ยูเอ็น “ยกย่อง” อิหร่าน เป็นประเทศ “ตัวอย่าง” เรื่องการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย

กรุงเตหะราน เมืองหลงอิหร่าน ยามกลางคืน (photo realiran.org)

อินดีเพนเด้นท์ – อิหร่านให้ที่พักพิงแก่ชาวอัฟกานิสถานประมาณ 3 ล้านมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี เรื่องราวแห่งผลสัมฤทธิ์ที่องค์กรระหว่างประเทศระบุว่า “ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงอย่างที่ควร”

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการห้ามเข้าสหรัฐฯ แต่ก็เป็นประเทศที่สหรัฐควรเรียนรู้ให้มากเกี่ยวกับการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ยูเอ็นระบุ

สงครามโซเวียตในอัฟกานิสถานทำให้ประชาชน 6 ล้านคนต้องอพยพมาอยู่ตามแนวชายแดนอิหร่านและปากีสถาน ในปี 1979 สี่ทศวรรษต่อมารัฐบาลอิหร่านยังคงให้ที่พำนักแก่ชาวอัฟกานิสถานประมาณ 1 ล้านคนที่ลงทะเบียน และที่คาดว่าอีกประมาณ 2 ล้านคนที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้ลงทะเบียน ทำให้อิหร่านในวันนี้เป็นประเทศที่มีผู้อพยพมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

“”ความเป็นผู้นำที่แสดงให้เห็นโดยรัฐบาลอิหร่าน เป็นตัวอย่างในการเป็นเจ้าภาพเรื่องผู้ลี้ภัยและการเปิดพรมแดน” นายซิแวนกา ดานาปาลา (Sivanka Dhanapala) ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำกรุงเตหะรานกล่าว

“มันเป็นเรื่องราวที่ไม่ถูกบอกเล่าอย่างที่ควรจะเป็น”

ข้อคิดเห็นนี้มีขึ้นหลังฝ่ายบริหารของทรัมป์พยายามที่จะออกมาตรการห้ามผู้ลี้ภัยจาก 7 ประเทศมุสลิมอีกครั้งและระงับการให้ที่พักพิงใหม่แก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย

มาตรการห้ามรอบ 2 ของทรัมป์ (ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชาวอิหร่าน 1 ล้านคนที่อาศัยและศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ) ถูกสั่งระงับบังคับใช้โดยศาลกลางสหรัฐฯ ในฮาวาย โดยศาลระบุว่ามาตรการดังกล่าวจะนำมาสู่ความเสียหายอย่างไม่อาจแก้ไขได้

เป็นเรื่องน่าขัน นายดานาปาลาตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอิหร่านอาจจะถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ ในขณะที่ยังคงต้องจัดการกับปัญหาด้านมนุษยธรรม อันก่อเกิดจากความขัดแย้งของอเมริกันกับสหภาพโซเวียต

แม้ชาวอัฟกานิสถานซึ่งอาศัยอยู่ในอิหร่าน (โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสาร) มักถูกผลักเป็นคนชายขอบของสังคมที่ขัดสนยากไร้ต้องทำงานประเภทใช้แรงงานทั่วไป และไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นขอสัญชาติ แต่รัฐบาลเตหะรานก็ยังได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นด้านบวก เช่น สั่งให้โรงเรียนดำเนินการรับเด็กชาวอัฟกานิสถานเข้าเรียนทั้งหมด และดำเนินการโครงการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมผู้ลี้ภัย

สหประชาชาติตั้งความหวังว่าประเทศนี้จะช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องการอนุญาตทำงาน และรับลงทะเบียนชาวอัฟกานิสถานที่ไม่มีเอกสารมากขึ้นในอนาคต

พวกเขายังไม่น่าจะกลับประเทศโดยสมัครใจในตอนนี้เหตุเพราะอัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา และเศรษฐกิจของประเทศยังคงซบเซา ทั้งนี้ทั่วโลกระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ลี้ภัยใช้เวลานอกประเทศของตนคือ 20 ปี

“ในโลกที่คุณรับรู้เรื่องไม่ดีมากมายเกี่ยวกับการให้ที่พักพิงผู้ลี้ภัย ผมคิดว่าอิหร่านนั้นคือข่าวดีอย่างแท้จริง (สำหรับเรื่องนี้)” ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำเตหะรานกล่าว