พับลิกโพสต์ – ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สมุทรปราการ นำ อิหม่าม ผู้นำชุมชนมุสลิมจ.สมุทรปราการ 13 มัสยิด พร้อมใจ ตั้งเจตนารมณ์ ลด ละ เลิก บุหรี่ และ ดูแลมัสยิดในชุมชนของตนให้ปลอดพ้นบุหรี่
จาก การอบรม “โครงการประกาศเจตนารมณ์เป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งจังหวัด”ของ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ต.ค.56 ที่ผ่านมา สสม. และนักวิชาการศาสนา รวมทั้งสาธารณสุข จ.สมุทรปราการ ได้จัดกิจกรรม บรรยาย บูรการศาสนาครองตนให้พ้นบุหรี่ โทษภัยของบุหรี่ กฎหมายบุหรี่ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน พร้อมชี้แจงสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ศาสนสถานทุกศาสนาเป็นเขตปลอดบุหรี่ หนึ่งในนั้นคือ “มัสยิด” ด้วย ซึ่งเป็นการลดเนื้อที่ให้ผู้สูบบุหรี่มีพื้นที่สูบในเขตสาธารณะได้แคบลง
และ จากมติการประชุม ประธาน อิหม่าม ผู้นำชุมชนมุสลิม จ.สมุทรปราการ ลงความเห็น น้อมนำ “ศาสนบำบัด” มาแก้ไขปัญหาผู้ติดบุหรี่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ (บอร์ดความรู้ต้านบุหรี่,เสียงตามสาย) คุตบะฮ์เน้นเยาวชนห่างไกลบุหรี่ยาเสพติด (อย่างน้อยเดือนละ1 ครั้ง) กระตุ้นมอบรางวัลแก่ผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เพิ่มข้อการประเมิน “การดูแลมัสยิดของตนให้ปลอดบุหรี่” ของการติดตามประเมินการดูแลมัสยิด พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนผู้ติดบุหรี่ เพื่อต่อยอด “โครงการให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องการเลิกสูบบุหรี่ในมัสยิดปลอดบุหรี่” และขยายต่อไปยังพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดให้ความสำคัญพร้อมหนุนแก้ปัญหาผู้สูบบุหรี่ เชิงบูรณการด้วย
นาย ไพศาล พรหมยงค์ ประธาน คกอ.จ.สมุทรปราการ ให้ข้อสังเกตเป็นแง่คิดว่า “มุสลิมทุกคนที่อดบุหรี่ได้เหมือนกันทั้งหมด คือยึดพระเจ้า(อัลลอฮ์) เป็นหลัก เพราะเขามีความศรัทธา เรียกได้ว่าอิสลามใช้ “ศาสนบำบัด” ในการให้มุสลิมเลิกบุหรี่ เมื่อรู้ว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม เราทำดีทุกอย่าง ยกเว้นยังละสิ่งไม่ดี(บุหรี่)ไม่ได้อยู่อย่างเดียว มันทำลายความดีทั้งหมด เราจะทำอย่างไร”
นาย วีระ มินสาคร ผอ.สสม.ภาคกลาง กล่าวว่า “จากที่เราเคยเข้าใจกันว่า การสูบบุหรี่นั้นเป็นเพียงแค่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ปัจจุบัน สำนักฟัตวาต่างๆของประเทศมุสลิมรวมทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีเอง ก็ได้วินิจฉัย(ฟัตวา)มาแล้วว่า “บุหรี่เป็นที่ต้องห้าม” ฉะนั้น สสม. พยายามเผยแพร่คำฟัตวานี้ให้สังคมได้ทราบโดยทั่ว โดยใช้ มัสยิดเป็นศูนย์กลางและเป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์และการให้ความรู้เรื่อง พิษภัยของบุหรี่และหลักการศาสนา และขยายไปยังชุมชนมุสลิมใกล้มัสยิดด้วย เพื่อให้เป็นสังคม ตัวอย่าง”
“จังหวัด สมุทรปราการ เป็นจังหวัดเป้าหมาย 1 ใน 3 จังหวัดภาคกลางที่ตั้งเป้าหมายว่า เป็นจังหวัดที่สามารถจะประกาศเจตนารมณ์เป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งจังหวัดได้ เนื่องจากผู้นำมีศักยภาพ มีจำนวนมัสยิดไม่มากเกินไป อยู่ใกล้เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถติดต่อประสานงานกันได้อย่างใกล้ชิด” นายวีระ กล่าว
ใน ช่วงท้ายของการอบรม มีการมอบป้าย และบอร์ดประชาสัมพันธ์รณรงค์การไม่สูบบุหรี่แก่อิหม่ามหรือตัวแทนทุกมัสยิด และหลายคนเสนอตนเองมีความตั้งใจเลิกสูบบุหรี่ และบางคนมีความตั้งใจ พยายามจะลด ละ เลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป
(น.ส.เฉลิมขวัญ ศรีบุญเรือง รายงาน)