ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (35)

สภาผู้แทนราษฎร
10 มิถุนายน 2530

เรื่อง ขอความเป็นธรรมเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมราษฎร แล้วต่อมาถูกฆ่าตาย
เรียน รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม (พล.ต.ท.องอาจ ผุดผาด)

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ภาพถ่ายเอกสารหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2529
2. ภาพถ่ายเอกสารหนังสือกรมตำรวจ ด่วนมาก ที่ มท.0601.14/9501 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2529
3. ภาพถ่ายเอกสารหนังสือร้องเรียนถึงผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม (พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์) ลงวันที่ 9 เมษายน 2530

เรื่องนี้ กระผมทั้งสองคนจำเป็นต้องกราบเรียนชี้แจงค่อนข้างยาว จึงต้องกราบเรียนเป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อ 1. กระผมได้รับหนังสือ ร้องเรียนจาก นายสะแม แวหะมะ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2529 ว่า นายอาแว หรือเปาซี แวหะมะ บุตรชาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.โคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จับกุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2529 แล้วหายสาปสูญไป ต่อมาได้ทราบจาก จ.ส.ต.จิรวัฒน์ บำรุงรัตน์ ประจำสถานีตำรวจภูธรตำบลโคกเคียน ว่า บุตรชายถูกตำรวจที่จับกุมฆ่าตายในคืนวันเดียวกัน

ข้อ 2. กระผมทั้งสองได้ร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 (ตามเอกสารหมายเลข 1) กระผมขอตำรวจ 2 นาย คือ พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ และ ร.ต.อ. สินธ์ุ วะระทุม ไปทำการสืบสวนคดีนี้

ข้อ 3. กรมตำรวจได้ตอบสนองความประสงค์ของคณะกรรมาธิการการปกครอง ตามหนังสือของกรมตำรวจที่ส่งมาด้วย(เอกสารหมายเลข 2)

ข้อ 4. เมื่อ พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ รองผู้กำกับการสนับสนุนกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง และ ร.ต.อ. สินธุ์ วะระทุม รองสารวัตรแผนก 1 กองกำกับการ 5 กองปราบปราม ได้เดินทางไปทำการสืบสวนที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส โดยสอบสวนประจักษ์พยานและพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์หลายปาก เสร็จแล้วนำสำนวนการสืบสวนเสนอ ตร. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 ปรากฎว่าสำนวนการสืบสวนดังกล่าวถูกเก็บเงียบ ไม่ทราบว่าบุคคลใดหรือกองใดเก็บและดองสำนวนดังกล่าวไว้ แต่ทราบว่าคดีนี้มีการวิ่งเต้นอย่างมโหฬาร เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา (ร.ต.ต.สำราญ มาเจริญ กับพวก) มีการถ่ายเอกสารสำนวนการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบฯ ส่งไปยังตำรวจท้องที่เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและสอบสวนขึ้นใหม่ชุด หนึ่งซ้อนขึ้นมาอีก เพื่อจะได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา

ข้อ 5. คณะนายตำรวจท้องที่ที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยคดีนี้ได้พยายามตามหาบิดาผู้ตาย ที่จังหวัดปัตตานีทั้งกลางวันกลางคืนหลายครั้ง (บิดาผู้ตายกำลังหลบซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัย เพราะก่อนหน้านี้ผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวกับคดีนี้ถูฆ่าตายไป 1 คนแล้ว แม้แต่ จ.ส.ต.จิรวัฒน์ บำรุงรัตน์ ถูกคุกคามจนต้องย้ายออกจากพื้นที่) เมื่อพบแล้วก็พยายามหว่านล้อมต่างๆ นานา จนบิดาผู้ตายเชื่อว่านายตำรวจเหล่านี้จะช่วยบุตรชายจริง จึงยอมไปพบเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2530 และให้บิดาผู้ตายเซ็นชื่อร้องทุกข์ ตำรวจท้องที่จึงทำการสอบสวนบิดาผู้ตายในวันนั้นทันทีและติดตามพยานปากอื่นๆ ที่ปรากฎในสำนวนการสืบสวนของตำรวจกองปราบฯ จนได้ตัวพยานไปสอบหลายคน แต่เนื่องจากเร่งคดีจะให้แล้วเสร็จด่วน เพื่อจะสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง จึงติดตามตัวพยานปากสำคัญได้ไม่หมด

ข้อ 6. คณะนายตำรวจท้องที่ไปสอบกระผม (นายเด่น โต๊ะมีนา)เรื่องสร้อยคอผู้ตายที่พยานนำไปมอบให้กระผมๆ ได้มอบให้ตำรวจกองปราบฯ แล้ว กระผมจึงทราบว่าคดีนี้ได้มีการวิ่งเต้นเพื่อช่วยผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 กระผมทั้งสองได้ไปพบท่านผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม (พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์) ขอให้สั่งการให้ตำรวจกองปราบฯร่วมสอบสวนคดีนี้ด้วย (ตามเอกสารหมายเลข 3)

ตร. ได้กรุณาสั่งการไปตามกระผมร้องขอเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 แต่ปรากฎว่าไม่ทันการ ตำรวจท้องที่รู้ว่ากระผมร้องเรียน จึงรีบสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้องส่งอัยการเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530 ทั้งๆ ที่ยังตามหาพยานปากสำคัญได้ไม่หมด
สำนวนที่ตำรวจท้องที่สรุปสั่งไม่ฟ้อง พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ขณะนี้กำลังตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น

ข้อ 7. เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก หากปล่อยให้เงียบหายไป กรมตำรวจจะได้รับความเสียหาย เพราะคนทั่วไปในพื้นที่รู้กันอย่างแพร่หลายแล้วว่า คดีนี้มวยล้มต้มคนดู

คดีนี้แม้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วก็ตาม แต่สามารถทำการสืบสวนและสอบสวนใหม่ได้ตามประมวลกฎหมาย วิ.อาญา มาตรา 147 เพราะพนักงานสอบสวนท้องที่ยังมิได้ทำการสอบสวนพยานปากสำคัญในคดี เช่น นายอับดุลฟาตะห์ เจ๊ะเลาะ พยานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมี นายอาแวหรือเปาซี (ผู้ตาย)นั่งตรงกลาง และมี ส.ต.อ.ดลรอหมาน หว่าหลำ นั่งซ้อนท้ายเพื่อควบคุมตัวผู้ตาย

และจากการให้การของผู้ถูกกล่าวหา (ร.ต.ต.สำราญ มาเจริญ)ให้การว่าผู้ตายเป็นคนร้ายสำคัญร่วมกันลักทรัพย์หรือ ปล้นทรัพย์ รถจักรยานยนต์ และผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ผู้ตายได้ร่วมกระทำผิดทุกๆ วันพุธของสัปดาห์ ผู้ถูกกล่าวหาจะเรียกตำรวจของ สภ.ต. โคกเคียน และแจ้งว่าคนร้ายที่ร่วมลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์มีผู้ตายร่วมอยู่ด้วย แต่จากหลักฐานไม่ปรากฎว่า มีชื่อผู้ตายเป็นผู้ร้ายแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า เมื่อตำรวจทราบชื่อคนร้ายและพบตัวคนร้าย (ผู้ตาย) ก็ต้องควบคุมตัวนำไปดำเนินคดีอย่างแน่นอน

การ นั่งซ้อน 3 คน ซึ่งมี ส.ต.อ. ดลรอหมาน หว่าหลำ นั่งซ้อนท้ายก็เช่นเดียวกันเป็นการป้องกันผู้ตายมิให้หลบหนี เพราะทราบดีแล้วว่าผู้ตาย เป็นคนร้ายร่วมลักทรัพย์และปล้นทรัพย์ จึงต้องควบคุมอย่างแน่นหนา

ข้อ 8. ตามที่ได้เคยขอ ร.ต.อ. สินธุ์ วะระทุม รอง สว.ผ. 1 กก. 5 ป. ร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วยนั้น กระผมทราบว่า ร.ต.อ.สินธุ์ ฯ จะเกษียณอายุ วันที่ 30 กันยายน 2530 นี้แล้ว ดังนั้นหากจะให้ ร.ต.อ. สินธุ์ ฯ ไปดำเนินการต่อไป เกรงว่าหากดำเนินคดีไปชั้นศาลจะเป็นการลำบากตามตัว ร.ต.อ. สินธุ์ ฯ ดังนั้น ขอเปลี่ยนเป็น ร.ต.อ.ไชยยันต์ สุภาไชยกิจ รอง สว.ผ. 2 กก. 5 ป. ร่วมกับ พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ รอง ผกก.สสน. บก. อก. บช.ก. จึงขอได้โปรดพิจารณาอนุมัติให้บุคคลทั้งสองไปทำการสืบสวนหาพยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี และหากได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีแล้ว ขอได้โปรดอนุมัติให้ตำรวจกองปราบเป็นผู้ทำการสอบสวนแต่ฝ่ายเดียว

ข้อ 9. อนึ่ง ได้โปรดเรียกสำนวนการสืบสวนที่  พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ เสนอให้ ตร. พิจารณาตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2530 เพื่อตรวจสอบด้วย ไม่ทราบว่าสำนวนเดิมนี้ถูกเก็บและกักไว้ที่ใคร หากจะให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นแก่คดีนี้จริงๆ แล้ว ควรจะสอบสวนผู้ที่เก็บและกักสำนวนนี้ไว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการเก็บหรือกักสำนวนที่กำลังจะไปทำการสืบสวนใหม่ต่อไป

ข้อ 10. สรุปคำร้องของกระผมมีดังนี้

10.1 ขอให้พิจารณาสั่งการให้ทำการสืบสวนหาพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีนี้ในเรื่อง นี้ ซึ่งกระผมมั่นใจว่า จะต้องได้พยานหลักฐานใหม่แน่นอน

10.2 ขอเปลี่ยนตัว ร.ต.อ. สินธุ์ วะระทุม รอง สว.ผ. 1 กก. 5 ป. เป็น ร.ต.อ. ไชยยันต์ สุภาไชยกิจ รองสว.ผ. 2 กก. 5 ป. ไปดำเนินการสืบสวนร่วมกับ พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ รอง ผกก. สสน.บก.อก.บช.ก.

10.3 ขอให้เรียกสำนวนเดิมที่ พ.ต.ท. อนันต์ เวชพันธุ์ เสนอ ตร. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 เพื่อตรวจสอบผู้ใดเก็บสำนวนนี้ไว้ไม่เสนอ อตร.

10.4 ขอให้ตำรวจกองปราบฯทำการสืบสวนและสอบสวนแต่ฝ่ายเดียว
ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ความเดือดร้อนของราษฎรที่ถูกฆ่าตาย และเพื่อรักษาชื่อเสียงของกรมตำรวจ ขอได้โปรดพิจารณาสั่งการโดยด่วน จักเป็นพระคุณอย่างสูง

ขอแสดงความนับถือ
ลายมือชื่อ
( นายเด่น โต๊ะมีนา )  
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี
ลายมือชื่อ
( นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ )
สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดนราธิวาส
สำเนาส่ง ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฏร

ภาย หลังจากนายเด่น โต๊ะมีนา และ ผู้เขียนเข้าพบรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปรามที่กรมตำรวจพร้อมกับยื่น หนังสือร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทางตำรวจในพื้นที่ไหวตัวทัน จึงใช้แผนสกปรกไหว้วานบรรดาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เกลี้ยกล่อมทางฝ่ายบิดามาร ดาญาติๆ ผู้ตายและพยานบุคคลที่เป็นพยานปากสำคัญมิให้ติดใจเอาเรื่องกับตำรวจที่ก่อ เหตุคดีนี้ ยังผลทำให้สถานการณ์ต่างๆ กลับตาละปัตรเปลี่ยนแปลงไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกกล่าวหา ผลสุดท้ายคดีนี้ได้กลับหายไปในกลีบเมฆมืดอันหนาทึบไปอย่างน่าเสียดาย

สถานการณ์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อร่างกายและชีวิต ประชาชนชาวมลายูแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2530-ต้นปี 2531 กรณีนักศึกษาสตรีมุสลิมวิทยาลัยครูยะลาเรียกร้องให้แก้ระเบียบการแต่งกาย เครื่องแบบนักศึกษาสตรีมุสลิมสามารถสวมใส่ฮิญาบในวิทยาลัยครูยะลาได้ แต่ทางผู้บริหารวิทยาลัยครูยะลาไม่ยินยอมอนุญาต สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษามุสลิมจนก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงในบริเวณ วิทยาลัยครูยะลาขึ้น และบานปลายออกนอกรั้ววิทยาลัยครูยะลา