ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือ “ไอแบงก์” ชี้ มุสลิมบางฝ่ายตีความคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คลาดเคลื่อน ยันความหมายไม่ใช่ยุบธนาคารอิสลามฯ แนะทัศนคติ-วัฒนธรรมองค์กรไอแบงก์ต้องปรับเปลี่ยนหากต้องการให้ธนาคารอยู่รอด
สืบเนื่องจากการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีทิศทางในอนาคตของธนาคารอิสลามฯ หรือ “ไอแบงก์” ซึ่งประสบปัญหาหนี้เสีย ประจวบกับจังหวะแผนปรับโครงสร้างทางการเงินและเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาทถูกตีกลับ จนบางฝ่ายตีความว่า นายกฯ ส่งสัญญาณจะยุบไอแบงก์นั้น ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการไอแบงก์ ระบุเป็นการตีความคำพูดนายกฯ คลาดเคลื่อน ยันความหมายไม่ใช่ยุบธนาคารอิสลามฯ
“ถ้าพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ อย่างถี่ถ้วน จะพบว่า นายกฯ ต้องการหามาตรการที่เหมาะสมและรัดกุมในการแก้ไขปัญหาไอแบงก์ เพราะไม่ว่าปล่อยให้ล้มหรือช่วยให้อยู่ต่อได้ รัฐบาลก็ต้องเสียเงินทั้ง 2 มาตรการ” อดีตประธานไอแบงก์ กล่าวและว่า “คนไปเข้าใจว่านายกฯ จะยุบไอแบงก์ ซึ่งเป็นการตีความคำพูดนายกฯ คลาดเคลื่อน”
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้เสนอแผนแก้ไขปัญหาไอแบงก์ให้ ครม. ด้วยการลดมูลค่าหุ้นไอแบงก์เหลือ 1 สตางค์ ก่อนเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2560 และโยกหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาทให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) บริหารแทน เพื่อเคลียร์เงินกองทุนไม่ให้ติดลบ จากนั้นจะดึงพันธมิตรต่างชาติร่วมทุน
ต่อมาแผนดังกล่าวถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งตีกลับ พร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววว่า มาตรการที่เหมาะสมมี 2 ทาง คือ ปล่อยให้ล้มไปเลยโดยรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่หากล้มไปผู้ที่ทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งจะดำเนินการคดีฟ้องร้องกันก็ว่ากันไป แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงิน กับอีกทางคือช่วยให้อยู่ต่อได้ ซึ่งต้องใช้เงินเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะแก้ทางไหนก็ต้องเสียเงินอยู่ดี
“ดังนั้นชัดเจนจากคำพูดนายกฯ ว่าคงไม่ยุบไอแบงก์ แต่จะเป็นการหามาตรการเพื่อจะไปต่ออย่างไรต่อไป” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล กล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์
ในส่วนการหาพันธมิตรต่างชาติมาร่วมทุนซึ่งจะทำให้สถานะของไอแบงก์ดีขึ้นนั้น ศ.พลโท.ดร.สมชาย ระบุว่าการเจรจากับต่างชาตินั้นจะต้องเป็น “ดีลพิเศษ” (Special Deal)
“Special Deal อาจจะไม่ใช่เรื่องเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่หมายถึงเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ เช่น ต้องซื้อข้าวเรา ซื้อยางพาราเรา เป็นต้น” อดีตประธานไอแบงก์ ระบุ
ทัศนคติ-วัฒนธรรมองค์กรไอแบงก์ที่ต้องปรับเปลี่ยน
ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล กล่าวถึงปัญหาภายในของธนาคารอิสลามฯ ที่มีความจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนหากยังคงต้องการให้ธนาคารแห่งนี้ดำเนินการต่อไปได้ โดยปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทัศนคติของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรของไอแบงก์เอง
“การรับพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมเข้ามาบริหารและทำงานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ไอแบงก์ ในสมัยผมเป็นประธานธนาคารฯ นั้น สัดส่วนพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมมี 40 เปอร์เซนต์ ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซนต์”
“การเข้ามาของพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งหลายคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมและปรัชญาธนาคารอิสลามฯ บางคนก็เคยชินกับระบบดอกเบี้ย บางคนเอาหมูมารับประทานในสำนักงาน บางคนเมื่อเลิกงานก็แต่งชุดพนักงานไปดื่มสุรา ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของไอแบงก์ในสายตามุสลิม” อดีตประธานไอแบงก์กล่าว
“มิหนำซ้ำบางคนที่ทำงานในไอแบงก์แต่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อมุสลิม ขณะที่มุสลิมเองที่ทำงานในไอแบงก์ก็ไม่มี Service Mind” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าวและว่า “สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบริการของธนาคารอิสลามฯ ออกมาแย่”
“บวกกับระบบเอกสารของธนาคารที่ไม่พัฒนา ทำให้การบริการล่าช้า เช่นทำให้การปล่อยสินเชื่อล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับธนาคารโดยทั่วไป จึงทำให้ลูกค้าไม่อยากมาใช้บริการกับธนาคาร”
“ทัศนคติของคนที่นี่จะต้องเปลี่ยน วัฒนธรรมขององค์กรก็ต้องปรับ หากยังต้องการให้ธนาคารอิสลามฯ ยังคงอยู่” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล เน้นย้ำ
“ขณะเดียวกันลูกค้ามุสลิมก็ต้องปรับตัวด้วย นักธุรกิจมุสลิมบางคนไม่มีแผนธุรกิจ (Business Plan) คิดว่านุ่งโสร่งเข้าไปขอกู้จากธนาคารอิสลามแล้วก็จะได้ พอเขาไม่ให้ก็ออกมาพูดโจมตี” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าว
นอกจากนั้น เขายังกล่าวด้วยว่า ผู้บริหารธนาคารฯ ก็ต้องปรับแนวทางการหารายได้ของธนาคารด้วย
“ธนาคารพานิชย์ทั่วไปเขามีรายได้จากการบริการ (Service) พอๆ กับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้นทุนน้อยแต่กำไรมาก ดังนั้น ผู้บริหารก็จะต้องปรับเปลี่ยน อย่าคิดหาและพึ่งรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อาจทำให้ธนาคารอยู่รอดได้” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกล่าว
**รออ่านสัมภาษณ์ ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ฉบับเต็ม เร็วๆ นี้**