นับตั้งแต่การล่มสลายของเผด็จการ “ซัดดัม ฮุสเซน” ในปี 2003 ชีอะห์ได้เริ่มต้นอย่างเปิดเผยอีกครั้งในการประกอบพิธีอัรบาอีน (Arbaeen) สัญลักษณ์การไว้ทุกข์ประจำปี โดยมีผู้คนจำนวนมากมายมโหฬารเข้าร่วมในแต่ละปี
“พิธีอัรบาอีน” นับเป็นการชุมนุมประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลกพิธีหนึ่ง จัดขึ้นในวันที่ 40 หลังวันที่ “ฮุสเซน บุตรอาลี” อีหม่าม (ผู้นำ) คนที่ 3 ของพวกเขาถูกสังหารโดยกองกำลังที่จงรักภักดีต่อ “ยาซีด” กาหลิบ (คอลีฟะห์) คนที่ 2 ของราชวงศ์อุมัยยะห์ ในปี ค.ศ. 680 (พ.ศ.1223)
ฮุสเซน เป็นหลานชายของศาสดามูฮัมหมัด เขาเป็นที่รักอย่างสุดซึ้งและเป็นอนุสรณ์แห่งความโศกเศร้าในหมู่มุสลิมชีอะห์ จากการที่เขาได้ต่อสู้และเผชิญหน้ากับทหารหลายพันคนที่ถูกส่งมาโดยยาซีด ทั้งที่เขาและสหายร่วมอุดมการณ์มีจำนวนไม่ถึง 100 คน
ในแต่ละปี ก่อนถึงวันอัรบาอีนเล็กน้อย ชาวชีอะห์จากทั่วทุกมุมโลกจะพากันเดินทางไปยังประเทศอิรัก เพื่อเข้าร่วมพิธีเดินเท้าไปยังสถานฝังศพของฮุสเซนในเมืองกัรบาลาอันศักดิ์สิทธิ์ อนึ่งในทุกแขนงสำนักคิดและนิกายของอิสลามนั้นต่างก็ให้ความเคารพต่อฮุสเซน และแม้กระทั่งชาวคริสต์บางกลุ่มในอิรักต่างก็เข้าร่วมขบวนเดินเท้าไปยังเมืองกัรบาลา
เมื่อปีที่แล้ว รายงานระบุว่า มีผู้คน 27 ล้านคนที่เข้าร่วมในพิธีโดยมาจากประเทศต่างๆ เช่น ตุรกี ทาจิกิสถาน เป็นต้น ขณะที่อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด โดยมีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้เดินทางไปร่วมพิธีในอิรัก
ในหลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากความศรัทธาในแง่ศาสนา ชาวชีอะห์เชื่อว่า การมีส่วนร่วมในพิธีนี้เสมือนเป็นการส่งสารท้าทายกลุ่มไอซิส (Isis) ด้วย “ความสามัคคี อำนาจ และความพร้อม” ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายนี้
มูฮัมหมัด นากี ลุตฟี อีหม่าม (ผู้นำ) ละหมาดวันศุกร์ของเมืองอีลาม (Ilam) อิหร่าน กล่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า “มหากาพย์ของการเดินขบวนในพิธีอัรบาอีนในอิรักนั้น อันที่จริงคือการสำแดงถึงความสามัคคีและความมุ่งมั่นของชีอะห์ที่จะเผชิญหน้ากับกลุ่มตักฟีรี (กลุ่มสุดโต่งที่วินิจฉัยผู้ที่มีทัศนะไม่ตรงกับตนว่าเป็นผู้นอกศาสนา) และสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่พวกเขา”
นอกจากนี้ อัรบาอีนถือเป็นความท้าทายโดยตรงไปยังซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถูกกระแทกกระทั้นจากอิหร่านในเรื่อง “การบริหารจัดการที่ผิดพลาด” ในพิธีฮัจย์ที่แตกตื่นชุลมุนเมื่อปี 2015 ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้แสวงบุญจำนวนมาก รวมทั้งชาวอิหร่านหลายร้อยคน
การบริหารจัดการของการแสวงบุญในอิรักไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับรัฐบาล และค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นราคาถูก มีอาสาสมัครเป็นจำนวนมากบนเส้นทางของการเดินขบวนไปยังกัรบาลาที่คอยแจกอาหารและเครื่องดื่มฟรีให้กับผู้แสวงบุญ นอกจากนี้ในระหว่างพิธี – ซึ่งมีผู้แสวงบุญจำนวนมหาศาลหลายเท่ากว่าพิธีฮัจย์ในซาอุดีอาระเบีย – ก็ไม่เคยมีใครถูกฆ่าตายเนื่องจากการแตกตื่นหรือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดแต่อย่างใด
ดาน่า (Dana) เว็บไซต์ข่าวของอิหร่าน ได้เขียนรายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ย. อ้างถึงเหตุการณ์เหยียบกันตาย ในพิธีฮัจย์ ปี 2015 ในซาอุดิอาระเบีย ว่า “การเดินขบวนจะถูกดำเนินการภายใต้การบริหารที่ถูกต้อง โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บใดๆ … การปรากฏตัวของผู้คน (จำนวนมาก) ในพิธีอัรบาอีน คือสิ่งที่พวกเขา (หมายถึงประเทศซาอุดีอาระเบีย) ควรเรียนรู้จากพิธีนี้”
รากเหง้าความปรปักษ์ของซาอุดิอาระเบียต่อพิธีอัรบาอีน
เมื่อวันที่ 10 กันยายน สถานีโทรทัศน์อัลวีซาล (Wesal) ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าของ ได้ทวีตวิดีโอและเขียนว่า “ชาวมุสลิมไปมักกะห์ แต่ซาฟาวิดไปกัรบาลา” ซาฟาวิด (Safavid) เป็นการอ้างถึงจักรววรรดิซาฟาวิดในยุคกลางของอิหร่าน ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปริเริ่มโดยมุสลิมนิกายวะฮาบี (Wahhabis) เพื่อชี้นำให้เห็นว่าชาวชีอะห์มีความภักดีต่ออิหร่านและชาวอิหร่านไม่ได้เป็นชาวมุสลิม ที่น่าสนใจ คำเดียวกันนี้ได้ถูกใช้โดยไอซิสเพื่อเป็นการอธิบายว่าชีอะห์เป็นพวกนอกศาสนา ในทำนองเดียวกัน “ดาบิค” (Dabiq) นิตยสารทางการของกลุ่มไอซิส โดยปรกติก็กล่าวถึงชีอะห์ด้วยการเรียกว่า “Rafida” (รอฟีเดาะห์ แปลว่า พวกนอกรีต) หรือ Rejectionists (ผู้ปฏิเสธ)
เช่นนี้ ที่ซาอุดิอาระเบียวางอยู่บนพื้นฐานของการต่อต้านพิธีอัรบาอีน ความเป็นปรปักษ์นี้มาจากรากเหง้าทางอุดมการณ์ความศรัทธาแบบวะฮาบีของซาอุฯ เพราะวะฮาบีเชื่อว่า การไปเยือนสุสานและการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ตายไปแล้ว เป็นพฤติกรรมของพวกนับถือพระเจ้าหลายองค์ หรือ พหุเทวนิยม (Polytheism)
อันที่จริง ในปี ค.ศ. 1801 ( พ.ศ.2344) วะฮาบีจากคาบสมุทรอาหรับได้เคยโจมตีและปล้มสะดมเมืองกัรบาลา ในระหว่างการโจมตีกลุ่มวะฮาบีได้ฆ่าสังหารชาวบ้านหลายพันคน ปล้นสุสานของฮุสเซนและทำลายโดมในสุสานแห่งนั้น นักประวัติศาสตร์ชาวซาอุฯ อุสมาน บินบัชร์ นัจดี (Osman Ibn Bishr Najdi) ได้เขียนไว้ว่า “ซาอูด (บุตรของอับดุลอะซีซ และเป็นหลานของ อิบนิ อับดุลอัลวะฮาบ) ได้จัดตั้งกองทัพแห่งพระเจ้า เขาสร้างขึ้นมาสำหรับเมืองกัรบาลาโดยเฉพาะ และเริ่มต้นทำสงครามกับผู้คนในเมืองของฮุสเซน ชาวมุสลิม (วะฮาบี) ได้ทำลายกำแพง เข้าสู่เมือง และฆ่าสังหารผู้คนส่วนใหญ่ของเมืองนี้ทั้งในตลาดและในบ้านเรือนของพวกเขา แล้ว (พวกเขา) ได้ทำลายโดมที่อยู่เหนือหลุมฝังศพของฮุสเซน พวกเขากวาดเอาทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาพบภายในโดมและบริเวณใกล้เคียง พวกเขาเอาตะแกรงลูกกรงซึ่งได้รับการประดับประดาด้วยมรกต ทับทิม และอัญมณีอื่นๆ … รวมถึงสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าทรัพย์สิน, อาวุธ, เสื้อผ้า, พรม, ทอง, เงิน, สำเนาอัลกุรอานที่ล้ำค่า”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกกระทำซ้ำอีกในความวิบัติรูปแบบเดียวโดยไอซิสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2014 ที่สมาชิกไอซิสได้ขุดและทำลายหลุมฝังศพของพระศาสดายูนุส (โจนาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล) ทางตะวันออกของเมืองโมซูล
ชีอะห์และชาวอิหร่านต้องการให้ “กัรบาลา” มาแทนที่ “มักกะห์” จริงหรือ??
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข้อเขียนได้แพร่สะพัดในหมู่ชาวอาหรับบางส่วน อ้างว่า ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน “อายะตุลเลาะห์ อะลี คอเมเนอี” ได้ออกฟัตวา (คำวินิจฉัยทางศาสนา) ขอให้ชาวอิหร่านไปประกอบพิธีฮัจย์ในเมืองกัรบาลาแทนการไปเมืองมักกะห์ อนึ่งเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่านได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้อย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากการปฏิเสธของอิหร่านต่อคำฟัตวาดังกล่าว นักการศาสนาและนักวิชาการของชีอะห์ได้ออกมายืนยันหนักแน่นว่า การทำฮัจย์นั้นไม่สามารถไปทำที่อื่นใดได้ ยกเว้นแต่ที่เมืองมักกะห์เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง การไปประกอบพิธีฮัจย์เป็นสิ่งวายิบ (Wajib หมายถึง จำเป็นต้องกระทำ) ขณะที่การไปเยี่ยมเยือนสถานฝังศพของฮุสเซนนั้นเป็นเพียงข้อแนะนำให้ควรกระทำ (Mostahab)
ในความเป็นจริง ฮัจย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในศาสนาอิสลาม ถ้าใครไม่ปฏิบัติ (โดยที่เขามีสุขภาพดีพอและมีความสามารถทางการเงิน) เขาจะไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นมุสลิมในวันฟื้นคืนชีพ ในทำนองเดียวกันนี้ “เชค อัลโฮร์ อัลอามิลี” (Sheikh Al-Hurr al-Aamili) นักการศาสนาคนสำคัญของมุสลิมชีอะห์สาขาสิบสองอีหม่าม (Twelver Shiite) (มีอายุช่วง 1624-1693) กล่าวว่า การไปเยือนสุสานอีหม่ามของชีอะห์นั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะละทิ้งการประกอบพิธีฮัจย์ได้ นอกจากนี้ “อิหม่ามมูฮัมหมัด บาเกร์” อิหม่ามลำดับที่ 5 ของชีอะห์ก็ได้กล่าวไว้ว่า “หากผู้ใดมีความสามารถที่จะไปทำฮัจย์ แต่เขาเกิดเจ็บป่วยหรือมีโรค เขาจะต้องส่งคนอื่นเป็นตัวแทนตนเองไปทำฮัจย์ และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย”
แปล/เรียบเรียงจาก http://www.al-monitor.com