เอกสารลับ “ซีไอเอ” เผยชัด แผนโค่น “ตระกูลอัสซาด” ของสหรัฐฯ นับย้อนไปถึง 6 ประธานาธิบดี

ฮาเฟซ อัสซาด พ่อของ บาชาร์ อัสซาด : © AFP 2017/ HO

การกลั่นกรองฐานข้อมูลของ “ซีไอเอ” ที่มาจากเอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับ “วิกิลีกส์” เปิดเผยว่า  รายงานของปี 1989 (พ.ศ.2529) เกี่ยวกับ “สถานการณ์ที่เป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่การล้มล้างประธานาธิบดีอัสซาด” ชี้ให้เห็นถึงวาระแฝงในการใช้ประโยชน์จากความตึงเครียดของ “การแบ่งแยกทางนิกาย” (sectarian) ทั้งรายงานฉบับนี้ยังอธิบายได้ว่า ทำไมยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปัจจุบันจึงผิดพลาด

ในเดือนมกราคม ต้นปีนี้ สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ได้เปิดเผยเอกสารที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไปกว่า 11 ล้านฉบับ โดยจัดทำเป็นไฟล์ออนไลน์ให้สาธารณชนเข้าถึงได้ และเมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” (WikiLeaks) ได้ค้นพบและเปิดเผยว่า หนึ่งในเอกสารเหล่านี้ประกอบด้วย “รายงานลับ” เกี่ยวกับสถานการณ์การล้มล้าง “ฮาเฟซ อัสซาด” (พ่อของ บาชาร์ อัสซาด) ซึ่งทั้งหมดย้อนกลับไปถึงยุคฝ่ายบริหารของอดีตประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน” แห่งสหรัฐฯ

เอกสารนี้จัดทำขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของผู้อำนวยการแผนกประเด็นระดับโลก (Director of Global Issues) ของหน่วยงานที่ตั้งชื่อไว้อย่างเหมาะเหม็งว่า “ศูนย์กิจการต่างประเทศเพื่อบ่อนทำลายและไร้เสถียรภาพ” (Foreign Subversion and Instability Center) และถูกแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโส รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ, เพนทากอน, นายเดนนิส รอส (Dennis Ross) ที่ปรึกษาด้านนโยบายตะวันออกกลางของปธน.เรแกน และ นายวิลเลียม อีเกิลตัน (William Eagleton) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรีย

โดยบันทึกที่ไม่เป็นทางการระบุสิ่งที่ “ซีไอเอ” คาดว่า จะเป็น “สถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัสซาด ในประเทศซีเรียได้” รายงานฉบับนี้ระบุตรงๆ โท่งๆ ไม่อ้อมค้อมเกี่ยวกับการ “จงใจยั่วยุ” อย่างธรรมชาติและกลมกลืน

ในการคาดการณ์ความไม่สงบในเหตุการณ์อาหรับสปริง ปี 2011 ที่จะเขมือบประเทศซีเรียสู่การนองเลือดจากสงครามกลางเมืองที่ถูกหนุนหลังจากต่างชาติ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณหนึ่งในสี่ของศตวรรษนี้  รายงานซีไอเอยังได้เสนอพิมพ์เขียวที่มีประสิทธิภาพสำหรับหน่วยข่าวกรองสหรัฐในการเล่นเกม “ถือฝักถือฝ่าย” (factionalism) ระหว่างชนกลุ่มน้อยอะลาวี (Alawite : แขนงหนึ่งจากมุสลิมชีอะห์ ซึ่งครอบครัวอัสซาดนับถือ) และชาวมุสลิมซุนนีซึ่งมีประมาณ 3 ใน 4 ของประชากรซีเรีย

เอกสารชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างอะลาวีและซุนนีได้ลดลงอย่างมากในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 แต่ “ความเป็นไปได้เรื่องความรุนแรงทางสังคมในขั้นวิกฤติยังคงมีอยู่” ในความเป็นจริงผู้เขียนรายงานแย้งว่า ความขัดแย้งด้านนิกาย (sectarian conflict) ที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองเป็นหนึ่งใน 3 ตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในซีเรีย โดยอีก 2 ตัวเลือกคือ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงสืบทอดอำนาจ และความพ่ายแพ้ทางทหารนอกบ้านในเลบานอนหรืออิสราเอลอันนำจะไปสู่การรัฐประหาร

“การก่อกบฏของชาวซุนนีในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 สิ้นสุดลงเมื่ออัสซาดบดขยี้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นผู้นำการกบฏดังกล่าว” รายงานตั้งข้อสังเกต และเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม “แม้เราจะประเมินว่า ความหวาดกลัวการถูกตอบโต้และปัญหาขององค์กรจะไม่ก่อให้เกิดการท้าทายครั้งที่สองของชาวซุนนีอีก แต่ปฏิกิริยาที่มากเกินไปจากรัฐบาลที่มีต่อการลุกขึ้นมาต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากความไม่พอใจของชาวซุนนีอาจก่อให้เกิดความระส่ำระสายในระดับสูง ในกรณีแบบนี้ส่วนใหญ่รัฐบาลมักจะใช้วิธีการทำลายขบวนการต่อต้านของซุนนี แต่เราเชื่อว่าความรุนแรงที่แพร่ในหมู่ประชาชนพลเมืองอาจกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทหารและทหารเกณฑ์จำนวนมากแปรพักตร์หรือก่อกบฏ อันจะส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองได้”

ความล้มเหลวของ “การท้าท้ายของซุนนี” (Sunni challenge) ที่ถูกอ้างถึงในรายงานนี้ก็คือ การปราบปรามในเมืองฮามา (Hama) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1982 (พ.ศ.2525) ซึ่งชาวตะวันตกรู้จักในนาม “การฆาตกรรมหมู่ที่ฮามา” (Hama Massacre) ซึ่งรัฐบาลซีเรียได้บดขยี้การก่อจลาจลของกลุ่มอิสลามิสต์ที่นำโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในเมืองฮามา ทางตะวันตกของซีเรีย การปราบปรามที่เมืองนี้ส่งผลให้ทหารและนักรบติดอาวุธหลายร้อยคนเสียชีวิตรวมถึงพลเรือนหลายพันคน

โดยไม่เข้าไปในรายละเอียดที่มีมากเกินไป รายงานอ้างว่า “ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงของชาวอะลาวีที่มีต่อชาวซุนนีอาจผลักดันชาวซุนนีสายกลางให้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้าน สมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ยังเหลืออยู่ (บางคนกลับมาจากการถูกเนรเทศในอิรัก) อาจเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวได้”

นอกจากนี้รายงานคาดการณ์ว่า “แม้ว่าระบอบการปกครองซีเรียมีวิธีการที่จะทำลายกระบวนการดังกล่าว แต่เราเชื่อว่าการโจมตีที่รุนแรงต่อพลเรือนชาวซุนนีอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารและทหารเกณฑ์จำนวนมากแปรพักตร์หรือก่อกบฏเพื่อสนับสนุนผู้ประท้วง และอิรักอาจจัดหาอาวุธให้ได้เพียงพอเพื่อเปิดสงครามกลางเมือง”

การท้าวความถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างดามัสกัสและมอสโกซึ่งย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1960 “ซีไอเอ” พยายามคาดการณ์การตอบสนองของสหภาพโซเวียตต่อความพยายามที่จะขับไล่อัสซาดออกไป แต่ก็สรุปได้ว่าผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของมอสโกคือการรักษาสภาพที่เป็นอยู่เดิม

ในเวลาเดียวกันรายงานชี้ให้เห็นว่า “ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของวอชิงตันคือการสร้างระบอบซุนนี “สายปานกลาง” ซึ่งอาจรวมถึงพวกพ้องของสายปานกลางที่สนใจเรื่องการช่วยเหลือด้านความมั่นคงและการลงทุนจากตะวันตก ระบอบการปกครองดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความตึงเครียดกับอิสราเอล” รายงานกล่าวเสริม

ในการขยายความแนวคิดดังกล่าว รายงานฉบับนี้อธิบายว่า “ธุรกิจของกลุ่มสายกลางจะต้องแข็งแกร่ง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและการลงทุนของตะวันตกในการสร้างเศรษฐกิจภาคเอกชน (private economy) ของซีเรีย อันจะเป็นการเปิดทางให้มีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับรัฐบาลตะวันตก”

ที่น่าสนใจ! (ซึ่งแตกต่างจากซีไอเอรุ่นทายาทในยุคของโอบามา) “ซีไอเอ” ในช่วงปี 1980 ได้เตือนไว้ว่า ความยุ่งเหยิงที่ยืดเยื้อและสงครามกลางเมืองใดๆ ในซีเรีย จะทำให้มันกลายเป็น “พลังที่คุ้มดีคุ้มร้ายซึ่งเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงในภูมิภาคนี้” และเสริมว่า “รัฐบาลที่อ่อนแอของดามัสกัสอาจเพิ่มแรงดึงดูดให้ซีเรียกลายเป็นฐานของกลุ่มก่อการร้าย”

รายงานยังเตือนด้วยว่า “กำไร” ใดๆ ที่สหรัฐอาจมองเห็นจากการขับไล่อัสซาดออกไปนั้น “จะถดถอยลง … หากซุนนีสายเคร่งสุดโต่งขึ้นมามีอำนาจ” เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอิสราเอลก็คือ “แม้ว่าวัฒนธรรมเซคคิวลาร์ของประเทศซีเรียจะทำให้เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับฝ่ายคลั่งศาสนาในการจะสร้างสาธารณรัฐอิสลามขึ้นมา แต่หากพวกเขาทำได้สำเร็จ พวกเขามีแนวโน้มมากที่จะทำให้เกิดสงครามกับอิสราเอล และให้การสนับสนุนรวมทั้งที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้าย”

ในความเป็นจริง ความพยายามที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพของซีเรียในช่วงต้นปี 2010 (พ.ศ.2553) เป็นความพยายามร่วมกันของสหรัฐฯ กับอิสราเอล ตุรกีและพันธมิตรกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf State) ทั้งเป็นตุรกี กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย -โดยมิใช่อิรัก- ที่เป็นหุ้นส่วนรายใหญ่จัดหาอาวุธให้พวกก่อการร้าย นอกจากนี้รายงานซีไอเอยังไม่ได้พูดถึงหรือคาดการณ์เกี่ยวกับการไหลบ่าของชาวญิฮาดิสต์นับหมื่นๆ คนเข้าสู่ซีเรียจากต่างประเทศ ถึงแม้จะเคยใช้ยุทธวิธีคล้ายคลึงกันในอัฟกานิสถานกับสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าว

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า “ซีไอเอ” ในทศวรรษที่ 1980 เชื่ออย่างจริงใจว่า “กลุ่มสายปานกลาง” ที่พวกเขาฝากความหวังไว้จะไม่ถูกกลืนหายโดยทันทีจากกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง แม้ว่าประสบการณ์ของสหรัฐฯในอิรักและอัฟกานิสถานในช่วงปี 2000 (พ.ศ.2543) ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าซีไอเอยุคปี 2000 จะไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์เช่นนี้ได้

โต๊ะข่าวต่างประเทศ แปล/เรียบเรียงจาก – https://sputniknews.com

อ้างอิง เอกสารซีไอเอ https://www.cia.gov