เกิดข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับโครงสร้างของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีองค์ประกอบสามหลักที่ประกอบเข้าด้วยกัน นั่นคือ หลักศรัทธา(อีหม่าน) หลักปฎิบัติ(อิสลาม) และหลักเอี๊ยะซาน เป็นการออกแบบโครงสร้างอิสลามที่ประกอบขึ้นจากจิตสำนึกแห่งการยอมรับและศรัทธา การ รู้รัก/เคารพกฎกติกา และการมองมุมบวก/สร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามให้เกิดขึ้น
องค์ความรู้ของอิสลามนั้นถูกอ้างอิงจากสี่แหล่งความรู้ คือ อัลกุรอาน อัลหะดิษ อัญมาอฺอุลามาอฺ และอัลกิยาส อันเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญชองอิสลาม แต่ปัญหาที่พบเห็นในสังคมมุสลิมปัจจุบัน คือ เราไม่สามารถสอดใส่ความฉลาดของอิสลามลงไปสู่ความฉลาดของคนมุสลิมและสังคมมุสลิมได้ สังคมมุสลิมมีปัญหากับความฉลาดของตัวเองที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถนำองค์ความรู้ที่เรียกว่าวิชาฟิกฮ์มาสร้างสรรค์สังคมโดยรวมได้ ฟิกฮ์ถูกสอนในแนวยึดติด (อะซอบียะห์) มากกว่าการสอนให้อยู่ร่วมกันให้ได้อย่างสวยงามบนความแตกต่างหลากหลาย ซึ่ง ณ ปัจจุบันฟิกฮ์ที่แปลว่าความฉลาด กำลังกลายเป็นความโง่เขลาเมื่อนำมาใช้จริงกับชีวิตและสังคม เพราะพูดคุยกันในเรื่องของฟิกฮ์ไม่ได้ แล้วสังคมมุสลิมจะเป็นสังคมที่ฉลาดได้อย่างไร ในเมื่อไม่สามารถพูดถึงความฉลาดของตัวเองในสังคมของตัวเองได้
และเมื่อพูดถึงเรื่องหลักศรัทธาของอิสลามก็เห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนขึ้นว่า เตาฮีดที่แปลว่าความมีเอกภาพ กำลังกลายเป็นความแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อนำมาใช้จริงกับสังคม เพราะพูดเรื่องเตาฮีดไม่ได้ แล้วสังคมมุสลิมจะเป็นสังคมที่มีความเป็นเอกภาพได้อย่างไร ในเมื่อไม่สามารถพูดถึงความเป็นเอกภาพของตัวเองในสังคมของตัวเองได้
ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นปราฏกการณ์จริงที่กำลังทำลายโครงสร้างของอิสลามในสังคม ค่อยๆ บ่อนเซาะทำลายโครงสร้างทีละเล็กทีละน้อย ทำให้ตั้งตรงไม่ได้ จึงเป็นไปได้ไหมว่า สังคมมุสลิมอ่อนแอเพราะองค์ความรู้ของตัวเอง เป็นปัญหาภายในมากกว่าการกล่าวอ้างถึงบุรุษที่สามที่สี่หรือที่ห้า
ยิ่งมองปรากฏการณ์โลกมุสลิมแล้ว ยิ่งเห็นภาพดังกล่าวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ตะวันออกกลางถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งในศาสนจักรยุคใหม่ที่น่ากลัวระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ และในเอเชียเองก็กำลังถูกดึงเข้าสู่ปัญหาทางชาติพันธ์ ชาวโรฮิงญา ชาวมลายู ชาวเกาะ ชนกลุ่มน้อย เป็นปัญหาของอาเซียนในอนาคต
การตั้งรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นตัวท้าทายศักยภาพของศาสนาทุกศาสนาที่ผสมผสานอยู่ในสังคม สังคมนั้นมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าศาสนา จะทำอย่างไรให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยศาสนาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่สังคมต้องร่วมกันสร้างขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันศาสนากำลังถูกท้าทาย ไม่ใช่ท้าทายระบบการปกครองรูปแบบใดที่มนุษย์คิดสร้างสรรค์ขึ้น แต่ท้าทายวิธีการ/วิถีคิดของตัวศาสนาเองว่าจะบรรเทาปัญหาของสังคมได้มากน้อยเพียงใด ศาสนาจะมีบทบาทนำสังคมได้มากน้อยเพียงใด ศาสนาจะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงปัจเจกและสังคมได้มากน้อยเพียงใด
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในหลักคิดทางศาสนา ซึ่งในแต่ละศาสนานั้นกำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาเดียวกันนี้ กล่าวคือ ศาสนาใดจะถูกยอมรับในสังคม ศาสนาใดที่สร้างความสันติภาพแก่สังคม ศาสนาใดที่มาเติมเต็มความดีงามของสังคมอย่างเหมาะสมและสมดุลย์ เหมือนจะบอกว่าศาสนาในอนาคตนั้น นอกจากมีคนนับถือแล้วยังต้องสร้างความสมดุลย์และความเหมาะสมกับสังคมด้วย เพราะหากปล่อยให้สังคมดำเนินไปตามพลวัตรทางสังคม และศาสนาดำเนินไปตามหลักคิดทางศาสนาแบบแยกส่วนแล้ว เป้าหมายและความหมายของศาสนาที่เกิดขึ้นมามากมายในโลกนี้ ก็ล้วนต้องการให้ศาสนาได้ผสมกลมกลืนกับสังคมโดยไม่แยกออกจากกัน
วันนี้สังคมป่วยหรือศาสนาป่วยเป็นคำถามปลายเปิด สังคมป่วยยังใช้ศาสนามาช่วยกล่อมเกลา ได้ แต่หากศาสนาป่วยจะใช้อะไรในการรักษาเยียวยา หากปล่อยให้สังคมถูกแยกส่วนออกจากศาสนา ด้วยการสร้างกระแสศาสนาให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว ซึ่งในปัจจุบันภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เห็นจนชินตาไปทั่วโลก เหมือนยุคหนึ่งที่สังคมไล่ล่าคอมมิวนิสต์ ไล่ล่าสังคมนิยม ไล่ล่าเผด็จการ ฯลฯ ซึ่งเป็นความน่าเกลียดน่ากลัวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำลายและแทรกแซงซึ่งกันและกัน