ยุทธศาสตร์ผิด…เสียของ

ภาพ www.hieristhailand.nl

เรียบร้อยโรงเรียนป.ป.ช.  หลังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวน คณะทำงานฝ่ายอัยการ หอบเอกสารหลักฐานจำนวน 20 ลัง ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมหาศาล

ที่ก่อนหน้านี้ออกอาการงัดข้อกันพอหอมปากหอมคอ ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กับคณะทำงานของฝ่ายอัยการสูงสุด เกี่ยวกับประเด็นความไม่สมบูรณ์ในหลักฐานประกอบคดี แต่ที่สุดทางอัยการก็ไม่สามารถทนแรงกดดันจากฝ่ายที่ต้องการเอาผิดโครงการรับจำนำข้าว เพื่อเชื่อมโยงความผิดไปให้ถึงตัวบุคคลในฝ่ายบริหารอดีตรัฐบาลชุดน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร

หากจับสัญญาณการเมืองระยะหลังๆ มานี้ให้ดีจะเห็นได้ว่า บริบทการเมือง กำลังเวียนมาบรรจบที่บทละครฉากเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนตัวเล่นใหม่เข้ามาสวมบทเท่านั้น ซึ่งสัญญาณคลื่นความถี่นี้ ทางฟากฝ่ายคนในเครือข่ายระบอบทักษิณ ก็มองออกว่าเป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกนัยยะอะไร

เริ่มตั้งแต่การปล่อยข่าวโดยฝ่ายความมั่นคงว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุมัติคำขอของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนำลูกชายน้องไปก์ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ไปเที่ยวฮ่องกง ตามมาด้วยคำสัมภาษณ์คอนเฟิร์มโดย บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ว่าเป็นคนตัดสินใจไม่ให้อดีตนายกฯ ไปฮ่องกงเอง โดยอ้างว่ามีหนังสือร้องขอจากฝ่ายอัยการ แต่ก็ถูกสวนกลับทันควันจากฝ่ายอัยการทันทีว่าไม่เคยร้องขอ

ท่ามกลางกระแสข่าวปล่อยจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคและแกนนำสำคัญกปปส. ว่าอดีตนายกฯหญิงเตรียมเช่าเหมาลำเครื่องบินไว้ถึง 2 ลำ แสตนบายไว้ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ทันทีที่คสช.อนุญาต ก็พร้อมบินซบอกพญาอินทรีย์สหรัฐอเมริกา เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองทันที จนถูกอีกฝ่ายตอกกลับว่าเป็นการมโนโซเชียล จินตนาการไปเอง

แต่ทั้งหมดทั้งปวงแม้อัยการจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯแล้ว ยังมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาฯ โดยนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ต้องเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายในไม่เกิน 40 วันนับแต่วันยื่นฟ้อง เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่คัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาจะร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นคำฟ้องที่ ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ โดยเบื้องต้นนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกา พร้อมด้วยองค์คณะจำนวน 3 คน ได้พิจารณาสำนวนก่อนนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 19 มี.ค. หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำฟ้องที่ครบองค์ประกอบและชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีมติประทับฟ้องไว้เพื่อพิจารณา และกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรก โดยจะส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย ให้มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ผู้พิพากษาประจำแผนกฯจะพิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป

อดีตนายกฯปูยังส่อแววอ่วมอรทัยอีกหลายเด้ง เพราะนอกจากคดีอาญาแล้ว ป.ป.ช.ยังส่งหนังสือไล่บี้ไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่คดียังไม่ได้ปิดหีบตัวเลขความเสียหายเลยว่าโหลงโจ้งแล้วกี่แสนล้าน บาทกันแน่ มีเพียงตัวเลขการคาดการณ์ตามอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์การลุยถอนรากถอนโคน ของฝ่ายคุมเกมอำนาจชุดนี้ ย่อมถูกจับตาจากฟากฝ่ายที่โดนเล่นงาน ว่าเป็นการไล่ล่าเพื่อจะขุดรากถอนโคนคนในระบอบทักษิณ จากการขยับเล่นงานเป็นช็อตๆ ตั้งแต่คดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบ ที่รอดพ้นบ่วงไปแล้ว แต่ยังมีคดีถอดถอน 38 อดีตส.ว. ตามด้วยคดีถอดถอน 308 อดีตส.ส.จ่อเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในกรณีเดียวกัน ท่ามกลางกระแสข่าวมีการทาบทามอดีตส.ส.เหล่านี้ให้ตีตัวออกห่างจากพรรคเพื่อไทย ไปเข้าสังกัด พรรคสีเขียวของขั้วอำนาจปัจจุบัน ที่มีการดำเนินการอย่างลับๆ มาตลอด

การปราบปรามทุจริตคดโกงให้หมดไปจากสังคมไทย คนทั้งประเทศย่อมแซ่ซ้องสรรเสริญแน่ และหวังไม่ให้ระบบอภิมหาโคตรคอร์รัปชันเกิดขึ้นอีก ดังนั้นเสียงเรียกร้องจากนายกฯ ลุงตู่ที่ประกาศให้คนทำผิดยอมรับในกระบวนการยุติธรรม น่าจะดังได้มากกว่านี้ และน่าจะดังไปให้ถึงทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เป็นขั้วขัดแย้ง ก็คือกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าถึงทุกคน

แต่วันนี้มีแต่คนเห็นป.ป.ช.ไล่ดำเนินคดีแต่กับคนในระบอบทักษิณ ขณะที่คดีร้องทุจริตของอดีตรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันราคาข้าว ที่ก็พบความเสียหายและการทุจริตนับแสนล้านบาทเช่นเดียวกัน โครงการไทยเข้มแข็ง ที่ละลายเงินงบประมาณไปนับแสนล้านบาท โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจและแฟลตตำรวจ ฯลฯ อีกสารพัดโครงการของอดีตรัฐบาลที่ยังคงดองอยู่ใน โหลปราบโกงของ ป.ป.ช.

ถ้ากรรมการปราบโกงอย่างป.ป.ช. จะยึดบรรทัดฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด อดีตนายกฯหลายๆ คนก็คงจะโดนคดีเช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์และถ้ายึดบรรทัดฐานเดียวกันจริงก็จะไม่มีเสียงครหาจากอีกฝ่ายว่า จ้องไล่ล่าขุดรากถอนโคนกันฝ่ายเดียว

ปัญหาการปราบโกงและดำเนินคดีแบบ 2 มาตรฐาน ยิ่งเป็นแหล่งสะสมพลังต้านที่รอวันปะทุ กลายเป็นปัญหาขัดแย้งในอนาคตข้างหน้า เหมือนฉายหนังเก่าซ้ำไปซ้ำมา และยิ่งมีกระแสข่าวเชิงลึกว่าวันนี้ในกลุ่มพี่น้อง “3 รอยปริร้าวเริ่มขยายให้เห็นชัดเจน แม้ในภาพภายนอกจะมองว่ากลุ่มอำนาจชุดนี้ยังเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น แต่ในวงลึกมีเสียงกระซิบเล็ดรอดออกมาว่า ถ้าคุยกันเรื่องงบประมาณการลงทุนเมื่อไหร่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก็ใส่คอนเวิร์สทางใครทางมัน นอกจากนี้ยังมี ”มือที่มองไม่เห็น” สอดแทรกเป็นอีกตัวละครหนึ่งก็ยิ่งทำให้รอยร้าวนั้นปริหนักขึ้นไปอีก

และยังมีร่องรอยความขัดแย้งในทีมเศรษฐกิจ ที่แยกฝ่ายชัดเจนระหว่างขั้ว พี่ใหญ่กับ น้องรักทำให้หลายนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เพื่ออัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนไปตามระบบ จึงยังคาราคาซัง ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่มีข้าราชการเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนประเทศ กลับใส่เกียร์ว่างเอาเฉยๆ ยิ่งทำให้ระบบที่ควรจะเดินตามครรลอง มันจะสะดุดกึกกักอยู่อย่างที่เห็น

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาคราชการออกอาการเครื่องสะดุด ก็คือระบบ รับตามน้ำที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ถูกเอ็กซเรย์กันทุกรูขุมขน จึงทำให้ไม่กล้าเบิกจ่ายกันสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนก่อน ขณะเดียวกันถนนทุกสายก็มุ่งสู่เครือข่าย พี่เบิ้มไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ ใครหวังจะได้งานได้ตำแหน่งดีๆ ก็ต้องวิ่งในเส้นทางสายนี้

นอกจากห้องเครื่องจะออกอาการรวนภายในแล้ว หันไปมองสภาวะการณ์ข้างนอก ยิ่งมองเห็นแต่เค้าลางความเหนื่อยยาก โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ยังอยู่ในช่วงที่ถดถอยกันทั้งนั้น ประกอบกับสถานการณ์การเมือง เริ่มมีกลุ่มเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงบีบของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เห็นว่าขั้วอำนาจชุดนี้ตีตัวออกห่างหันไปซบอกมังกรจีน ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันหนักขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องจับตาดูยุทธศาสตร์ลีลาการเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาลนี้ จะรับมือมหาอำนาจอยู่หรือไม่

ประกอบกับประเด็นฮ๊อต ร้อน อ่อนไหว ต่อเสถียรภาพการเมือง นั่นคือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่ยังลูกผีลูกคน เพราะมีทั้งกลุ่มคัดค้านและสนับสนุน ในฐานะที่”บิ๊กตู่” เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็ยังหัวเสียกับเรื่องนี้ ไม่กล้าที่จะฟันธง ”เปิดหรือไม่เปิด” แม้จะเปิดเวทีกลางให้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพูดคุยหาทางออกในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในที่ 20 ก.พ.ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้  ทางออกอาจต้องทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสินใจ

ทุกปัญหาที่ประเดประดังเข้าใส่ จึงเริ่มมีเสียงบ่นออกมาแล้วว่า หากช่วงไตรมาส 2 ต่อไตรมาส 3 อาการ ยังเป็นอย่างนี้ คงต้องมีโล๊ะพวกไร้ผลงานบางส่วน เพื่อเติมความสดและเบนความกดดันต่อรัฐบาล เพราะการต่อต้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลและคสช. ได้เท่าเรื่องปัญหาปากท้องชาวบ้าน ที่จะเป็นชนวนไวไฟชี้เป็นชี้ตายว่ารัฐบาลนี้จะอยู่หรือไปได้ทุกเมื่อ 

ทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของ นายกฯลุงตู่ที่วันนี้ยังกุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ ว่าจะนำประเทศกลับเข้ารูปเข้ารอยตามครรลองที่ควรจะเป็น หรือจะเล่นกันตามบทเดิม เดินหน้าฆ่าฝ่ายเดียว

ถึงวันนั้นก็คงมาโอดครวญไม่ได้แล้วว่า ทำเสียของ