
ชีอะห์” โต้สื่อ“ผู้จัดการ”มั่ว! ยันไม่เกี่ยวข้องใดกับสิ่งก่อสร้างที่กรือเซะซึ่งชาวบ้านทุบทิ้ง หวั่นเสี้ยมมุสลิมแตกแยก ผู้สร้างที่แท้จริงเป็นมูลนิธิหนึ่งที่เชื่อมโยงบุคคลสัญชาติมาเลเซีย
สืบเนื่องจากรายงานของผู้จัดการออนไลน์ ในวันนี้ (16 ก.ย.) ที่ระบุว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านกรือเซะและพื้นที่ ใกล้เคียง รวมตัวกันทุบรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของกลุ่มลัทธิชีอะห์ที่มัสยิดกรือเซะนั้น
โดยผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเป็นกลุ่มลัทธิชีอะห์ ซึ่งถูกอ้างว่าสร้างเอาไว้สำหรับวางตู้น้ำดื่ม เพื่อบริการให้แก่ผู้มาเยือนมัสยิด แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่พอใจ และได้พยายามสั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่ภายหลังจากที่ตัวแทนชาวบ้านได้ยับยั้งไม่ให้มีการก่อสร้างเพิ่ม และให้มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทันที แต่ผู้ดำเนินการกลับไม่เลิกละความพยายามที่จะดำเนินการต่อ ทำให้ชาวชุมชนบ้านกรือเซะและชุมชนใกล้เคียงได้รวมตัวกันนำค้อน เครื่องเจาะไฟฟ้า มาทำการรื้อถอนด้วยตัวเอง ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง สิ่งก่อสร้างดังกล่าวก็หายไปในพริบตา สร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวบ้านที่ร่วมกันรื้อถอนเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวผู้จัดการออนไลน์ยังอ้างว่า ได้สอบถามไปยังผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาที่ได้ร่วมกันรื้อถอนในครั้งนี้ว่า มีการลักลอบก่อสร้างโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนในชุมชน และผู้นำศาสนาในพื้นที่ นอกจากนั้น ประชาชนในพื้นที่สืบทราบมาว่า เป็นสิ่งก่อสร้างของกลุ่มที่นับถือลัทธิ หรือนิกายชีอะห์ ซึ่งมีหลักความเชื่อที่ขัดแย้งต่อหลักความเชื่อของประชาชนในพื้นที่เดิมที่ นับถือแนวทางของอะห์ลีซุนนะห์วัลญะมาอะห์ (คลิ๊ก อ่านรายงานฉบับเต็มของผู้จัดการออนไลน์)
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์ได้สอบถามไปยังนักการศาสนาชีอะห์คนหนึ่งในพื้นที่ปัตตานี ซึ่งเปิดเผยว่า มุสลิมชีอะห์ไม่ได้ไปแอบสร้างสิ่งปลูกสร้างใดที่มัสยิดกรือเซะ และยืนยันว่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมุสลิมชีอะห์
“มุสลิมชีอะห์ในปัตตานีมีไม่เกิน 10 ครอบครัว และเราก็ทำกิจกรรมศาสนาของเราเงียบๆ ตามปรกติ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับใครทั้งสิ้น” นักการศาสนาชีอะห์ที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามกล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์
นอกจากนี้นักการศาสนาชีอะห์ยังตั้งข้อสังเกตต่อการรายงานข่าวของนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ว่า เจือไปด้วยความอคติ ไม่รอบด้าน ขาดข้อมูลที่เพียงพอ โดยเฉพาะการใส่ความคิดเห็นของผู้รายงานลงไปในเนื้อข่าวจนทำให้ข่าวชิ้นดังกล่าวคล้ายกับบทความมากกว่ารายงานข่าว และเสมือนเป็นการเสี้ยมที่ส่งผลทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ทั้งชวนให้สงสัยว่านักข่าวคนดังกล่าวเป็นสาวกของฝ่ายที่ต่อต้านมุสลิมชีอะห์ หรือกำลังตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวพับลิกโพสต์ได้เข้าสอบถามจากแหล่งข่าวในพื้นที่ซึ่งระบุว่า สิ่งปลูกสร้างหรือศาลาน้ำดื่มดังกล่าวถูกสร้างมาประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งผู้ที่สร้างคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับ “มูลนิธิยายาซัน เอสเอ็ม อามีน ไทยแลนด์” หรือ “มูลนิธิ SM Amin ประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติมาเลเซียที่อ้างว่าชื่อ “ตวนกู การาแม็ง ซักตี” (Tuanku Karameng Sakti)
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การไปปลูกสร้างใดๆ โดยเฉพาะในบริเวณมัสยิดกรือเซะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นำชุมชนในพื้นที่จะไม่ทราบ เพราะคงไม่สามารถไปแอบสร้างกันได้ง่ายๆ
“อย่างน้อยที่สุดผู้ใหญ่บ้านหรือโต๊ะอีหม่ามต้องรับทราบ” แหล่งข่าวกล่าว และว่า “แต่ที่เพิ่งเป็นประเด็นเพราะเพิ่งมีกระแสต่อต้านมูลนิธิดังกล่าวจากมุสลิมอีกนิกายหนึ่งที่เกลียดชีอะห์ โดยยุยงและปั่นกระแสโยงว่ามุสลิมมูลนิธิดังกล่าวเป็นกลุ่มชีอะห์ จนทำให้ชาวบ้านมีความหวาดระแวง และนำมาสู่การทุบทิ้งสิ่งก่อสร้างดังกล่าว”
ทั้งนี้จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์พบว่า “มูลนิธิยายาซัน เอสเอ็ม อามีน ไทยแลนด์” หรือ “มูลนิธิ SM Amin ประเทศไทย” และบุคคลสัญชาติมาเลเซียที่ชื่อ “ตวนกู การาแม็ง ซักตี” (Tuanku Karameng Sakti) นั้นถูกโยงว่า เกี่ยวข้องกับองค์กรของประเทศมาเลเซียแห่งหนึ่งถูกองค์กรทางศาสนาของทางการมาเลเซียสั่งปิด ในข้อหาเป็นลัทธินอกรีต และบิดเบือนหลักคำสอนศาสนาอิสลาม จากนั้นจึงได้ย้ายฐานเข้ามาเผยแพร่แนวคิดในประเทศไทยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิกายชีอะห์แต่อย่างใด
อนึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน “มูลนิธิ SM Amin ประเทศไทย” ได้ขึ้นป้ายคัทเอาท์หลายแห่งในนราธิวาส เชิญชวนมุสลิมให้มาร่วมงานต้อนรับวันฮารีรายาอีดิ้ลอัดฮา 1437 ซึ่งทางมูลนิธิจะจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2559 ที่อ่าวมะนาว ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

ทว่าหลังจากนั้นก็มีกระแสต่อต้านมูลนิธิฯ และการจัดงานดังกล่าวในโลกโซเชียล โดยมีการโยงว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นมุสลิมชีอะห์ หรือมีแนวคิดคล้ายกับมุสลิมชีอะห์ ซึ่งสร้างความหวาดระแวงและกระแสต่อต้านให้กับประชาชนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กระทั่งมีการโพสต์และแชร์ในโซเชียลของมุสลิมว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 มีกลุ่มบุคคลได้ไปเผาเต้นท์หลายหลังที่อ่าวมะนาว ซึ่งทางมูลนิธิเตรียมไว้สำหรับที่จะจัดงาน

และที่สุดจึงนำมาสู่การทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างหรือศาลาที่มัสยิดกรือเซะในวันนี้ ซึ่งชาวบ้านพบว่าผู้ให้งบก่อสร้างเกี่ยวข้องกับ “มูลนิธิ SM Amin ประเทศไทย” เนื่องจากมีผู้เห็นสติ๊กเกอร์ของมูลนิธิแปะอยู่ที่ศาลาดังกล่าว
สำหรับการพยายามเชื่อมโยง “มูลนิธิ SM Amin ประเทศไทย” ไปยังกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์นั้นสืบทราบว่าเป็นฝีมือของกลุ่มมุสลิมนิกายวะฮาบีซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมานานกับชีอะห์ สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย โดยอิหร่านถือเป็นเสาหลักของมุสลิมชีอะห์ และซาอุดิอาระเบียเป็นมุสลิมวะฮาบี โดยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายยิ่งปะทุหนักข้อมากขึ้นในช่วงระยะหลังที่เกิดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งในประเทศซีเรียและเยเมน ซึ่งอิหร่านและซาอุดิอาระเบียถือเป็นขั้วตรงข้ามกันในความขัดแย้งดังกล่าว