ราวปี ค.ศ. 570 เด็กน้อยที่ได้รับการตั้งชื่อว่า “มูฮัมหมัด” ผู้ที่จะมาเป็นศาสดาของหนึ่งในศาสนาที่สำคัญของโลก ได้ถือกำเนิดมาในครอบครัวที่มาจากเผ่า “กุเรช” เผ่าที่ปกครองเมือง “เมกกะห์” ในดินแดน “ฮิยาซ” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอารเบีย
ดินแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งดั้งเดิมของ “กะบะห์” ศาสนสถานที่มีมาแต่โบราณ และท่ามกลางความเสื่อมถอยของอารเบียตอนใต้ เมืองเมกกะห์ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในศตวรรษที่ 6 ซึ่งมีอิทธิพลเสมือนเช่นจักรวรรดิแซสซานิด ไบเซนไทน์ และเอธิโอเปีย อันทำให้เมืองถูกปกครองภายใต้อำนาจของวงศาพ่อค้าวาณิช ซึ่งในหมู่วงศาดังกล่าวนั้นผู้คนจากเผ่า “กุเรช” โดดเด่นที่สุด
บิดาของมูฮัมหมัดชื่อ “อับดุลเลาะห์” บุตรของ “อับดุลมุตตอลิบ” เขาเสียชีวิตก่อนที่มูฮัมหมัดจะถือกำเนิด ส่วนมารดาชื่อ “อามีนะห์” นางเสียชีวิตตอนที่เขาอายุเพียง 6 ขวบ เด็กน้อยผู้กำพร้าถูกนำกลับไปสู่การดูแลของ “อับดุลมุตตอลิบ” ผู้เป็นปู่และเป็นหัวหน้าตระกูล “บานีฮาชิม” ซึ่งหลังปู่เสียชีวิตมูฮัมหมัดก็ถูกเลี้ยงดูโดยลุงที่ชื่อ “อาบูตอลิบ”
และดั่งเช่นธรรมเนียมปฏิบัติ เด็กน้อยมูฮัมหมัดถูกส่งไปใช้ชีวิต 2 ปีอยู่กับครอบครัวชาวเบดูอิน ขนบประเพณีนี้ยังคงถูกเจริญรอยตามแม้กระทั่งในระยะหลังเมื่อไม่นานมานี้ โดยครอบครัวชั้นสูงจากเมืองเมกกะห์ มาดีนะห์ ตออีฟ และเมืองอื่นๆ ในดินแดนฮิยาซ
นัยสำคัญของการไปอยู่กับชนเผ่าเบดูอินของมูฮัมหมัดนั้นนอกจากซึมซับความอดทนในการใช้ชีวิตที่ยากลำบากท่ามกลางทะเลทราย เขายังได้รับรสนิยมทางภาษาอันรุ่มรวยของชาวเบดูอิน ซึ่งทำให้เขาได้รับการชื่นชมจากชาวอาหรับที่ภูมิใจกับศิลปะทางภาษาของพวกเขา และเช่นเดียวกับที่เขาได้เรียนรู้การอดทนและการข่มใจของคนเลี้ยงสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในความสันโดษที่เขาได้มีประสบการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในชีวิต อันนำมาซึ่งความเข้าใจและเคารพนับถือ
ราวปี ค.ศ. 590 มูฮัมหมัดในวัย 20 ปี ได้เข้าทำงานให้กับวาณิชหญิงหม้ายที่ชื่อ “คอดียะห์” เขามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับกองคาราวานที่ไปค้าขายทางทิศเหนือ ต่อมาภายหลังเขาได้แต่งงานกับนาง และมีลูกกับนาง เป็นบุตร 2 คน (ซึ่งต่อมาเสียชีวิต) กับธิดา 4 คน
ในวัย 40 ปี มูฮัมหมัดเริ่มปลีกตัวไปทำสมาธิตรึกตรองในถ้ำบนภูเขา “ฮิรอห์” ซึ่งอยู่นอกเมืองเมกกะห์ อันเป็นสถานที่แรกซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญในอิสลาม โดยวันหนึ่งขณะที่มูฮัมหมัดนั่งอยู่ในถ้ำ เขาก็ได้ยินเสียงซึ่งถูกระบุภายหลังว่าคือเสียงของยิบรออีล (ทูตกาเบรียล) ที่สั่งเขาว่า :
“จงอ่านในพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ซึ่งทรงสร้าง ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด” (กุรอาน 96 : 1-2)
สามครั้งที่มูฮัมหมัดกล่าวว่าเขาไร้ความสามารถที่จะทำเช่นนั้น แต่ทุกครั้งก็มีคำสั่งซ้ำ สุดท้ายมูฮัมหมัดก็ได้ท่องคำพูดที่บัดนี้ก็คือ 5 โองการแรกของบทที่ 96 แห่งคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นคำประกาศว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์และเป็นแหล่งความรู้ทั้งหมด
“จงอ่านในพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ซึ่งทรงสร้าง
“ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด”
“จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเกียรติยิ่ง”
“ผู้ทรงสอนด้วยปากกา”
“ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”
(กุรอาน 96 : 1-5)
ในตอนแรกมูฮัมหมัดเปิดเผยประสบการณ์ของเขาเฉพาะแก่ภรรยาและผู้ใกล้ชิด แต่ต่อมาก็มีโองการเพิ่มเติมสั่งให้เขาประกาศความเป็นเอกะของพระเจ้าต่อทุกคน ผู้เจริญรอยตามเขาในตอนเริ่มแรกมาจากคนจนและทาส แต่เวลาต่อมาก็มีมาจากผู้ที่มีชื่อเสียงของนครเมกกะห์ด้วย โองการที่เขาได้รับในช่วงนี้รวมถึงในภายหลังถูกรวบรวมทั้งหมดไว้ใน “กุรอาน” คัมภีร์แห่งศาสนาอิสลาม
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับสาส์นแห่งพระเจ้าที่ถูกถ่ายทอดผ่านมูฮัมหมัด แม้กระทั่งคนในตระกูลของเขาเองก็มีผู้ที่ปฏิเสธคำสอนของเขา และพ่อค้าวาณิชมากมายที่ได้ต่อต้านสาส์นนี้อย่างแข็งขัน กระนั้น การถูกต่อต้านมิได้ยังประโยชน์ใด ทว่ายิ่งทำให้มูฮัมหมัดมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามได้รับมอบหมายและเผยแผ่ว่าอิสลามแตกต่างจากลัทธินอกศาสนา (paganism) อย่างไร ความเชื่อใน “เอกะ” ของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในศาสนาอิสลาม จากจุดนี้ทุกอย่างนอกจากพระเจ้าล้วนเป็นสิ่งใหม่และมาทีหลังพระองค์ กุรอานหลายโองการเน้นย้ำถึงความเอกะของพระเจ้า เตือนบรรดาผู้ปฏิเสธเกี่ยวการถูกลงโทษ และประกาศถึงความเมตตาของพระองค์ที่มีอย่างไร้ขีดจำกัดให้กับผู้ที่ยอมจำนนต่อพระองค์ ย้ำเตือนถึงวันพิพากษาครั้งสุดท้าย (วันฟื้นคืนชีพ) เมื่อพระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาตัดสินตามความศรัทธาและผลงานของแต่ละคน ผู้ซื่อสัตย์จะได้รับรางวัลและผู้ละเมิดจะได้การลงโทษ เพราะกุรอานปฏิเสธการตั้งภาคีและเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมของมนุษย์ ซึ่งในภาพที่มีประสิทธิภาพการจะนำเสนอเรื่องโลกหลังความตายเป็นสิ่งท้าทายต่อบรรดาชาวเมกกะห์ที่ยึดอยู่กับโลกียวิสัย
อ้างอิง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: