สนช.ผ่านร่าง “พ.ร.บ.ฮัจย์” วาระ 3 แล้ว รอประกาศเป็นกฎหมาย เปลี่ยนให้กรมการปกครองดูแลแทนกรมการศาสนา

ภาพจากเพจ Dr.Winai Dahlan

สนช. ผ่านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ วาระ 3 แล้ว รอประกาศเป็นกฎหมาย ถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง ดูแลแทนกระทรวงวัฒนธรรม และกรมการศาสนา 

เมื่อวันที่ (2 ก.ย.) เวลา 10.00 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524

ภายหลังพิจารณารายมาตราและอภิปรายเสร็จสิ้น สนช. ได้ลงมติผ่านความเห็บชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 161 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ รอประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ในร่างนี้มีการแก้ไขในเรื่องสำคัญ คือ การถ่ายโอนภารกิจให้ “กระทรวงมหาดไทย” ดูแลแทน “กระทรวงวัฒนธรรม” โดยให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ “สำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย” และให้ “อธิบดีกรมการปกครอง” เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง จากเดิมที่เคยเป็นกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และอธิบดีกรมการศาสนา

ทั้งมีการปรับปรุงองค์ประกอบของ “คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย” โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยและเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ จากเดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ฉบับใหม่ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฯ “โดยตำแหน่ง” 11 คน ได้แก่

  1. ปลัดกระทรวงคมนาคม
  2. ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
  3. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ
  4. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
  5. ผู้แทนกรมการศาสนา
  6. ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  7. ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
  8. ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
  9. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  10. ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  11. ผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน

นอกจากนั้นให้คณะกรรมการตั้งคณะบุคคลไม่เกิน 7 คน ขึ้นมา เป็น “คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจการฮัจย์” เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางและมาตรการเพื่อคุ้มครองอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์

โดยระหว่างพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สนช.อภิปรายว่าไม่ติดใจที่ กมธ.ได้แก้ไขเพิ่มปลัดวัฒนธรรมเป็นกรรมการ เพราะมีความเกี่ยวข้อง แต่ที่มีความกังวลในเรื่องของการตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ ที่กำหนดให้มีผู้ประกอบการเกี่ยวกับกิจการฮัจญ์มาเป็นคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลประโยชน์ทับซ้อนกับการนำประชาชนไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

ซึ่ง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า คนที่จะมาเป็นคณะอนุกรรมการฯ จะต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์เกี่ยวกับกิจการฮัจญ์มีหน้าที่เพียงเสนอแนะ เสนอมาตรการคุ้มครองแก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกมีความกังวล ทาง กมธ.ก็จะรับข้อสังเกตดังกล่าวไปเขียนไว้ท้ายร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้การตั้งอนุกรรมการฯมีความรอบคอบป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการฯ

นอกจากนี้การอภิปรายสงวนคำแปรญัตติของสมาชิกสนช. ได้สงสัยเกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ แห่งประเทศไทย ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมาธิการ ฯ ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงในร่างกฎหมายนี้ทุกฝ่ายหารือกันมาพอสมควร  และที่เพิ่มสัดส่วน ให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมนั้นเพราะช่วยเหลือกิจการฮัจย์ ได้ดีเนื่องจากเคยทำหน้าที่มาก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น และกฎหมายนี้จะทำให้การดำเนินกิจการฮัจย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสมคิด ยังชี้แจงกรณีที่มีการปล่อยข่าวให้เกิดความเข้าใจผิดในโซเชียลมีเดีย โดยยืนยันว่า ในร่างพ.ร.บ.นี้จะ ไม่มีการตั้งนิติบุคคลขึ้นมาเพราะมีกรมการปกครองดูแล ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะรับคนมุสลิมมาทำงานในกระทรวงมหาดไทยมากขึ้นนั้นก็ไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเดินทางไปฮัจย์ เพราะผู้เดินทางต้องออกค่าใช้จ่ายเอง รัฐเพียงแต่ดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้เท่านั้น