อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้ควรมีพื้นที่ยืนให้กับเด็กนักศึกษา และไม่ดีลกับพวกเขาเหมือนเป็นจำเลยของคดีบางอย่าง หลังอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรจ่อตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและลงโทษทางวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีนักศึกษาแต่งคอสเพลย์ชุดคล้าย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
สืบเนื่องจากกรณีมีการแชร์ภาพเป็นกิจกรรมการแต่งคอสเพลย์จากรุ่นน้องคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหนึ่งในนั้นเป็นรูปนักศึกษาคนหนึ่งแต่งชุดคล้าย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซี ขณะที่อีกภาพหนึ่งที่มีการพูดถึง คือการแต่งกายด้วยชุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม โดยถูกตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสม ซึ่งต่อมา นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คแฟนเพจระบุว่า จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและลงโทษทางวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะหารือปรับความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตประเทศอิสราเอลประจำประเทศไทย จนกลายเป็นประเด็นวิพากย์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น (คลิ๊กอ่าน…ส่อดราม่า! ปมนักศึกษาแต่งนาซี อธิการม.ศิลปากรสั่งตั้งกรรมการสอบ-ลงโทษ ต่อสายขอโทษทูตยิว)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์ ในวันนี้ (20 ก.ย.) ระบุว่าตนมองใน 2 ประเด็น
“ประเด็นแรกเลยคือ แม้เราจะเห็นตรงกันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นผิดอย่างรับไม่ได้ แต่เราก็ควรมีพื้นที่ยืนให้กับเด็กเหล่านั้นด้วยเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่จะคิดถึงการมีพื้นที่ให้เขาสื่อสารถึงสิ่งที่เขาได้ทำลงไป แต่อย่างน้อยคือผมหวังว่าเราจะไม่ดีลกับพวกเขาเหมือนเป็นจำเลยของคดีบางอย่าง มิเช่นนั้น เพราะนั่นเท่ากับเป็นเพียงการสะท้อนกลับความรุนแรง ไม่ใช่การก้าวข้ามความรุนแรง และเราให้พื้นที่เพื่อยืนยันสิ่งที่ใหญ่กว่าการลงโทษ นั่นคือ การยึดมั่นในการเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่แม้กระทั่งผู้ผิดพลาดก็ได้รับมอบหลักคุณค่านี้ด้วยไม่ต่างกัน”
“ผมเชื่อว่าสังคมที่ให้โอกาสและเชื่อในศักยภาพของคนในการแก้ไขสิ่งผิด มีทางไปและงดงามมากกว่าสังคมที่ฝากความหวังไว้กับโครงสร้างหรือสถาบันบางอย่างให้ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมคน” อาจารย์อาทิตย์ กล่าวและว่า
“ประเด็นนี้มันพันไปถึงโจทย์ท้าทายอื่นๆ ของสังคมด้วย เช่น เรื่อง hate speech ว่าสังคมจะมีแนวทางจัดการของเหล่านี้อย่างไร จะใช้การควบคุมด้วยระบบกฎหมาย การลงโทษทางสังคม หรือพัฒนาคนให้สามารถตระหนักรู้ในการกระทำของตัวเขาเองและเห็นสายใยสัมพันธ์ของเขากับคนที่อยู่ร่วมกันกับเขาได้ จะเห็นว่า แนวทางอย่างหลังดูจะยั่งยืนกว่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ขณะที่แนวทางแรกดูจะเด็ดขาด มีประสิทธิภาพ แต่ระยะยาวก็ไม่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยตัวมันเอง เพราะมันไม่ได้เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อยู่แล้วตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะศักยภาพในการคิด ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะส่งเสริมคนอย่างไรให้ไม่เกิดปัญหาลักษณะนี้”
หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ กล่าวอีกว่า “ในส่วนประเด็นที่สองที่ผมคิด ก็คือ เหตุการณ์นี้เราอาจมองแง่ดีว่าเหมือนวิกฤตอันสามารถพลิกเป็นโอกาส โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้สังคมตระหนักทราบในวงกว้างขึ้น แต่ผมกลับมองว่า โจทย์ของเรา ใหญ่กว่านั้น คือ มันไม่ใช่แค่เรื่องของการรับรู้ หรือเข้าใจ เพราะเราก็จะเห็นว่าหลายเรื่อง เราทราบข้อมูลพอสมควร แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือไม่ใส่ใจกับเรื่องราวเหล่านั้น อาจเพราะเราไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การดูถูกผู้หญิงในมุกตลก การตั้งฉายานักฟุตบอลแอฟริกาว่าปื๊ด เป็นต้น อาจเพราะบางสังคมคุ้นชินกับการเหยียดในชีวิตประจำวันอยู่แล้วจึงไม่ซีเรียสกับเรื่องเหล่านี้ และโดยไม่ตระหนักว่า ความไม่ซีเรียสนั้น คือ ไม่ซีเรียสจากมุมมองของเรา”
“เรามักคิดไม่ถึงว่า ในโลกนี้มีมุมมองต่อเรื่องเดียวกันได้หลายแบบ ซึ่งบางมุมมองที่ต่างจากเรา อาจมองเรื่องที่เราคิดว่าไม่เห็นต้องซีเรียสด้วยความเจ็บปวด และเราก็มักไปคิดว่าทำไมเขาต้องซีเรียสกับเรื่องแค่นี้ด้วย ทำไม sensitive เหลือเกิน” อาจารย์อาทิตย์ และว่า
“ที่เราคิดเช่นนี้เพราะเราอาจไม่ละเอียดพอจะเห็นว่า มันไม่ได้มีมุมมองเดียว (คือแบบที่เรามอง) ต่อการรู้สึกกับเรื่องราวหนึ่งๆ คำถามที่น่าสนใจคือว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ระบบการศึกษาเราทุกวันนี้ ช่วยให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ผมตอบเร็วๆ เลยว่า ไม่ การศึกษาของเราเป็นระบบตัดสิน คำถามปลายเปิด มักมีธงคำตอบที่ถูกอยู่แล้วอันเป็นธงคำตอบที่ครูเชื่อ นี่คือ จารีตหลักที่เราเรียนวิชาสังคมกันมา และมันไม่เอื้อต่อการคิดต่าง หรือเห็นจากมุมมองของคนอื่นที่แปลกต่างไปจากเรา”
อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ มองว่า มี 2-3 เรื่องในพลวัตของระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยช่วงหลังที่ตนเห็นว่าเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างมาก
“หนึ่งคือ การศึกษาที่มุ่งเน้นฝึกทักษะวิชาชีพมากขึ้น เราให้น้ำหนักมากเกินไปกับการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นลานฝึกเตรียมคนไปสู่อาชีพเฉพาะบางอย่าง ผลผลิตที่ได้ก็เลยกลายเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ตามเฟืองของตนเอง โดยมองไม่เห็นกัน และไม่จำเป็นต้องเห็นกัน”
“สองคือการค่อยๆ เลือนสลายไปของการสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวเนื้อหามันเองก็ลดความสำคัญลงไปในสายตาของผู้ศึกษาจำนวนมาก เพราะไม่ make money ไม่ต่อยอดสอดคล้องกับวิชาชีพใดเฉพาะ แต่นั่นก็ทำให้สังคมมีพลังในการตั้งคำถาม สงสัย ต่อเรื่องทั่วๆ ไปน้อยลง ทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของเราถูกทำให้กลายเป็นเหมือนเรื่องคุ้นเคยชินชา คนมีการครุ่นคิดน้อยลงต่อคำถามพื้นฐานด้วยเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเวลา และดังนั้นจึงนิ่งน้อยลง ละเอียดลออน้อยลง”
“และสาม คือ การหดตัวลงของวิชาประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลคล้ายๆ วิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปคิดถึง คือ การเรียนรู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รวมถึงงานโบราณคดี และอาจจะรวมถึงบรรดาหนังผีเฝ้าสมบัติต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มันพูดเองไม่ได้ ต้องอาศัยปากคนพูด คนก็ย่อมมีอคติ การใช้ภาษา การเลือกคำ การเรียงลำดับข้อเท็จจริงในข้อเขียนประวัติศาสตร์ล้วนขึ้นอยู่กับผู้เขียน ประวัติศาสตร์จึงล้วนเป็นเรื่องประพันธ์ขึ้นทั้งนั้น มันไม่ได้สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างเที่ยงตรงเป๊ะๆ เพราะเราไม่อาจทำให้อดีตมันเกิดซ้ำได้ ดังนั้น ผมจึงบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะนักเรียนเก่งๆ ก็ท่องกันได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การขาด sense แบบนักประวัติศาสตร์ คือ การขาดจิตใจของการสงสัยและสืบค้น
“หากจะหวังให้ระบบการศึกษาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมหวังว่าปรัชญาและประวัติศาสตร์จะมีที่ทางมากขึ้น การศึกษาที่มิได้มุ่งสู่วิชาชีพสถานเดียวจะถูกให้น้ำหนักมากขึ้น และการเรียนการสอนที่เอื้อให้คนเห็นคน ทั้งคนอื่น และเห็นตัวตนของตนเอง จะได้รับการออกแบบครุ่นคิดมากขึ้น” อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าว
อนึ่งในวันเดียวกันนี้ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล/คอลัมนิสต์/นักวิชาการอิสระที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามในสื่อโซเชียลจำนวนมาก ได้โพสในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pipob Udomittipong’ ระบุว่า “เห็นด้วยกับการสอบสวน แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งธงว่าจะมีการลงโทษทางวินัย”
“ควรทราบว่ามีแค่สามประเทศเท่านั้นที่การสวมเครื่องแบบนาซีผิดกฎหมาย เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิสราเอล เฉพาะกรณีที่แสดงออกต่อสาธารณะเท่านั้น ปีที่แล้ว มีการเสนอให้ European Union ออกกฎหมายห้ามใช้สัญลักษณ์นาซี แต่ไม่เป็นผล เพราะทางการอียูเห็นว่าไม่มีประโยชน์”
“ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการสวมเครื่องแบบนาซีนั้น ทำด้วยเจตนาเหยียดผิว เหยียดมนุษย์ “racism” “xenophobia” หรือไม่มากกว่า ทางมหาวิทยาลัยควรสอบเจตนาเรื่องนี้ ถ้าน้อง ๆ เขาเพียงแต่สวมชุดฮิตเลอร์เพราะเห็นเป็นชองแปลก ของต่างประเทศ และมันมีขายทั่วไป ไม่น่าจะมีการลงโทษอะไร เรื่องการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ ควรโทษระบบโรงเรียนของเราที่บกพร่อง ไม่สอนเรื่องนี้มากพอ ไปโทษนักเรียนอย่างเดียว ไม่ถูกต้อง ส่วนชุดเรดการ์ด ไม่เคยได้ยินว่าเป็นปัญหาอะไรในโลก เราจะทำให้มันเป็นปัญหาทำไม? ” พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ระบุ