ลอนดอน – นับตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อ 20 กันยายน 2001 ว่า อเมริกาและพันธมิตรจะทำ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” กำลังทหารของอเมริกาก็ได้ขยายการรุกรานไปทั่วตะวันออกกลางและเอเชีย เปิดแนวรบใหม่ๆ ในอัฟกานิสถาน อิรัก และปากีสถาน
“สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของเราเริ่มต้นกับอัล-กออิดะฮ์ แต่มันจะไม่จบแค่นั้น” บุชบอกกับสภาคองเกรสและประชาชนชาวอเมริกัน “มันจะไม่จบจนก่ากลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มทั่วโลกจะถูกค้นพบ ถูกหยุดยั้ง และถูกกำจัดไป”
แต่ทว่าการก่อการร้ายกลับกลายเป็นภัยคุกคามที่เป็นปัจจุบันที่สุดของโลก เป็นความจริงที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องพยายามต่อสู้กับมันและเตรียมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับมัน และในขณะที่ลัทธิสุดโต่งได้ลุกลามไปอย่างกว้างขวาง ไม่มีประเทศใดที่ได้รับความเสียหายและเสียเลือดไปมากกว่าปากีสถานอีกแล้ว
อาชุก ปัตเนก นักหนังสือพิมพ์สายสืบสวนในอินเดีย และบรรณาธิการใหญ่ของ Eenadu India กล่าวว่า ถึงแม้ปากีสถานจะต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งมาก่อนหน้าปี 2001 “แต่การที่อเมริกาเข้าไปแทรกแซงในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และการต่อสู้ด้วยเครื่องบินโดรนของประธานาธิบดีบุชภายในเขตแดนปากีสถานได้นำไปสู่การระเบิดขึ้นของความรุนแรง”
อันที่จริงเมื่อเดือนธันวาคม วิกิลีกส์ได้ตีพิมพ์เอกสารของซีไอเอปี 2009 ที่รั่วไหลออกมา เกี่ยวกับโครงการลอบสังหาร “เป้าหมายที่มีค่าสูง” (High Value Target – HVT) ของสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การโจมตีด้วยเครื่องบินโดรนให้ผลที่ตรงกันข้าม และในความเป็นจริง มันได้เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มหัวรุนแรงในหลายกรณี ดังที่หนังสือพิมพ์ของวิกิลีกส์ได้ระบุว่า “หลังจากที่รายงานถูกจัดเตรียม การเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยเครื่องบินโดรนของสหรัฐฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติกาล”
ตามรายงานของสำนักการข่าวเชิงสืบสวน (Bureau of Investigatve Journalism) ได้ประมาณว่าประชาชน 2,428 ถึง 3,929 คน เสียชีวิตเนื่องมาจากการโจมตีด้วยเครื่องบินโดรนที่นำโดยสหรัฐฯ ในปากีสถาน นับตั้งแต่ปี 2004 ขณะที่อีกกว่า 1,000 คน ได้รับบาดเจ็บ
“ปากีสถานได้จ่ายให้กับสงครามของวอชิงตันด้วยเลือดของประชาชนของตน ปากีสถาน ติดเชื้อไวรัสของลัทธิสุดโต่งเข้าแล้วจริงๆ หน่วยก่อการร้ายได้ผลิตนักรบออกมาเป็นพันๆ และกลุ่มต่างๆ อย่างเช่น อัล-กออิดะฮ์ และตาลีบันได้รุกคืบเข้ามาในปากีสถานอย่างหนาแน่นและล้ำลึก จนความเป็นปึกแผ่นของรัฐขณะนี้กำลังอยู่ในความเสี่ยง” ปัตเนกกล่าว
ปัตเนกยังกล่าวต่อไปโดยชี้ถึงเหตุการณ์กราดยิงในเปชวาร์เมื่อเดือนธันวาคมว่าเป็น “ข้อพิสูจน์ว่าการก่อการร้ายได้หมุนออกนอกการควบคุมแล้ว เราจำเป็นต้องถามตัวเองแล้วว่า เรามาอยู่ที่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร? การก่อการร้ายนี้เป็นผลดีต่อวาระของใคร? และที่สำคัญที่สุด ใครให้ทุนสนับบสนุนการก่อการร้าย?”
การเรียกร้องให้ตอบคำถามเหล่านี้ทำให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันว่า สหรัฐฯ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างและสนับสนุนลัทธิสุดโต่งในปากีสถานในภายหลังหรือไม่ ในขณะที่ปากีสถานถูกรู้จักมานานแล้วว่าเป็นพื้นที่มั่นและศูนย์การวางแผนสำหรับปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายมุสลิมในเอเชียใต้ แต่สหรัฐฯ ก็ยังตกลงเป็นพันธมิตรกับกรุงอิสลามาบัดเพื่อดำเนินการ “ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ต่อไปในภูมิภาคนี้ โดยแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกับความร่วมมือ
ในปี 2009 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับปากีสถาน (Enhanced Parthership for Pakistan Act.) พระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้สหรัฐฯ เพิ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแก่ปากีสถานเป็นสามเท่า คือ 7.5 พันล้านดอลล่าร์เป็นเวลาห้าปี (2010-2014)
นอกเหนือจากเรื่องทางการเมือง ยังมีประเด็นการค้ากำไรจากสงคราม “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ของอเมริกาได้ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ ซึ่งเท่ากับเป็นพันธมิตรของลัทธิทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยม ในหนังสือของศาสตราจารย์มิเชล ชอสสุดอฟสกี้ เรื่อง “America’s War on Terrorism” เมื่อปี 2009 เขาได้สำรวจโลกของการค้ากำไรจากสงคราม โดยได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ กับลัทธิทุนนิยม
โทนี่ คาร์ทาลุชชี่ นักวิจัยภูมิศาสตร์การเมืองและนักเขียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้โต้แย้งมานานแล้วว่า การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โดยน้ำมือของตะวันตก เป็นเล่ห์กลที่ให้ประโยชน์กับวาระการเป็นเจ้าครองโลก
ในรายงานเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 ที่ตีพิมพ์ในศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ คาร์ตาลุชชี่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ เป็นผู้จัดการวางแผนและผู้ให้ทุนของลัทธิก่อการร้ายทั่วโลก เขาได้เขียนเกี่ยวกับการทำงานของพวกก่อการร้าย Laskar-e-Jhangvi(LeJ) ในปากีสถานไว้ว่า “มันถูกเรียกว่า ‘กลุ่มซุนนีหัวรุนแรง’ แต่มัน(LeJ) เหมาะกับรูปแบบของลัทธิก่อการร้ายทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดิอารเบีย กับกาตาร์ที่เป็นหุ้นส่วนของพวกเขา”
แต่ทว่าปากีสถานก็ไม่ได้อาศัยกองกำลังจากภายนอกเพียงอย่างเดียวในการอุปถัมภ์กลุ่มหัวรุนแรงภายในเขตแดนของตน ในเดือนกรกฎาคม 2009 ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานในขณะนั้น ยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ “ได้สร้างและเลี้ยงดู” กลุ่มก่อการรร้ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายต่างประเทศในระยะสั้นของตน รวมถึงการสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าในดินแดนแคชเมียร์ ดินแดนพิพาทที่ปกครองโดยอินเดีย ปากีสถาน และจีน
เหมือนอย่างที่มาร์ค เอ็น. แค้ทซ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐบาลและนโยบาย ได้หยิบยกมาพูดในการอธิบายต่อสภานโยบายตะวันออกกลางว่า “ปากีสถานไม่ได้ให้ที่พักพิงที่ปลอดภัยแก่ขบวนการมุสลิมสายสุดโต่งที่มุ่งเป้ายังอินเดียคู่อริของตนเท่านั้น แต่ยังให้แก่กลุ่มตาลีบันจากอัฟกานิสถานด้วย”
การก่อการร้ายของปากีสถาน : ผลิตในอเมริกา?
คาร์ทาลุชชียืนกรานว่า เหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ได้เคยให้ความช่วยเหลือในการให้ทุนและอุดหนุนทางการเงินแก่อัล-กออิดะฮ์ในช่วง 1980s เพื่อเป็นช่องทางในการตัดอิทธิพลของโซเวียตรัสเซียที่กำลังเติบโตในเอเชีย สหรัฐฯ สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีส่วนในการสร้างและประสานอิสลามสายสุดโต่งทั้งในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ไม่ใช่เพื่อทำลายความปรารถนาที่จะเป็นใหญ่ของอิหร่านเท่านั้น แต่ยังเหวี่ยงปากีสถานออกจากดุลยภาพทางการเมืองของมันอีกด้วย
ในรายงานเดือนเมษายนที่เขียนให้กับ New Eastern Outlook คาร์ทาลุชชี่อธิบายอย่างละเอียดว่าวอชิงตันได้ใช้อิสลามสายสุดโต่งมาเป็นอาวุธทางการเมืองต่อกรกับความปรารถนาจะเป็นใหญ่ของมัน เขาเขียนว่า “เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้วางนโยบายภูมิศาสตร์การเมองของสหรัฐฯ ได้ให้เวลาและความพยายามอย่างมากในการลดเสถียรภาพของปากีสถาน”
คาร์ทาลุชชี่เน้นย้ำในโพสต์บล้อก เดือนธันวาคมว่า
“เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสำหรับตะวันตก ในระหว่างทำสงครามตัวแทนกับโซเวียต และระหว่างพยายามกุเรื่องท่อน้ำมันทั่วอัฟกานิสถาน ตาลีบันเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่พันธมิตร เพื่อนำมาใช้และก่นด่าในทุกเมื่อและทุกวิธีที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าของวาระแห่งวอลล์สตรีทและวอชิงตัน วาระที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองย่อมจะไม่มีหลักการ สิ่งนี้สามารถมองเห็นได้ในบทที่ดำเนินอยู่ แม้แต่ขณะนี้ที่ตาลีบันทำหน้าที่เป็นกองกำลังตัวแทนเพื่อทรมานศัตรูทางการเมืองของตะวันตกที่อยู่ในปากีสถาน ด้วยความชอบธรรมตลอดกาลในการที่จะแทรกแซงทางทหารในอัฟกานิสถานประเทศเพื่อนบ้าน”
ถึงแม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะวางตัวเองตามธรรมเนียมว่าต่อต้านลัทธิก่อการร้ายอย่างแข็งกร้าว ไม่ว่าลัทธิก่อการร้ายนั้นจะเกิดมาจากมุสลิมสายสุดโต่งหรืออะไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อเมริกามีความสัมพันธ์กับพวกนักรบจริงๆ รวมทั้งอัล-กออิดะฮ์ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2009 นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้บอกกับคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณว่า ทำเนียบขาวได้ดำเนินบทบาทแข็งขันและเด็ดขาดในการสร้างอัล-กออิดะฮ์
“เรามีประวัติศาสตร์ในการเข้านอกออกในกับปากีสถาน… ขอให้เราจดจำไว้ว่า กลุ่มคนที่เรากำลังต่อสู้อยู่ในวันนี้ เราเคยให้ทุนเขาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และที่เราทำแบบนั้นก็เพราะเราเหลือวิธีนี้เท่านั้นที่จะต่อสู้กับสหภาพโซเวียตได้” เธอกล่าวเน้น
แถลงการณ์อย่างที่คลินตันกล่าว และหลักฐานอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้นักวิเคราะห์ต้องท้าทายถึงมูลฐานของ “การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย” และถามถึงความชอบธรรมของมัน
ขณะที่ยอมรับว่าวอชิงตันมีความเกี่ยวข้องกับอัล-กออิดะฮ์ในอัฟกานิสถาน คลินตันยังอธิบายเหตุผลของพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของการก่อการร้ายเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเครื่องมือทางการทหารกับศัตรูที่แน่ชัด
ตามตรรกะนั้น ผู้เชี่ยวชาญอย่างคาร์ทาลุชชี่ได้ตั้งทฤษฎีว่า ถ้าลัทธิก่อการร้ายถูกทำให้มีเหตุผลอันควรได้ในฐานะเป็นอาวุธในการทำสงคราม ในขอบเขตของผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์ทั่วโลกของอเมริกาในช่วงปี 1980s แล้วใครจะบอกได้บ้างว่าวอชิงตันเคยถอดปลั๊กยุทธศาสตร์เช่นนั้นออกหรือไม่? ถึงแม้ว่าสื่อตะวันตกจะไม่ค่อยพูดถึง แต่ทฤษฎีที่ว่าวอชิงตันได้วางอุบายกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายเพื่อประโยชน์ต่อวาระทางการเมืองของตนในประเทศต่างๆ เช่นอิรัก อัฟกานิสถาน หรือปากีสถาน แทบจะไม่ใช่เรื่องใหม่เลย
ในปี 2006 พลโทวิลเลียม โอดอม อดีตผู้อำนวยการหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “ด้วยมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง สหรัฐฯ ได้ใช้ลัทธิก่อการร้ายมานานแล้ว”
โอดอมกล่าวต่อไปว่า :
“ลัทธิก่อการร้ายไม่สามารถถูกกำจัดไปได้เพราะว่ามันไม่ใช่ศัตรู มันเป็นกลอุบาย สงครามต่อต้านอัล-กออิดะห์เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและน่าสนับสนุน แต่สงครามต่อต้านกลอุบายมันน่าหัวเราะและเจ็บปวด อุบายในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกลวงผู้อื่นให้เข้ามาสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายของตัวเอง… และส่งเสริมให้เกิดอคติกับมุสลิมทั่วทุกแห่ง จะเป็นอย่างไรถ้าเราพูดว่า “ผู้ร้ายไออาร์เอ คริสเตียนแคธอลิก”?
การเล่นเกมตัวแทนในปากีสถาน?
ถ้าสหรัฐฯ ไม่ได้ตำหนิแนวคิดที่ว่า มันเล่นเกมก่อการร้ายเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการทางภูมิศาสตร์การเมืองของตน มันก็ไม่ได้เล่นตามลำพัง คาร์ทาลุชชี่บอกกับสำนักข่าว เขายืนยันว่า เครือข่ายก่อการร้ายของอเมริกาแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างไกลในตะวันออกกลางและเอเชีย โดยปฏิบัติการผ่านเครือข่ายตัวแทนที่หนาแน่น
“คอยพิจารณาดูความเชื่อมโยงของการก่อการร้ายกับซาอุดี้ฯ ให้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะสหรัฐฯ มักจะซักฟอกการอุปถัมภ์การก่อการร้ายผ่านราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียอยู่เสมอ และความวุ่นวายในบาลูคิสถานได้รับการหนุนหลังอย่างเปิดเผยจากกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy – NED) ในบันทึกประวัติศาสตร์” คาร์ทาลุชชี่บอกกับสำนักข่าว
คลินตันได้ระบุไว้ในการต่อสายทางการทูตที่รั่วไหลของสหรัฐฯ เมื่อธันวาคม 2009 ว่า “แหล่งเงินทุนใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับกลุ่มนักรบมุสลิมหัวรุนแรงอย่างเช่น ตาลีบัน และลัชคาเร-ตัยบา ของอัฟกานิสถาน” ซาอุดิอารเบียจะดำเนินการแทนวอชิงตันและตามคำสั่งของวอชิงตัน คาร์ทาลุชชี่กล่าว
เขาได้โพสต์ในบล้อก เมื่อปี 2013 ว่า “ขณะที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับซาอุดิอารเบียและกาตาร์ มันได้สร้างหลักฐานว่า ผู้สนับสนุนการเงินใหญ่แก่กลุ่มนักรบหัวรุนแรง รวมถึงอัล-กออิดะห์ ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานั้น ที่จริงแล้วก็คือซาอุดิอารเบียและกาตาร์นั่นเอง”
การต่อสายที่รั่วไหลอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ใน the Guardian มีรายละเอียดเป็นพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มนักรบลัชคาเร-ตัยบา (Lashkar-e-Taiba-LeT) ของปากีสถาน ซึ่งปฏิบัติการโจมตีมุมไบ เมื่อปี 2008 ว่าได้ใช้ทุนจากบริษัทแนวร่วมในซาอุดี้ฯ ในการปฏิบัติงานของมันในปี 2005 กลุ่ม LeT และกลุ่มอื่นๆ ใช้ชื่อขององค์กรต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางในการรับทุนจากหน่วยงานการกุศลที่รัฐบาลคว่ำบาตรที่อยู่ซาอุดิอารเบียและประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกาตาร์ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
“ถึงแม้งานข่าวกรองจะเสียหายอย่างนั้น แต่ซาอุดิอารเบียก็ยังคงเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่จงรักภักดีต่อวอชิงตันที่สุดในภูมิภาคจนถึงวันนี้ จึงทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า มันอาจจะมีการก่อการร้ายที่มากกว่าตามองเห็น” ปัตเนก นักหนังสือพิมพ์กล่าว
“โดยไม่ต้องมีการชี้นิ้วชัดเจนไปยังสหรัฐฯ แล้วอ้างว่าอิสลามสายสุดโต่งถูกจัดสร้างมาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้อเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า คำถามต้องการคำตอบ การก่อการร้ายมีหลายมิติ และพยายามที่จะหาฝ่ายผิดเพื่อพาออกไปให้ไกลจากประเด็นที่ซับซ้อน”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างคาร์ทาลุชชี่และปัตเนกกล่าวหาอเมริกาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาลัทธิก่อการร้ายปากีสถาน โดยให้เหตุผลว่าเพนตากอนใช้พวกสุดโต่งเป็นอาวุธที่ไม่สมมาตรของสงคราม แต่คนอื่นๆ รู้สึกว่าข้อกล่าวหาเช่นนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด
ในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเมื่อเดือนตุลาคม เจ้าชายอาลี เซราจ แห่งอัฟกานิสถานได้ปฏิเสธความคิดที่ว่าอเมริกามีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยโต้แย้งว่า ต้องโทษรัฐบาลอิสลามาบัดแต่เพียงฝ่ายเดียวสำหรับการเพิ่มขึ้นของลัทธิสุดโต่งในแถบนี้
เมื่อกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ว่าวอชิงตันได้ช่วยสร้างการก่อการร้ายขึ้นในแถบนี้ เจ้าชายอาลีรุว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในอัฟกานิสถาน… ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น สหรัฐฯ จะรับรู้ด้วยความประหลาดใจ สหรัฐฯ ไล่ทันมาตั้งแต่ปี 2001 แล้ว”
การต่อสู้แบบไม่สมมาตร
(ภาพ) ชาวบ้านรวมตัวกันที่จุดเกิดเหตุระเบิดพลีชีพในรวันพินดี ปากีสถาน เมื่อศุกร์ที่ 9 มกราคม 2015 ตำรวจปากีสถานกล่าวว่า มือระเบิดกดชวนระเบิดตัวเองด้านนอกมัสยิดในเมืองรวันพินดี ใกล้เมืองหลวงอิสลามาบัด ทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายคนขณะที่ทฤษฎีเกี่ยวกับรากเหง้าและสาเหตุของลัทธิก่อการร้ายยังคงเป็นประเด็นเปิดให้ถกเถียงกันนั้น บทบาทของนักการเมืองในท้องเรื่องของลัทธิก่อการร้ายก็ยิ่งตรงไปตรงมามากขึ้น ประชาชนปากีสถานต้องทนทุกข์ด้วยน้ำมือของพวกสุดโต่ง แต่ประเทศยังได้ช่วยสนับสนุนกลุ่มนักรบเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของตน วอชิงตันไม่ได้มีเอกสิทธิ์แต่ผู้เดียวในการชักใย
“บางคนอาจโต้แย้งว่า ปากีสถานสร้างแนวคิดเกี่ยวการก่อการร้ายขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางภูมิยุทธศาสตร์ทางการเมือง การชี้ไปยังสหรัฐฯ อาจทำให้พลาดอีกครึ่งหนึ่งของภาพไป อิสลามาบัดก็ต้องถูกตำหนิมากเท่ากันในเรื่องนี้ เราได้มาถึงจุดที่เราเลี้ยงกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งด้วยมือข้างหนึ่ง ในขณะที่ฆ่าพวกเข้าด้วยมืออีกข้างหนึ่ง” ปัตเนกกล่าว
ในเดือนสิงหาคม 2012 โครงการวิจัยหัวข้อ “การทำแผนที่องค์กรสู้รบ” ขอมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ซึ่งแกะรอยวิวัฒนาการขององค์กรสู้รบต่างๆ และปฏิกิริยาระหว่างกันที่เกิดขึ้น ได้เชื่อมโยงแนวคิดต่อต้านชีอะฮ์ของ LeJ เข้ากับวาระทางการเมืองของปากีสถาน โดยชี้ไปที่การใช้ประโยชน์จากลัทธิก่อการร้ายเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกทางการเมืองในอิหร่านของปากีสถาน ซึ่งเป็นคู่ปรับสำคัญในภูมิภาค
โครงการนี้ได้เขียนไว้ว่า “LeJ มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับรัฐปากีสถาน เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1980s องค์กร SSP ต้นกำเนิดของ LeJ และต่อมาในภายหลังเป็น LeJ เองที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลกลางของปากีสถาน”
จากนั้นผู้เขียนจึงกล่าวถึงแนวคิดที่ว่า การก่อการร้ายเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบไม่สมมาตร ซึ่งอิสลามาบัดดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศแฝงของตน
“การสนับสนุนทุนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านอิทธิพลของแนวคิดปฏิบัติแบบชีอะฮ์ของอิหร่านที่กำลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อใช้กลุ่มเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ไม่สมมาตรของยุทธศาสตร์ของตนที่ใช้กับอินเดีย LeJ และกลุ่มซุนนีหัวรุนแรงอื่นๆ ส่วนใหญ่ในปากีสถานยอมรับการสนับสนุนทางการเงินด้วยความยินดี แต่ให้ความร่วมมือก็ต่อเมื่อเป้าหมายของรัฐบาลสอดคล้องกับเป้าหมายของพวกตนเท่านั้น”
ธรรมเนียมการต่อสู้แบบไม่สมมาตรของปากีสถานสืบกลับไปได้ถึงปี 1947 เมื่อครั้งที่อิสลามาบัดพยายามจะทำลายความมั่นคงของอินเดียโดยผ่านตัวแทน ขณะที่ยังคงรักษาบรรยากาศในการปฏิเสธได้อย่างนุ่มนวล
การใช้ประโยชน์จากมุญาฮิดีน รวมทั้งกองทหารที่แต่งเป็นมุญาอิดีน เป็นรากฐานในความพยายามปฏิเสธและหลอกลวงของปากีสถานเพื่อให้ประชาชนในประเทศและต่างประเทศเข้าใจว่าปฏิบัติการแบบไม่สมมาตรเหล่านี้เป็นการดำเนินการของกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ
ย้อนกลับมาอีกไม่กี่สิบปี ปรากฏว่าการต่อสู้แบบไม่สมมาตรต้องใช้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นมาหลายชั้น นอกเหนือจากลักษณะอันแปลกประหลาดในตัวของยุทธศาสตร์เช่นนั้น
เมื่อกล่าวถึงความเป็นจริงทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ คาร์ทาลุชชี่ได้เขียนไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2013 ว่า “ขณะที่ซาอุดิอารเบียสนับสนุนเงินทุนแก่ลัทธิก่อการร้ายในปากีสถาน สหรัฐฯ มีเอกสารบันทึอย่างดีว่าให้การสนับสนุนทุนในการล้มล้างทางการเมืองในพื้นที่ที่ถูกโจมตีอย่างหนักที่สุด”
คาร์ทาลุชชีให้เหตุผลว่า ขณะที่ปากีสถานดำเนินตามวาระการก่อการร้ายของตนกับอินเดียและอิหร่าน สหรัฐฯ ก็เล่นเกมแบบไม่สมมาตรเช่นกัน โดยใช้เงินช่วยเหลือและเงินบริจาคที่รัฐสนับสนุน – เช่นการสนับสนุนเงินทุนที่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสในปี 2009- เพื่อส่งเงินให้แก่องค์กรก่อการร้าย
เขาเน้นว่า “เหมือนเช่นที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้สนับสนุนเงินทุนแก่พวกโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ทั่วโลก – เช่น ประชาไทยของประเทศไทย – การสนับสนุนเงินทุนถูกทำให้สับสนสำหรับคนทั่วไปเพื่อรักษา “ความน่าเชื่อถือ” แม้กระทั่งเมื่อกระแสการโฆษณาชวนเชื่อของแนวร่วมนั้นเห็นได้ชัดกว่าที่พวกเขาแสดงออกมา”
ประเด็นเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้ายในปากีสถานมีหลายแง่มุมและหลายผู้เช่น ทั้งในประเทศและนานาชาติ แต่ยังคงมีคำถามสำคัญข้อหนึ่งที่ต้องการคำตอบ : ถ้าอุตสาหกรรมสงครามของนักทุนนิยมดำรงอยู่เพื่อสร้างเงินหลายพันล้านจากการต่อสู้และความรุนแรงที่ไม่รู้จบ แล้วบรรดาผู้หมุนวงล้อจะหยุดมันทำไม? เพราะฉะนั้น แทนที่จะสำรวจวิธีการลดการก่อการร้าย มันน่าจะได้ผลมากกว่าถ้าจะสำรวจวิธีการลดการค้ากำไรจากสงคราม
By Catherine Shakdam
source http://www.mintpressnews.com
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ