บันฑิตย์ สะมะอุน : มุมมองต่อปมประวัติศาสตร์ “สยาม-ปัตตานี”

ปืนใหญ่พญาตานีซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ โปรดเกล้าฯ ให้นำมาไว้ที่กรุงเทพฯ หลังปราบปัตตานีได้สำเร็จ (ปืนใหญ่ที่ยึดมาเดิมมีสองกระบอก แต่กระบอกหนึ่งชื่อ “ศรีนัครี” ได้จมไปพร้อมกับเรือที่บรรทุกมาหลังเจอพายุ (ภาพจากเว็บไซต์หนังสือศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com)

ปัญหาหนึ่งของมุสลิมในสังคมไทยในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้  คือ ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย  เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยิ่งแก้อาจยิ่งยุ่ง หากยังขาดความจริงใจ/การให้เกียรติ/การยอมรับความจริงของกันและกัน 

ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ การแก้ไขกับปัญหานี้ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดสร้างความพึงพอใจกับประชาชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้  ทำไมถึงไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งที่ในความเป็นจริงที่เห็นนั้น พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเติบโตด้วยโครงการมากมายที่ทุ่มลงไปพัฒนาพื้นที่อย่างมากมาย เหมือนจะบอกว่า ปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ยอมรับได้แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบประมาณดังกล่าวได้ลงไปเติมเต็มความขาดแคลนของคนในพื้นที่  แต่การแก้ไขปัญหาภายนอกโดยไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาภายใน อาจทำให้เกิดการบ่มเพาะปัญหาภายในให้เดือดพล่านรอวันที่จะแตกดับก็นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ปัญหาภายในของสังคมมุสลิมไม่ได้รับการแก้ไขและพัฒนา ปัญหามุ่งเน้นไปยังเรื่องภายนอกซึ่งมักเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องงบประมาณ เพราะเน้นในเรื่องปัญหาภายนอกมากจนเกินไป และงบประมาณที่ไม่ตรงเป้าหมาย อาจสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา

ปัญหาภายในคือปัญหาของหัวใจ ความรู้สึก อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรีเกียรติยศ การยอมรับ และความจริงใจ เป็นปัญหาภายในระหว่างประชาชนกับประชาชน และระหว่างประชาชนกับรัฐ

ปัญหาระหว่างประชาชนในพื้นที่กับรัฐนั้นดูจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมายาวนาน แต่ปัญหาภายในที่จะเกิดขึ้นนั้นคือปัญหาระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะประเด็นทางประวัติศาสตร์   

ปัตตานีซึ่งเคยเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เคยมีความสัมพันธ์กับสยามในด้านต่างๆมาอย่างยาวนาน ประวัติศาสตร์มักเล่าเรื่องระหว่างสยาม-ปัตตานีอย่างเคียดแค้น อาฆาต ซึ่งบางเรื่องต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่อาจเกิดจากความไม่รู้หรือไม่ตระหนักถึงเกียรติของกันและกัน  ก็ควรต้องได้รับการแก้ไขไปตามจริงที่ปรากฏชัด

แต่เมื่อมองอีกมุมจะเห็นถึงความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างราชวงศ์กษัตริย์กับราชวงศ์มุสลิมในอดีต หรือระหว่างสยาม-ปัตตานี ซึ่งรวมถึงไทรบุรีและกลันตันด้วย มุสลิมเคยมีความสัมพันธ์จนได้รับความไว้วางใจให้ถือตำแหน่งถึงขั้นเป็นปรึกษาของกษัตริย์มาอย่างน้อยในยุคสมัยอยุธยา  จะเห็นว่ามุสลิมนั้นมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์มายาวนาน

ยิ่งศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยด้วยแล้ว จะเห็นว่ามุสลิมมีส่วนสำคัญในการรักษาบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ความดีงามเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่ควรจะกล่าวบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทย ความจริงที่เกิดจากการยอมรับความจริงนั้นได้สร้างเกียรติยศให้กับประชาชนในชาติไทยไม่ว่าจะเป็นคนจากชาติพันธ์เผ่าพันธ์ใดก็ตาม

กระแสความรู้สึกหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การนำประวิติศาสตร์ไปสร้างความขัดแย้งกับสังคม ด้วยการบิดเบือน/กล่าวเท็จกับประวัติศาสตร์ จึงน่าจะคิดหาทางออกด้วยการสร้างความจริงให้ปรากฏแทนการบิดเบือน/กล่าวเท็จกับประวัติศาสตร์  มองปัญหาในอดีตให้เป็นเพียงเรื่องราวแห่งประสบการณ์ของสังคมที่มีค่ายิ่งที่จะจดจำ  เพราะในนั่นมีศักดิ์ศรีเกียรติยศของมนุษยธรรมรวมอยู่ด้วย

ปมประวัติศาสตร์หนึ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนแก่สังคมได้ดี คือ เรื่องการแบ่งรัฐ/แบ่งเขตปกครอง โดยเฉพาะในยุคที่อังกฤษเข้ามาถึงอ่าวปัตตานีและแหลมไทย เมื่อครั้งที่ไทยต้องยอมเฉือนแบ่งแผ่นดินให้กับอังกฤษเพื่อรักษาเอกราชของตนไว้  แต่เหลือปัตตานีไว้ให้อยู่ในการดูแลปกครองของไทย  ปล่อยให้กลันตัน ตรังกานู  ไทรบุรี ที่ในปัจจุบันอยู่ในกาปกครองของประเทศมาเลเซีย

ปัญหาคือ พื้นที่ที่ถูกเฉือนแบ่งออกไปเป็นของประเทศมาเลเซียนั้น ได้รับอิสระทั้งยังสอดรับกับศาสนาวัฒนธรรมการรวมถึงชาติพันธ์อย่างเหมาะสมลงตัว ประชาชนได้ปกครองตามความเชื่อความศรัทธาของตัวเอง  มีซุลต่านของตัวเองที่ผลัดเปลี่ยนกันห้าปีต่อครั้ง  แต่ปัตตานีกลับมาอยู่ในการดูแลปกครองกับประเทศไทย อยู่กับความแตกต่างจากทั้งลักษณะผู้นำทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม วิถีคิด  อัตลักษณ์ และชาติพันธ์  นั่นเป็นปมปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต(จริงหรืออาจจะจริง) ก็เป็นเรื่องในอดีต ที่คนในปัจจุบันไม่สามารถจะทำการแก้ไขใดๆได้

สังคมที่ตกอยู่ในห่วงอดีตนานๆ และไม่สามารถลอดห่วงนั้นออกมาได้ เป็นสังคมเก็บกดเก็บอารมณ์/ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองไว้ แสดงออกอย่างหลบซ่อน  ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ กับพัฒนาการของสังคมส่วนรวมเลย  ควรปลดปล่อยสังคมให้หลุดพ้นจากพันธนาการอันเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ หลุดพ้นจากอดีตอันเลวร้ายที่คนอดีตกระทำต่อกัน เพราะไม่มีใครสามารถกลับไปแก้ไขปัญหาในอดีตได้ ที่น่าจะทำได้คืออยู่กับวันนี้ในปัจจุบันและทำอนาคตให้ดีที่สุดต่อไป ส่วนอดีตนั้นคือบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคต อย่าให้อดีตกลายเป็นที่บ่มเพาะปัญหาความชัดแย้งในปัจจุบันและอนาคต

ประวัติศาสตร์ที่เน้นเพียงเรื่องความขัดแย้งหรือสงคราม ควรชำระด้วยมุมมองแห่งความสัมพันธ์และความผูกพันธุ์  แต่ต้องคำนึงถึงความจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่บิดเบือน เพราะความจริงคือมาตรฐานแห่งการยอมรับถึงรากเหง้าของปัญหานี้  แม้มันจะขมขื่นโหดร้ายเพียงไดก็ต้องยอมรับมันให้ได้

“และจงกล่าวเถิดว่า ความจริงมาถึงแล้ว และความเท็จย่อมมลายหายไป แท้จริงความเท็จนั้นย่อมมลายหายไปเสมอ”   (อัลกุรอาน ซูเราะห์อัลอิสรอ อายะห์ที่๘๑)