วันที่ 1 มกราคม 2560 คือวันแรกที่ฮาลาลไทยเริ่มดำรงฐานะสมาชิกสามัญของสถาบันมาตรฐาน และมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม องค์การความร่วมมืออิสลาม (SMIIC/OIC) อย่างเต็มรูปแบบ อันเป็นฝีมือการผลักดันจากทีมฮาลาลไทย
โดยระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ทีมฮาลาลประเทศไทย ประกอบด้วย ดร.วินัยดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาลประเทศไทย และพล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปร่วมประชุม SMIIC ที่ สำนักงานใหญ่ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
SMIIC หรือ Standard and Metrology Institute for Islamic Countries เป็นหน่วยงานด้านมาตรฐานและมาตรวิทยา ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC)
ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 ของ SMIIC (The 10th General Assembly of SMIIC) ครั้งนี้ได้มีการประกาศให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์กร และนับเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมซึ่งได้ถูกรับรองให้เป็นสมาชิกขององค์กรภายใต้โอไอซีแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นเป็นเกียรติยศอย่างสูงของวงการฮาลาลประเทศไทย
นอกจากนั้น SMIIC จะใช้กระบวนการรับรองฮาลาลของประเทศไทยเป็นแนวทาง เนื่องจากประเทศไทยมีกระบวนการใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ฮาลาลสูง ตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ”
ทั้งนี้ วันที่ 1 มกราคม 2560 คือวันแรกที่ฮาลาลประเทศไทยเริ่มดำรงฐานะสมาชิกสามัญของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม องค์การความร่วมมืออิสลาม (SMIIC/OIC) อย่างเต็มรูปแบบ
ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ของ OIC แต่ก็ไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมหน่วยงานด้านมาตรฐานและมาตรวิทยาของ OIC ที่มีชื่อว่า SMIIC ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาด้านการส่งผลิตภัณฑ์เข้ากลุ่มโอไอซี 57 ประเทศ ทว่าเมื่อได้เข้าเป็นสมาชิกแล้วปัญหาดังกล่าวก็จะหมดไป
ในการแถลงข่าวจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2016” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดร.วินัย ดะห์ลัน บอกว่า “ปัจจุบันไทยมียอดส่งออกสินค้าฮาลาลเกือบ 400,000 ล้านบาทต่อปี”
“ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าเกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ล้วนไม่ใช่มุสลิม ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากอุตสาหกรรมฮาลาลจึงตกอยู่กับประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น” ดร. วินัยกล่าว
ดร.วินัยยังกล่าวถึงการต่อต้านฮาลาลจากคนไทยบางกลุ่มว่า “การต่อต้านไม่เห็นด้วยกับฮาลาลจึงหมายถึงการกำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง”
อนึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศเดินหน้าผลักดันแผนปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลระยะ 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) เพื่อต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลกติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 13 ของโลก