เปิดหน้าเล่นกับกระแส “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ผลจากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของชาติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบต่อรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยหวังให้ประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้า แม้ว่าจะไม่มั่นใจมากนักว่า การรับหรือไม่รับจะให้ผลแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

ที่แตกต่างคือสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง  ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีผลใดๆในทางปฏิบัติ เพราะไม่ว่าจะรับหรือไม่รับก็เป็นแค่เพียงรัฐธรรมนูญฉบับร่างที่ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้

จากความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า การแสดงออกถึงความแตกต่างทางความคิดเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและอาจจะรวมถึงทุกๆ ระบบในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ความคิดแตกต่างที่แสดงออกชัดเจนนี้เป็นผลดีต่อการกำหนดนโยบายรัฐบาลต่อไปในอนาคต ควรมองให้เห็นประโยชน์ของความแตกต่างมากกว่าจะคอยจับผิดความรู้สึกที่หลบซ่อนอยู่ลึกๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแบ่งแยกดินแดน การแบ่งรัฐแยกประเทศ ซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงจากผลที่เกิดขึ้นจากผลการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ดูเหมือนกำลังถูกแยกออกจากประชาชนในพื้นที่ จะเห็นได้จากการแสดงออกของประชาชนที่ชินชาและเฉยชากับเหตุร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นอาจทำให้รู้สึกถึงความปลอดภัยมากกว่าของประชาชาชนในพื้นที่ที่ถูกแยกออกไป แต่ในทางกลับกันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวต่อปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ประชาชนถูกแยกออกจากปัญหาของตัวเองและแยกออกจากการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตัวเอย่างได้อย่างแท้จริง

นโยบายที่ต้องการดึงคนจากพื้นที่ให้เข้ามาจัดการหรือมามีบทบาทต่อปัญหาตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แค่ในทางกลับกันมันกำลังกลายเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ที่อยู่ร่วมกัน เพราะได้ทิ้งกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงหรือขาดโอกาสที่จะเข้าถึงกับปัญหาของตัวเอง  ส่วนกลางอาจได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายที่ตั้งไว้แต่ประชาชนอาจต้องกลายเป็นเหยื่อของนโยบายดังกล่าว ด้วยกับภาพของเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น จนในพื้นที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความหวาดกลัว หวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันระหว่างประชาชนในพื้นที่

ประชาชนที่ไม่สามารถแสดงออกหรือเสนอแนะใดๆ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่กลับจำต้องเมินหน้าหันหนีกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ด้วยความเข้าใจว่าความรุนแรงดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของตนเองแต่เป็นเรื่องของคนอื่นที่เข้ามาสร้างความวุ่นวาย การนิ่งเฉยจึงเป็นทางออกที่ประชาชนแสดงออกมาให้เห็นอย่างมีนัยยะตลอดมา  หรือนั่นคือวิธีการแยกปลาออกจากน้ำ ด้วยการกวนน้ำให้ขุ่นจนปลาเล็กปลาใหญ่หายใจไม่ออกหรือไม่ก็น๊อคน้ำตายไปตามกัน

ผลของประชามติที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้แสดงออกนั้น บ่งถึงนัยยะสำคัญที่มีต่อเรื่องศาสนาและวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการปกป้องศาสนาพุธนิกายเถรวาทเป็นการเฉพาะหรือหมายถึงการแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องศาสนาประจำชาติที่มีกระแสเกิดขึ้นในสังคมที่ผ่านมา และการเปลี่ยนกรอบการอุดหนุนการศึกษาซึ่งในพื้นที่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนลักษณะคล้ายกันนี้อยู่มากมาย

การแสดงออกพร้อมเหตุผลบางอย่างที่ถูกเสนอออกมาเหล่านี้  เป็นการโหนกระแสเพื่อให้รัฐหรือส่วนกลางกลับมาทบทวนตัวเองและนโยบายต่อไปในอนาคต และเหมือนต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่มากกว่าที่จะทำตัวออกห่างจากรัฐหรือส่วนกลาง

ประเด็นศาสนาประจำชาติเป็นความหวาดระแวงที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม ซึ่งหากมีการกำหนดนโยบายใดๆลงไปจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ผู้ไม่หวังดีอาจใช้เงื่อนไขนี้ฉีดน้ำมันลงในกองไฟที่กำลังมอด ซึ่งจะยิ่งโหมเพลิงไฟในพื้นที่ให้ลุกโชนขึ้นอีก การแสดงออกไม่รับร่างโดยมีประเด็นศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องดังกล่าว เป็นการแสดงออกตามอัตลักษณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ไม่ต้องการให้พื้นเสี่ยงที่กลายเป็นที่บ่มเพาะปัญหาความมั่นคงในอนาคต

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวสัมพันธ์กับศาสนาวัฒนธรรม คือ การศึกษาของคนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีทางศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่  ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละยุคต่างเปิดกว้างในเรื่องการศึกษาของคนในพื้นที่ที่จะเลือกจัดการการศึกษาของตนเอง โดยรัฐให้การอุดหนุนและสนับสนุนกิจการด้านการศึกษาแก่คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา และยังมีรูปแบบการศึกษาอื่นๆที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับศาสนาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นเรื่องของการแสดงออกถึงความ เป็นตัวของตัวเอง แสดงออกให้เห็นถึงการเลือกวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับศาสนาวัฒนธรรมในพื้นที่ของตัวเอง เป็นการแสดงออกตามหลักคิดของประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ แม้ว่าสังคมบางส่วนจะคิดดูถูกเย้ยหยันต่อถีวิคิดลักษณะนี้ของพวกเขาก็ตามที

การไม่รับหรือการรับร่างฯ  เป็นการเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลได้เห็นและทราบถึงแนวทางของปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ต่างๆต่อไป สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น บอบช้ำกับปัญหาต่างๆมายาวนาน การแสดงออกถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือการสื่อสารจากคนในพื้นที่ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการวางกรอบนโยบายในอนาคตของรัฐบาล และคือการแสดงออกถึงการไม่ต้องการเข้าไปคลุกเคล้ากับปัญหาที่อาจจะเกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่ในอนาคต ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะตีความหมายของความคิดที่แสดงออกมานั้นไปในทางใด!!