บีบีซีไทย – ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธไม่มีการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่า แม้จะมีรายงานกรณีการล่วงละเมิดอย่างกว้างขวาง
ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะ รมว.ต่างประเทศพม่า กล่าวยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ แต่มองว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เป็นคำที่รุนแรงเกินไป และพม่าพร้อมจะเปิดรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ
“ฉันไม่คิดว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น คิดว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นคำอธิบายที่รุนแรงเกินไปสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น” นางซู จี กล่าว และว่า “มีชาวมุสลิมฆ่ากันเองด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประชาชน ที่อยู่ทั้ง 2 ฝั่งของความแตกแยก และเราพยายามจะปิดช่องว่างที่เกิดจากความแตกแยกนี้”
ชาวโรฮิงญา ไม่ได้รับสัญชาติในพม่า แต่รัฐบาลมองว่า พวกเขาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และคนเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทั้งจากทางการและสาธารณะ
ความรุนแรงเมื่อปี 2012 ทำให้ชาวโรฮิงญานับหมื่นคนต้องพลัดถิ่น ไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวในบังกลาเทศ และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาประมาณ 70,000 คน เดินทางไปยังบังกลาเทศ เพื่อหลบหนีปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ตำรวจ 9 นายเสียชีวิตจากการโจมตี
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า จะเปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า ทหารพม่าได้เปิดปฏิบัติการ ที่มุ่งเป้าชาวโรฮิงญาแบบเหมารวม ทำให้มีคนถูกข่มขืน ฆาตกรรม และทรมาน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทางรัฐบาลพม่าปฏิเสธ
สำหรับหลายคน การที่นางซู จี เลี่ยงการพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญา ได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและความเป็นสัญลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเธอได้ถูกกดดันจากนานาชาติในประเด็นนี้ แต่ระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของปีนี้ นางซู จี กล่าวว่า เคยตอบคำถามเรื่องนี้ไปแล้ว “เคยถูกถามเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2013 ที่เกิดปัญหาครั้งที่แล้วในรัฐยะไข่ ซึ่งนักข่าวก็ได้ถามคำถาม และฉันก็ตอบไป แต่คนก็ยังพูดว่าฉันไม่ได้พูดอะไร เพียงเพราะฉันไม่ได้พูดอย่างที่คนต้องการให้ประณามชุมชนใดชุมชนหนึ่ง”
นางซู จี กล่าวว่า เธอไม่ทราบเหตุผลของการโจมตีเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 แต่คาดเดาว่า อาจะเป็นเพราะความพยายามทำให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นกบฏชนเผ่าต้องล้มลง
นอกจากนี้ เธอยังปฏิเสธว่า ทหารไม่ได้มีสิทธิทำตามใจชอบได้ทุกอย่าง “พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะข่มขืน ปล้นสะดม และทรมาน”
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า การกลับมามีอำนาจควบคุมกองทัพ เป็นสิ่งที่รัฐบาลยังหวังว่าจะทำ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กองทัพยังเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารอยู่