ภายหลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมของ นางสาวรสนา สมจารี แล้ว โดยไม่รอช้าผู้เขียนได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2530 เพื่อนำปัญหาของ นางสาวรสนาฯให้รัฐมนตรีทราบและหาทางแก้ไขต่อไป นอกจากได้พูดคุยด้วยวาจาแล้ว ผู้เขียนได้ทำหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีฯ เป็นลายลักษณ์อักษรดังนี้
ที่ สส.นธ. 36/2530 สภาผู้แทนผู้แทนราษฎร
7 กันยายน 2530
เรื่อง. ขอความเป็นธรรม
เรียน ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. หนังสือส่งตัวผู้ผ่านการคัดเลือกมาบรรจุเข้ารับราชการ
2. หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมของ น.ส.รสนา สมจารี
3. ภาพถ่ายคำให้สัมภาษณ์ของ นายประกิต อุตตโมต ในหนังสือ มติชนรายวันฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. 2529
4. ภาพถ่ายกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ไว้ ณ 1 เมษายน 2479
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งตัว นางสาวรสนา สมจารี ให้ไปรายงานตัว เพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งเภสัชกร 3 ที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ปรากฎตามภาพถ่ายหนังสือที่ส่งมาด้วยนี้ รายละเอียดความแจ้งแล้วนั้น
นางสาวรสนา สมจารี ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมมายังกระผมว่า เมื่อตนเองได้เข้ารายงานตัวตามระเบียบและเข้าทำงานเรียบร้อยแล้ว ได้รับการทักท้วงจากผู้บริหารโรงพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายคลุมฮิญาบ(คลุมผม)ของตนว่า เป็นการแต่งกายผิดกฎระเบียบการแต่งกายของข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุข และกล่าวหาว่าจะเป็นตัวการทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ข้าราชการ เพื่อนร่วมงานไม่ยอมรับ นอกจากนี้ผู้ร่วมงานบางคนแสดงการดูถูก เหยียดหยาม กระแนะกระแหน ถากถางอย่างหยาบคายฯลฯดังรายละเอียดในหนังสือร้องเรียนที่ส่งมาด้วยแล้ว
กระผมพิจารณาหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมแล้ว ได้สอบถามผู้อยู่ในวงการโรงพยาบาลสุไหงโกลกที่น่าเชื่อถือได้ ปรากฎว่าเป็นความจริงดังที่นางสาวรสนาฯร้องเรียนมา กระผมมีความเห็นว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มิได้รับการแก้ไขคลี่คลายในทางที่ดีแล้ว ความร้าวฉานและความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในชาติที่มีศาสนาแตกต่างกันย่อมบังเกิดขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า กระผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่พึงประสงค์ให้มีเหตุการณ์ที่จะบั่นทอนความสมานสามัคคีของคนในชาติเกิดขึ้นในประเทศอันเป็นที่รักของกระผมได้ กระผมจึงขอร้องเรียนมายัง ฯพณฯในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทราบปัญหาและจะได้กำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิด ตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนาของราษฎร ในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย
กระผมใคร่ขอกราบเรียน ฯพณฯ ทราบว่า เกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการสตรีมุสลิมนั้น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยแถลงผ่านสื่อมวลชนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้จังหวัดที่มีชาวมุสลิมเป็นข้าราชการ ผ่อนปรนให้ข้าราชการไม่ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการไปทำงาน เพื่อข้าราชการไทยมุสลิมจะได้แต่งกายตามวัฒนธรรมประเพณี แต่หากใครจะแต่งเครื่องแบบข้าราชการแล้วยังใช้ผ้าคลุมผมทางจังหวัดจะต้องขอร้อง เพราะผิดระเบียบเครื่องแต่งกายซึ่งถือว่าเป็นกฎหมาย ดังปรากฎตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายประกิต อุตตะโมต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2529 ที่ส่งมาด้วยนี้
กระผมขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ ว่า ความเชื่อถือศรัทธาในศาสนาของชาวมุสลิมนั้น จะต้องแสดงออกด้วยเจตนารมณ์และการปฏิบัติการแต่งกายปกปิดอวัยวะอันพึงสงวนนั้นเป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่ชาวมุสลิมจะต้องถือปฏิบัติ การที่ผู้บังคับบัญชาข้าราชการบางคนอ้างว่า ทำไมข้าราชการไทยมุสลิมส่วนใหญ่ไม่แต่งกายคลุมผมตามหลักศาสนานั้น ไม่ใช่เป็นข้ออ้างที่จะไปหักล้างหลักการศาสนาอิสลามได้ เป็นที่ยอมรับว่าคนเคร่งครัดในหลักการศาสนานั้นย่อมมีศิลธรรมและจริยธรรมเหนือกว่าคนไม่เคร่งครัดในหลักการศาสนา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปกครองในระยอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา การแต่งกายปกปิดอวัยวะอันพึงสงวนของสตรีมุสลิมที่เรียกว่าคลุมฮิญาย(คลุมผม)นั้น เป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมที่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องตามกฎสำนักนายกรัฐมนตรีออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 3) ที่กำหนดว่า “ เครื่อแบบข้าราชการสตรีนั้นให้แต่งกายตามประเพณีนิยมว่าสุภาพ “ ดังปรากฎตามภาพถ่ายกฎสำนักนายกรัฐมนตรีที่ส่งมาด้วยนี้ กฎสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศใช้เป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นกฎที่วางแนวทางให้โอกาศแก่ข้าราชการในชาติมีสิทธิเสรีภาพในการแต่งกายตามประเพณีนิยมหรือหลักศาสนานั่นเอง
เรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนาของคนในชาตินั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำต้องใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ อย่าให้เกิดผลกระทบกระเทือนจิตใจของคนในชาติ แม้ว่าคนในชาตินั้นจะเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่า ประเทศไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติหลายศาสนา การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชาติจะต้องให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกัน ต้องยอมรับว่าขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ของคนทุกกลุ่มในประเทศไทยเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของชาติไทย มิใช่ถือว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ของคนส่วนใหญ่ในประเทศเท่านั้นเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ฉะนั้น เมื่อกระผมได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจาก นางสาวรสนา สมจารี ที่ถูกผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานแสดงความรังเกียจ เนื่องจากการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว กระผมรู้สึกไม่สบายใจ เกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียว และจะกลายเป็นอาหารอันโอชะในการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีรัฐบาลของบุคคลไม่หวังดีก็เป็นได้
ฉะนั้น กระผมจึงขอความกรุณา ฯพณฯ ได้โปรดมีบัญชาไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลสุไหงโกลกให้ปฏิบัติตามข้อยกเว้นและผ่อนปรนตามที่ผู้อำนวยการศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้วางนโยบายอย่างชัดแจ้งไว้แล้ว
ขอเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
ลายมือชื่อ
(นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ )
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์
ได้รับต้นฉบับไปแล้ว
ลายมือชื่อ
17 ก.ย. 30
อันแท้จริงแล้ว การกระทบกระทั่งทางจิตใจระหว่างประชาชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพท้องที่ที่มีความแต่งต่างทางขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของรัฐบาลไทยมีมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว จนทำให้อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส นายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตวนกูอับดุลยาลา นาเซร์)ได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อยอกน้อยใจจนไม่อยากเป็นคนไทยอีกแล้ว การอภิปรายแบบถอดหัวใจพูดเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้มีอำนาจในประเทศไทยขณะนั้น จึงกลายเป็นบุคคลที่ทางราชการเคลือบแคลงสงสัย คอยติดตามสอดส่องดูแลการเคลื่อนไหวของ นายอดุลย์ฯทุกย่างก้าว จึงเป็นเหตุให้ นายอดุลย์ฯต้องหลบภัยไปอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านและรวบรวมกำลังคนต่อสู้ด้วยอาวุธกับฝ่ายรัฐไทยจนถึงสิ้นอายุขัย
นโยบายและระเบียบข้อปฏิบัติของทางราชการแต่ละเรื่องที่ออกมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนแต่ทำให้ประชาชนปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่เสมอ เช่น นโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมและวินัยแห่งชาติของจังหวัดนราธิวาส ที่มีหนังสือไปยังมัสยิดทุกมัสยิดตลอดจนบาลาเซาะต้องเปิดเครื่องรับวิทยุจากสถานีวิทยุ 912 กรป.กลาง จังหวัดนราธิวาส เพื่อถ่ายทอดเพลงชาติผ่านเครื่องขยายเสียงในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. โดยขอให้เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2530 เป็นต้นไป ดังปรากฎตามหนังสือออกจากที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ดังนี้
ที่ นธ.0916/1905 ที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก ถนนทรายทอง 2
นธ. 96120
11 มีนาคม 2530
เรื่อง การส่งเสริมวัฒนธรรมและวินัยแห่งชาติ
เรียน อิหม่ามทุกมัสยิด และทุกบาลาเซาะ
ด้วยจังหวัดได้ส่งแผนส่งเสริมวัฒนธรรมและวินัยแห่งชาติ มาเพื่อมุ่งปลูกฝังและส่งเสริมความมีวินัยและเคารพกฎหมายในเรื่องความสะอาดตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามกฎจราจรและการเคารพธงชาติ ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนทั่วไป
ฉะนั้น เพื่อที่จะให้การเคารพธงชาติได้เป็นอย่างมีระเบียบ และพร้อมเพรียงกัน อำเภอจึงขอความร่วมมือจากมัสยิดหรือบาลาเซาะของท่านได้เปิดเครื่องรับวิทยุจากสถานีวิทยุ 912 กรป.กลาง จังหวัดนราธิวาส เพื่อถ่ายทอดเพลงชาติผ่านเครื่องขยายเสียงในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. โดยขอให้เริ่มตั้งแต่ วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2530 เป็นต้นไป และขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับมัสยิดและบาลาเซาะของท่าน ได้หยุดยืนตรงเคารพธงชาติในเวลาดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันด้วย
หวังว่าคงได้รับความร่วมมือจากท่านด้วยดี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
ลายมือชื่อ
( นายเจษฎา อุรพีพัฒนพงศ์ )
นายอำเภอสุไหงโกลก
ที่ทำการปกครองอำเภอ
โทร สุไหงโกลก 611031
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์