การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นหนึ่งในหลักปฎิบัติของอิสลามที่กำหนดให้กระทำในเดือนซุลฮิจญะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ ๑๒ ตามปฎิทินอิสลาม ในเดือนนี้ยังมีพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาสองประการ คือ วันอีดิ้ลอัฎฮาในวันที่ ๑๐ ซุลฮิจญะห์ และการทำกุรบานในช่วงเวลาหลังจากเสร็จจากการละหมาดอีดิ้ลอัฎฮา
ในแต่ละปีมุสลิมจากทั่วโลกมากกว่าสองล้านคนต่างเดินทางมุ่งสู่นครมักกะห์ประเทศซาอุดิอารเบียกันโดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากพิธีฮัจญ์ถูกกำหนดตายตัวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า “และเป็นสิทธิของอัลลอฮที่มีเหนือมนุษย์ นั่นคือ การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ (กะบะห์) สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางได้ “ (อาลิอิมรอน / ๙๗)
ฮัจญ์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยศาสดาอิบรอฮีม(อับราฮัม) ซึ่งหากพิจารณากันถึงประวัติศาสตร์ ฮัจญ์ว่าเคยเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมในอดีตที่เกี่ยวข้องกับสามศาสนา คือ ยิว คริสต์และอิสลาม โดยศาสดาอิบรอฮีมคือต้นตระกูลของชาวยิว ชาวคริสต์และมุสลิม (ชาวยิวและชาวอาหรับในกลุ่มตระกูลบนีอิสราเอล)
ในอดีตก่อนที่ศาสดามุฮำหมัดจะทำการเผยแพร่อิสลาม การสวดอ้อนวอน/ขอพรต่อพระเจ้าจะมุ่งหน้าไปยังทิศอัลอักซอ(บัยตุลมักติส) เยรูซาเล็มในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องสิทธิการครอบครองระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่ยังหาข้อยุติที่ลงตัวไม่ได้ แต่เมื่อครั้งที่พิธีฮัจญ์ถูกกำหนดขึ้นใหม่ในยุคของศาสดามุฮำหมัด โดยพระองค์ทรงสั่งให้ทำการย้ายกิบละห์(ทิศที่ใช้ในการผินหน้า/มุ่งหน้าไปในการอ้อนวอนขอและปฎิบัติพิธีกรรมศาสนาต่อพระเจ้า)จากบัยตุลมักดิส(เยรูซาเล็ม)ไปสู่บัยตุลลอฮ(คาบสมุทรอาหรับ/ซาอุดิอารเบีย) และหลังจากนั้น เรื่องราวความขัดแย้งต่างๆมากมายระหว่างสามศาสนา(ยิว คริสต์ อิลสาม)ก็เกิดขึ้นมาโดยไม่มีทางเลือก
การย้ายทิศกิบละห์นั้นมีเป้าหมายเพื่อทดสอบความศรัทธาของคนสามกลุ่มนี้(ยิว/คริสต์/อิสลาม ว่าจะยอมรับฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮหรือไม่ ทิศทุกทิศมุ่งสู่พระองค์อย่างเท่าเทียมกัน ทิศไม่ใช่เครื่องปิดกั้นการเข้าถึงอัลลอฮ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดสิทธิในการเข้าหาพระองค์เพียงทิศใดทิศหนึ่งหรือคนชาติพันธ์ใดชาติพันธ์หนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนทิศกิบละห์ไปยังกะบะห์นั้น ไม่ได้ทำให้อัลอักซอหมดความสำคัญลงแต่อย่างใด แต่เพื่อให้หลักคำสอนของอัลลอฮขยายออกไปกว้างขวางขึ้น และเพื่อให้เกิดการยอมรับความความแตกต่างทางชาติพันธ์ ที่ซึ่งสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็มาจากพ่อแม่คนเดียวกัน และมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน
แง่มุมหนึ่งคือ เกิดปรากฏการณ์คานอำนาจ/ช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางของประชาชาติมุสลิมระหว่างบัยตุลลอฮและบัยตุลมักดิส มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทิศกิบละห์ถูกจุดประเด็นเป็นความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับ และอาจรวมถึงความขัดแย้งระหว่าง ยิว คริสต์และมุสลิมด้วย จึงไม่แปลกที่ทำไมเรื่องราวของบัยตุลมักดิส(อัลอักซอ)จึงยังไม่สามารถนำมาพูดคุยได้ในเวทีเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง หรือระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ฮัจญ์คือการเรียกร้องมุสลิมทั่วโลก ให้มาอยู่ในสถานที่เดียวกันและในเวลาเดียวกันด้วยพิธีกรรมเดียวกัน เพื่อพระเจ้าองค์เดียวกัน เป็นการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียมและเอกภาพเดียวกัน เพื่อแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ และเพื่อการพบปะแลกเปลี่ยนความแตกต่างหลากหลายของประชาชาติมุสลิมจากทั่วโลก
ฮัจญ์เป็นหนึ่งในพิธีกรรมของศาสนาอิสลาม ที่กำหนดเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนที่มีความพร้อมและมีความสามารถทั้งด้านสุขภาพ ทรัพย์สินและความปลอดภัยในเส้นทางการเดินทาง เป็นหลักปฎิบัติที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติหนึ่งครั้งในชีวิต เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีเงื่อนไขและองค์ประกอบของความพร้อมและความสามารถเป็นหลัก
ความจริงแล้ว ท่านศาสดามุฮำหมัดอยู่มะดีนะห์ ๘ ปีโดยที่ท่านไม่เคยทำฮัจญ์ที่มักกะห์เลย ยกเว้นเพียงครั้งเดียวในช่วงปลายชีวิตของท่าน ที่เรียกว่าการทำฮัจญ์อำลา(ฮัจญ์วิดาอ์) และการที่ท่านไปทำฮัจญ์ครั้งนั้น ก็เพื่อต้องการสอนและทำเป็นแบบอย่างให้ประชาชาติมุสลิมได้เรียนรู้วิธีการ รูปแบบ เป้าหมาย แนวทางในการทำฮัจญ์ที่ถูกต้อง
ปัญหาของฮัจญ์ในสังคมไทยมักเกิดจากการนำความพร้อม/ความสามารถที่ไม่ครบถ้วนมาสร้างเป็นเงื่อนไขต่อการทำอิบาดะห์ฮัจญ์ การสร้างความเข้าใจกับผู้ที่ต้องการไปทำฮัจญ์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยความพร้อมที่ไม่ครบถ้วนนี้ และความสามารถที่ไม่พร้อมจริง ทำให้อิบาดะห์ที่อัลลอฮกำหนดว่าเป็นเรื่องง่ายกลับต้องกลายเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น ล้วนเป็นปัญหาของคนไม่ใช่ปัญหาของอิบาดะห์ที่พระองค์ทรงกำหนดให้มนุษย์ปฎิบัติ ความพร้อมและความสามารถจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเดินทางไปทำฮัจญ์ ความพร้อมที่ไม่ได้หลอกตัวเอง ความพร้อมที่ไม่มีใครมาหลอก เป็นความพร้อมที่สอดคล้องลงตัวกับอิบาดะห์ที่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องอิบาดะห์ฮัจญ์เท่านั้น แต่รวมถึงอิบาดะห์อื่นๆด้วยที่ต้องสร้างความพร้อมที่แท้จริง ไม่ใช่ความพร้อมจอมปลอมและหลอกลวง
พิธีฮัจญ์เป็นพิธีที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจนในตัวบทอัลกุรอาน และอัลหะดิษ ด้วยเงื่อนไขสำคัญคือความพร้อมและความสามารถที่ครบถ้วน การกวดขันและเข้มงวดกับระบบและมาตรฐานที่กำหนดไว้จากทางประเทศซาอุดิอารเบียและทางรัฐบาลไทยให้เข้มงวดกวดขันให้เป็นมาตรฐานทางกฏหมาย เพื่อจะสามารถควบคุมดูแลมาตรฐานดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบและเหมาะสมถูกต้องต่อไป