Siasat – ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เผย อินเดียร่วมกับบราซิลเป็นประเทศส่งออกเนื้อรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2016
นับตั้งแต่รัฐบาลของ นายนาเรนทรา โมดี เข้ามามีอำนาจ อินเดียได้กลายเป็นประเทศผู้จัดจำหน่ายเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปี 2015 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งเนื้ออันดับหนึ่งของโลก และในปี 2016 ก็ยังคงรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกเนื้อรายใหญ่ที่สุดของโลกร่วมกับประเทศบราซิล
โดยปีที่ผ่านมาอินเดียส่งออกเนื้อควาย (carabeef) เป็นจำนวน 1,850 ตัน ทั้งนี้นิยามของเนื้อ (beef) ในอินเดียนั้นยังเป็นที่สับสน ส่วนกรมวิชาการเกษตรสหรัฐฯ ได้จัดเนื้อควายอยู่ในประเภทเดียวกับเนื้อ
อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย รวมกันแล้วคิดเป็น 66% ของผู้ส่งออกเนื้อทั่วโลก ในขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้าเนื้อมากที่สุดของโลก ตามมาด้วยญี่ปุ่น รัสเซีย และเกาหลีใต้
ในงบการเงินปี 2015-16 อินเดียมีรายได้รวมจากการส่งออกเนื้อควายเป็นเงิน 26,682 ล้านรูปี
อินเดียในตำแหน่งผู้ส่งออกเนื้อควายอันดับหนึ่งของโลกเป็นเรื่องย้อนแย้งเมื่อพิจารณาว่าการฆ่าควาย (รวมทั้งการฆ่าวัว) นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายอย่างน้อยใน 4 รัฐของอินเดีย (รัฐจัณฑีครห์ รัฐฉัตติสครห์ รัฐหิมาจัลประเทศ รัฐชัมมูและแคชเมียร์)
การละเมิดข้อห้ามดังกล่าวมีบทลงโทษอย่างหนัก
ในรัฐฉัตติสครห์นั้น การฆ่า/ครอบครองเนื้อควาย หรือขนส่ง/ส่งออกไปยังรัฐอื่นจะถูกจำคุก 7 ปี ปรับถึง 50,000 รูปี ส่วนในรัฐหิมาจัลประเทศการฆ่าสัตว์ดังกล่าวมีโทษจำคุก 5 ปี ขณะที่ในรัฐชัมมูและแคชเมียร์ การฆ่าวัวหรือควายจะถูกปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสัตว์นั้นๆ