เจาะลึก ทีวีมุสลิม เรตติ้งต่ำ ไร้คนดู 5ช่องลงทุน100ล้านต่อปี…คุ้มหรือไม่คุ้ม?

กว่า  1 ปีที่ทีวีมุสลิม 4 ช่องได้แพร่ภาพออกอากาศแล้ว เพื่อเป็นการอัพเดทข้อมูล “พับลิกโพสต์” จึงขอไปติดตามเบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึก โดยเฉพาะ “เรตติ้ง” ผู้ชม ซึ่งเมื่อตีแผ่ออกมา อาจทำให้หลายคนผิดหวัง

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของมุสลิม เพิ่มจำนวนเป็น 5 ช่อง   หลังจากเมื่อปี 2555  ยาตีมทีวี (yateemTV), ไวท์แชนแนล (White Chanal), และ ไอบีทีวี (IBTV) ออกอากาศพร้อมๆ กันประมาณ เดือนมีนาคม-เมษายน ในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน ในขณะที่ 2 สถานีซึ่งกำเนิด มาก่อน คือ ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ กับ ทีเอ็มทีวี (TMTV) ก็ได้ปรับตัวเพื่อรองรับการกำเนิดของอีก 3 สถานี

“ทีวีมุสลิมไทยแลนด์” ของ “บรรจง โซ๊ะมณี” นับเป็นทีวีมุสลิมเจ้าแรก ซึ่งเมื่อครั้งที่ทีวีช่องนี้ออกอากาศเพียงสถานีเดียว ยอดการเข้าชมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

การกำเนิดของ “ทีเอ็มทีวี” จากค่ายฮัมซะห์ ของ “อาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข”  ในปี 2554 แม้จะทำให้เกิดความหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่การที่ “ทีเอ็มทีวี” แพร่ภาพผ่านดาวเทียม NSS6 ที่ต้องใช้หัวรับสัญญาณอีกตัว หรือไม่ก็ต้องรับชมผ่านจานส้ม (จานเล็ก) ทำให้ทีเอ็มทีวี ไม่ได้ส่งกระทบต่อ ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ เท่าใดนัก

“ทีเอ็มทีวี”  มีการเปลี่ยนผ่านหลายครั้ง จาก อาจารย์ราชันย์  ฮูเซ็น มาเป็น อาจารย์ประเสริฐ  มัสซารี สุดท้าย ฟูอ๊าด อยู่เป็นสุข ต้องลงมาลุยเอง โดยหลังจากอีก 3 ช่องออกอากาศและแพร่ภาพผ่านดาวเทียมไทยคมหรือจานดำ TMTV ก็ได้ย้ายจากจานเล็กมาเป็นจานดำที่มีฐานคนดูมากกว่า

ส่วน “ยาตีมทีวี” เป็นช่องทีวีของกลุ่ม “มูลนิธิศรัทธาชน” มี “อัชอารีย์ เรืองปราชญ์” เป็นผู้อำนวยการสถานี กลุ่มนี้โตมาจากการช่วยเหลือเด็กกำพร้า และหวังว่า การมีโทรทัศน์เป็นของตัวเองจะช่วยให้การระดมทุนสะดวกขึ้น

ช่องถัดมาคือ “ไวท์แชนแนล” ของกลุ่ม “อิสลามเพื่อสันติ” ที่มี “เชคริฎอ อะหมัด สมะดี” เป็น แกนนำ เติบโตมาจากแนวทางการเผยแพร่ศาสนาของเชคริฎอที่มีผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่งและมี ทุนสนับสนุนจากบางหน่วยงาน กลุ่มนี้จึงคิดว่า การมีโทรทัศน์จะช่วยให้การทำงานตามแนวทางของตัวเองจะสะดวกขึ้น

ในขณะที่ “ไอบีทีวี” เป็นสถานีมุสลิมที่แยกตัวออกไปชัดเจน ไม่สนคอนเทนต์ที่เป็นมุสลิม แต่มุ่งไปสู้ สถานีข่าว รองรับการเติบโตของผู้ก่อตั้งคือ “สามารถ ทรัพย์พจน์” นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงของวงการมุสลิม ที่มีเข็มมุ่งสู่เส้นทางการเมือง แต่เสียดายที่ช่วงกำลังรุ่งโรจน์ เขากลับไปสู่ความเมตตาของพระเจ้าเสียก่อน

แนวการทำการตลาด ทั้ง ยาตีมทีวี ไวท์์แชนแนล และ ทีเอ็มทีวี นั้นแทบไม่แตกต่างกันนัก และเป็นการเดินตามแนวทางที่ “มุสลิมไทยแลนด์” ทำมาก่อน  คือ เน้นการจัดอีเวนต์ตามงานมัสยิด ตามจังหวัดที่มีมุสลิม หนาแน่น โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การกำเนิดของโทรทัศน์มุสลิม 5 ช่อง อีกด้านหนึ่งเป็นการฉีกแนวทางการทำสื่อของมุสลิม ที่เคยมีแค่การทำสื่อผ่านทางวิทยุเอเอ็ม และผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ แต่รูปแบบการนำเสนอไม่ได้แตกต่างไปจากการทำวิทยุมากนัก นั่นคือ “การนั่งพูดผ่านจอ” ซึ่งจะต่างกันก็ที่เห็นหน้าพิธีกรเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การกำเนิดของทีวี 5 ช่อง กลับไม่ได้ตอบสนองสื่อวิทยุเดิมเลย เพราะต่างมีแนวทางของตัวเอง เหมือนเป็นการปิดกั้นสื่อเดิม ไล่ไปตั้งแต่ “ยาตีมทีวี” ที่เน้นเผยแพร่คำสอนศาสนาตามแนว “วะฮาบีย์” ไม่ต่างจาก “ทีเอ็มทีวี”  และ “ไวท์แชนแนล” ที่มีกฎระเบียบค่อนข้างเข้มงวดตามแนวซุนนะห์  ผู้หญิงห้ามออกทีวี เป็นต้น

ความจริงแล้ว ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ ก็เดินตามแนวนี้มาก่อน แต่มีปัญหาที่ตัวผู้บริหารช่องมีท่าที “กลับไปกลับมา” วันหนึ่งอาจจะโจมตีจุฬาราชมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการจัดงานเมาลิด แต่ต่อมาก็กลับตรงกันข้าม เป็นต้น

สรุปแล้ว แนวทางของทั้ง 4 ช่อง ก็คือ “พวกใหม่” ตามความเข้าใจของชาวบ้าน!!

ขณะเดียวกัน สื่อวิทยุเดิมเอง ก็พยายามเข้าหาสู่ช่องทางดังกล่าว แต่ไม่อาจเข้าถึงได้ จึงมีปฏิกิริยาที่สื่อเหล่านี้ จะรวมตัวไปเปิดสถานีแห่งใหม่บ้าง กลุ่ม “สายเดิม” จะเปิดสถานีใหม่บ้าง แต่เรื่องก็เงียบหายไป

จึงกล่าวได้ว่า ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นจากการกำเนิดของสถานีมุสลิม คือ การก่อให้เกิดปฏิกิริยาขัดแย้งในสังคมมุสลิมเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์สังคมมุสลิม ให้ข้อคิดว่า แต่เดิมสังคมมุสลิมมีความแตกแยกกันในเรื่องของหลักการศาสนาเกิดในหลายชุมชน หลายหมู่บ้าน

“กลุ่มใหม่” ที่เรียกตัวเองว่า “ซุนนะห์” แยกไปตั้งมัสยิดใหม่ ในหมู่บ้าน แยกกันทำละหมาด ในขณะที่ “กลุ่มเดิม” ไม่ได้เห็นคล้อยตามแนวทางของคนกลุ่มนี้  เพราะมองว่า เป็นกลุ่มที่สร้างความแตกแยก เพราะถ้าตามซุนนะห์นบี จะต้องสร้างความสมานฉันท์ตามที่นบีทำเป็นตัวอย่าง

และเมื่อกลุ่มที่ชาวบ้านเรียกว่า “กลุ่มใหม่” ตั้งสถานีโทรทัศน์ แนวทางที่กลุ่มนี้เผยแพร่ก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์มุสลิม แทนที่จะแนะแนวทางที่ถูกต้อง

“แนวทางเช่นนี้ ทำให้ผู้ชมจำนวนมาก ปิดสถานี เลื่อนไปดูช่องอื่นแทน ที่มั่นคงอยู่กับช่องมีน้อยมาก ประกอบกับคอนเทนต์ที่อาจารย์นั่งพูด ไม่ต่างกับการจัดวิทยุ ถ้าไม่ใช่แฟนประจำจริงๆ ก็ไม่ดู หลายคนสะท้อนให้ฟังว่า เปิดดูนิดหน่อยก็ปิด เพราะไม่ชอบให้ถูกด่า ถูกว่า”

“และมีอีกเรื่องที่แปลกแต่จริง ก็คือ ทีวีมุสลิมส่วนใหญ่ มุ่งแต่โจมตีกลุ่มชีอะห์ แต่กลับกลายเป็นว่า กลุ่มชีอะห์เติบโตขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในภาคใต้ มีมัสยิดชีอะห์เกิดเพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว เท่าที่ทราบ มีการรับเงินมาจากต่างประเทศ เพื่อให้โจมตีชีอะห์” นักวิเคราะห์สังคมมุสลิมให้ข้อมูล

ทั้งนี้ การหารายได้ ของทีวีมุสลิม ส่วนใหญ่เน้น การโฆษณา การจัดอีเวนต์ และการขายสินค้า ซึ่งทั้ง “ยาตีมทีวี” และ “ทีเอ็มทีวี”  บริหารในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือ การมีแบรนด์สินค้าไปออกบูธ และจัดอีเวนต์

ส่วน “ไวท์แชนแนล” จะเน้นการจัดอีเวนต์ เน้นการระดมทุน และพยายามที่จะเข้าไปบริหารพื้นที่แอมเวย์บริเวณ ย่านบางกะปิ แต่สุดท้าย ต้องจ่ายเดือนละ 1 ล้านบาท ก็ไปไม่รอดต้องคืนพื้นที่ไปในที่สุด

ทว่า การหารายได้ด้วยการจัดงานอีเวนต์บางครั้งก็มีปัญหาไล่หลัง เช่น กรณีที่บางช่อง ไปเสนองานจัด อีเวนต์กับส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ปรากฏว่าผลงานออกมาไม่น่าประทับใจ ว่ากันว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่ไป 2-3 คน ก่อนหน้างานเพียง 2-3 วัน  กระทั่งเจ้าของงานถึงกับบนบานว่า จะไม่ให้ค่ายนี้จัดอีกแล้ว  หรือการจัดงานแสดงสินค้า บางช่องก็มีการชิงจัด “ตัดหน้า” ของบางกลุ่มอีก

ความเป็นซุนนะห์ของนบี จึงหายวับไปไม่เหมือนที่พูด !!

อย่างไร ก็ตาม แต่ละช่องก็พยายามสร้างจุดขายให้กับตัวเอง อย่าง ไวท์แชนแนล ก็ดึง “โต ซิลลี่ฟูล” เข้ามาร่วมงาน แต่ทำไปทำมา กลายเป็นติดบ่วงบางอย่าง

ส่วน “ยาตีมทีวี” ยังคงเน้นการช่วยเหลือเด็กกำพร้า แต่ก็มีปัญหาที่ เงินบริจาคส่วนใหญ่คนบริจาคจะเน้นให้เด็กกำพร้า มีน้อยที่ให้ทีวี ทำให้ทีวีเกือบทั้งหมดยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องวิ่งหาเงิน จนบางครั้ง “ความเป็นซุนนะห์” หายไปบ้างก็ต้องยอม

สำหรับ “ไอบีทีวี” ซึ่งเดิมที สามารถ ทรัพย์พจน์ ต้องการใช้เป็นฐานทางการเมือง แต่เมื่อสิ้นสามารถ คนที่ดำเนินการต่อ คือ ลูกชายที่ชื่อ “คอลิด” หรือ “วิสูตร ทรัพย์พจน์”

แต่ ด้วยความที่คอลิด ยังเด็กเกินไป ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารกิจการมาก่อน ส่วนใหญ่ทำงานภายใต้ร่มเงาของพ่อ การตัดสินใจจึงขาดความเด็ดขาด ทำให้คอนเทนต์ของไอบีทีวีไม่เหมือนสมัยที่ “สามารถ” ยังอยู่ มีรายการเด่นๆ เพียง 2-3 รายการ โฆษณาจึงเข้าน้อย ต้องเน้น การขายยา พยุงให้สถานีเดินต่อไปได้

มี ข่าวว่า มีคนมากมายเดินเข้าหา เพื่อนำเสนอทั้งรายการและเงื่อนไขอื่นๆ แต่ถูกปฏิเสธ ทั้งที่ช่องนี้ มีโอกาสเติบโตสูงเพราะไม่มีกรอบปิดกั้นเหมือนช่องมุสลิมอื่น แต่เสียดายที่โอกาสเหล่านี้ต้องหายไป

สถานการณ์ ปัจจุบัน แม้แต่ละช่องพยายามสร้างจุดเด่นและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าไปพิจารณาที่เรตติ้งก็น่าตกใจที่จะเห็นว่า จำนวนคนดู “มีน้อยมาก” เมื่อเปรียบเทียบกับคำโฆษณา !!

โดย ปัจจุบัน PSI ผู้จำหน่ายจานดำหลัก ครอบคลุม 70-80% ของผู้ชมได้ทำแบบสำรวจเรตติ้งแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถเรียกดูได้ผ่านเว็บไซต์ www.psiviewing.com ปรากฏว่า ในส่วนสถานีโทรทัศน์มุสลิมนั้นมีเรตติ้งต่ำอย่างน่าใจหาย

“พับลิกโพสต์” ได้ตรวจสอบ เรตติ้งในรอบ 3 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า

“ทีวี มุสลิมไทยแลนด์” เดือนพฤษภาคม กราฟสูงสุดประมาณ 5,000 คน ซึ่งมีอยู่วันเดียว ที่เหลืออยู่ระดับศูนย์ถึง 2,000 คน เดือนเมษายน มียอดคนดูสูงสุด 7,000 คน วันเดียว 6,000 คน 2 วัน ลดหลั่นลงไป 4,000 คน 2,000 คน และต่ำติดกระดาน เดือนมีนาคม มียอดคนดูสูงสุด 8,000 คน คน ในวันที่ 21 จำนวน 7,000 คน 2 วัน เฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน

“ยา ตีมทีวี” เดือนพฤษภาคม มียอดคนดูสูงสุด 6,000 คน 1 วัน  ที่เหลืออยู่ในระดับ 1,000-3,000 คน ในเดือนเมษายน คนดูในระดับ 5,000-6,000 มีจำนวน 3-4 วัน เฉลี่ยประมาณ 3,000 คน
ทีเอ็มทีวี ในเดือนพฤษภาคม ระดับคนดู 6,000 คน มากกว่าช่อง  ยาตีมทีวี และ มุสลิมไทยแลนด์ ใกล้เคียงกับ ไวท์แชนแนล

ใน ขณะที่ “ไอบีทีวี” ซึ่งนำเสนอคอนเทนต์แบบทั่วไป มีคนดูเฉลี่ย มากกว่า 10,000-30,000 คน ยกตัวอย่างในเดือนพฤษภาคม ระดับคนดูสูงสุด 27,000 คน เฉลี่ยที่ระดับ 15,000 คนต่อวัน เดือนเมษายน คนดูสูงสุด 25,000 คน เฉลี่ย ประมาณ 9,000- 12,000 คนต่อวัน

ข้อมูลเหล่านี้เป็นสถิติที่นำมาจากเวบไซต์ของ PSI (บุคคลธรรมดาสามารถเข้าดูที่ http://www.psiviewing.com/psirating โดยใช้ username = psi, รหัสผ่าน = psi) ซึ่งเป็นข้อมูลการเข้าชมผ่านทางจาน PSI เท่านั้นส่วนยอดการเข้าชมผ่านช่องทางอื่นๆ นั้นไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้

แต่ เพียงเท่านี้ ก็คงจะสะท้อนให้เห็นได้บางประการว่า การลงทุนช่องโทรทัศน์มุสลิมเดือนละ เกือบ 2 ล้านบาทต่อช่อง ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี รวม 5 ช่องประมาณ 100 ล้านบาทต่อปีนั้น คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่??