาสู่ระบบราชการเพื่อถ่วงดุลอำนาจของขุนนางในราชสำนักในเวลาต่อมาทำให้เกิดอำนาจใหม่ขึ้นคืออำนาจของกลุ่มขุนนางต่างชาติที่มีการบริหารที่เข้มแข็งโดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในระยะแรกขุนนางชาวเปอร์เซียเข้ามามีบทบาททางการเมืองการคลังอย่างมากและในเวลาต่อมาก็ปรากฏชื่อขุนนางชาวกรีกคือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และได้มีโอกาสเข้ารับราชการในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ปฏิบัติงานทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาต่างประเทศให้กับราชสำนักอยุธยาจนกระทั่งได้ตำแหน่งสมุหเสนาในเวลาต่อมา นับว่าเป็นขุนนางต่างชาติอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในราชอาณาจักรสยามอย่างมากในช่วงนั้น

ต่อมาเมื่อมีการผนวกรวมดินแดนตั้งแต่เหนือจรดใต้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง อาณาจักรสยามก็มีราษฎรที่นับถือศาสนาต่างๆ หลากหลายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนต่างชาติต่างศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากศาสนาพุทธ – คริสต์ – อิสลามแล้วในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางยังได้ปรากฏการเข้ามาของศาสนาซิกข์อีกด้วย (ซึ่งชาวซิกข์ถือเป็นชาวอินเดียที่มีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในดินแดนรัฐปัญจาบที่เดินทางเข้ามาค้าขายในไทยสมัยรัชกาลที่ 5) อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้าและนักการศาสนาในอดีตเหล่านี้ จะเห็นได้จากการตั้งบ้านเรือนสร้างชุมชนและศาสนสถานของชนชาติต่างๆ ไม่ว่า  จะเป็นโบสถ์ของชาวคริสต์ มัสยิดของชาวมุสลิม เทวสถานของพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มชมรมสมาคมของชาวซิกข์ ที่สามารถเห็นได้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยในปัจจุบัน
ที่น่าอัศจรรย์ไปกว่านั้นเรายังสามารถพบเห็นภาพของชุมชนคนต่างศาสนิกที่อยู่ร่วมกันและมีการสร้างศาสนสถานของศาสนาต่างๆของตนในบริเวณใกล้เคียงกันได้อีกด้วย

(ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หากเรานั่งเรือรอบเกาะเมืองอยุธยา เราจะได้เห็นภาพของชุมชนและศาสนสถานต่างๆ เช่น วัด โบสถ์ และมัสยิด ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่นเดียวกันกับในกรุงเทพมหานครบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เราจะได้เห็นชุมชนและศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ อิสลาม พุทธ หรือซิกข์ ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นชินของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เช่น ในบริเวณริมคลองบางกอกใหญ่จะเห็นได้ว่า มีศาสนสถานของศาสนาต่างๆตั้งอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสองฝั่ง เช่น มัสยิดต้นสน – มัสยิดบางหลวง(ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่), กุฎีเจริญพาศน์(ศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์), วัดกัลยาณมิตร , วัดหงษ์รัตนาราม , วัดอรุณราชวราราม , โบสถ์ซางตาครู้สหรือกุฏีจีน (ศาสนาคริสต์) ไม่ไกลกันนักยังมีเทวสถานของพราหมณ์-ฮินดูตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า และวัดซิกข์(คุรุดวารา)ตั้งอยู่ที่พาหุรัด  ภาพวิถีชีวิตของคนต่างศาสนิกที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลเหล่านี้เป็นภาพที่คุ้นชินต่อสายตาของคนในพื้นที่ เป็นภาพความสมานฉันท์ของชุมชนที่มีความเก่าแก่ยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี)

ความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สิ่งที่จะลืมเสียมิได้เลยคือ ความสมานฉันท์เหล่านี้ล้วนมีปัจจัยมาจากพระมหากษัตริย์ไทยที่มิได้ทรงมีนโยบายกีดกันความต่างทางเชื้อชาติและศาสนาแต่ประการใด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วก็ตาม นโยบายสำคัญที่ยั่งยืนมาแต่โบราณกาลในข้อนี้ยังได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังเช่นที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา 9 ความว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” กล่าวคือแม้พระมหากษัตริย์ไทยเป็นจะทรงผู้ที่นับถือพุทธศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดอีกด้วย

2559ดังเช่นพระราชกรณียกิจในการศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ เช่น

– ศาสนาอิสลาม

ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานมาเป็นภาษาไทย ซึ่งได้ถูกแปลโดยท่านอดีตจุฬาราชมนตรีต่วนเมื่อปี พ.ศ. 2505 หลังจากที่เอกอัครราชทูตซาอุดิอารเบียทูลเกล้าฯถวายพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริแปลเป็นภาษาไทย เพื่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมจะได้เรียนรู้ และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมทั้งสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องซึ่งถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทรงได้พระราชทานเงินอุดหนุนและซ่อมบำรุงมัสยิดหลายแห่งทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในงานเมาลิดกลางเป็นประจำทุกปี

– ศาสนาคริสต์

พระองค์ทรงสนับสนุนกิจการด้านคริสต์ศาสนาและได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีสำคัญๆของคริสต์ศาสนิกชนอยู่เสมอ  พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกันในปีพ.ศ.2503 เพื่อกระชับทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับคริสตจักร ณ กรุงวาติกัน  และในเวลาต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งวาติกันก็ได้เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม พ.ศ.2527 สร้างความปลื้มปิติให้กับคริสต์ศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

– ศาสนาซิกข์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาซิกซ์ ตามคำอัญเชิญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 และพระราชทานพระราชดำรัสความว่า “ ข้าพเจ้ายินดีและพอใจที่ผู้เป็นประธานของท่านกล่าวยืนยันว่า ชาวซิกข์ในประเทศไทยได้รับความสะดวกสบาย และได้รับความอุปถัมภ์ให้มีความผาสุกร่มเย็นพร้อมมูล ในการทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดจนการประกอบศาสนกิจ ตามความเชื่อถือ”

กล่าวโดยสรุปได้ว่าจากนโยบายที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสยามตั้งแต่ครั้งอดีต จนถึงความเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันนั้น นับเป็นนโยบายที่แสดงถึงความมีน้ำพระทัยกว้างขวาง  ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัยต่อบริบททางสังคมในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ  รวมทั้งเปิดโอกาสและให้สิทธิเสรีภาพแก่ราษฎรในการนับถือศาสนา ไม่รังเกียจกีดกันผู้ที่มีความศรัทธาและมีความเลื่อมใสในศาสนาที่แตกต่างกัน  พระราชกรณียกิจด้านการศาสนาต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างให้ราษฎรยึดถือปฏิบัติตามแบบอย่างพระราชจริยวัตรของพระองค์   ซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศไทยมีความสมานฉันท์และดำรงอยู่เป็นปึกแผ่นมาได้จวบจนปัจจุบันนี้  ถึงแม้จะมีความต่างทางด้านความเชื่อและนับถือศาสนา แต่ก็มิได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นปัญหาร้ายแรงระดับชาติจนถึงขั้นเกิดสงครามทางศาสนา

…นับว่าเป็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้