หลังภาพความโหดร้ายของกลุ่ม ISIS ที่ถูกเผยแพร่ออกไปสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาคมโลก และกลายเป็นความกังขาถึงที่มา และท่าทีของประเทศในโลกมุสลิมทั่วโลก เกี่ยวกับความก้าวร้าวของ ISIS ที่เป็นกระแสความสนใจจากคนทั่วโลก รวมถึงความสับสนอลหม่าน บนโลกแห่งอุดมการณ์และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
ในโอกาสครบรอบ 36 ปีแห่งการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน “เดอะพับลิกโพสต์” มีโอกาสเปิดมุมมองจาก “ฮุเซน กะมาลิยอน” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย ต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อิหร่านในด้านต่างๆ รวมถึงกระแสวิกฤติตะวันออกกลางที่กำลังอยู่ในความสนใจอย่างกรณีกลุ่ม ISIS ที่ถูกลากเข้าสู่กับดักความขัดแย้งทางนิกาย “ซุนนี่-ชีอะห์”
-สถานการณ์ทั่วไปในตะวันออกกลาง และท่าทีของอิหร่านเป็นอย่างไรบ้าง?
ก่อนอื่นคงต้องขอตอกย้ำจุดยืนของประเทศอิหร่าน ก่อนที่จะไปพูดกันถึงเรื่องของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง เรา (อิหร่าน) มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมมุสลิมในภูมิภาค และพร้อมที่จะยื่นมือที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรีให้กับทุกประเทศในภูมิภาค รวมถึงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความซับซ้อนในโครงสร้างด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอน การแก้ปัญหานั้น จะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากเป็นการแก้จากประเทศใดประเทศหนึ่ง ทางแก้ที่เรา (อิหร่าน) มองว่า จะเป็นแนวทางแห่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการร่วมมือกัน
การจะมองภาพรวมของสถานการณ์ในตะวันออกลาง คงต้องขอย้อนหลังกลับไปในเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อครั้งสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านก็มีหลายประเทศที่เข้ามาช่วยอิรัก ช่วยทั้งเงินและอาวุธ ช่วย ซัดดัม ฮุสเซ็น การสนับสนุนทางการเมือง และเมื่ออิรักกลับมาโจมตีประเทศที่สนับสนุนอิรักเองในเวลาต่อมา ทุกคนก็คิดว่า อิหร่านจะให้การสนับสนุนซัดดัมด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
อิหร่านมีจุดยืนที่เน้นย้ำถึงสันติภาพในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด เวลานั้น (สงครามอิรัก –คูเวต) เรา (อิหร่าน) กลับยื่นความเป็นเพื่อนและเป็นมิตร ให้กับประเทศที่ถูกซัดดัมโจมตี และพร้อมให้ความช่วยเหลือกับพวกเขาด้วย เพราะฉะนั้นผมขอยืนยันในจุดยืนที่เป็นสุภาพบุรุษพอและหวังว่าความสัมพันธ์ ของเรากับทุกประเทศจะเป็นความสัมพันธ์ ที่เป็นเหมือนมิตรและเพื่อนมากกว่า เราไม่คิดจะยินดีกับการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งทะเลาะกันหรือมีปัญหากัน เพราะเราเชื่อว่าถ้าทุกประเทศสามารถเป็นมิตรกันได้ทั้งโลกๆ จะมีความปลอดภัยมากขึ้น
-หลายคนมองเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของอุดมการณ์ที่แตกต่างทางศาสนา พูดง่ายๆ ก็คือส่วนหนึ่ง เป็นเรื่อง ซุนนี่ –ชีอะห์ อิหร่านมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร
หลังการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เรา (อิหร่าน) ยืนยันการรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมมุสลิม และ อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามเชิญชวนทุกนิกายของอิสลามเข้ามารวมกัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว บุคคลที่จะเข้ามาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างชีอะห์และซุนนี่ ก็เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นทั้งชีอะห์และซุนนี่ ความขัดแย้งระหว่างชีอะห์และซุนนี่ ไม่ได้มีอยู่ในหลักการของอิสลาม บุคคลเหล่านี้พยายามสร้างให้เกิดช่องโหว่ บนความขัดแย้งระหว่างชีอะห์และซุนนี่ เพื่อนำเอาการเมือง และไอเดียของตนเอง เข้ามาแทรกแซง
ในหลายๆ กรณีเราปกป้องชาวซุนนี่ ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างกรณีของขบวนการฮามาสที่เรา (อิหร่าน) สนับสนุนอยู่ ถามว่าเป็นชีอะห์หรือไม่? หรือกรณีชาวปาเลสไตน์ ที่เรากำลังดูแลและช่วยเหลือนั้นเป็นชีอะห์หรือเปล่า?
จุดยืนของอิหร่านชัดเจน และ เรามีอุดมการณ์สูงสุดเพียงหนึ่งเดียว คือ เราจะดูแลมุสลิม และเราเชื่อว่าปัญหาของขัดแย้งของสองนิกาย เป็นสิ่งที่ศัตรูของอิสลามเป็นคนมอบเข้ามาให้ เรา (อิหร่าน) ไม่ได้ตั้งบรรทัดฐานว่า ชีอะห์หรือ ซุนนี่ ใครต้องมาก่อน
[quote_box_left]ปัญหาในตะวันออกกลางมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ การก่อการร้าย สองคือพวกตกขอบ สุดโต่ง การก่อการร้ายจะเกิดในพื้นที่ๆ บุคคลนั้น ยากจน เศรษฐกิจย่ำแย่ จะเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่เติบโตด้วยความรุนแรง ISIS และอันนุสเราะห์ คือกลุ่มอะไร? ในมุมมองของอิหร่านก็คือกลุ่มก่อการร้ายนี่แหละ ….[/quote_box_left]
-ในมุมมองเดียวกันนี้ กับเรื่อง “ซุนนี่ –ชีอะห์ในประเทศไทย
เช่นเดียวกันกับในภูมิภาคตะวันออกลาง จุดยืนนี้ของอิหร่านชัดเจนสำหรับมุสลิมทั่วโลก ทุกพื้นที่ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ท่าทีของอิหร่านมีเพียงอย่างเดียว คือความเป็นหนึ่งเดียวของอิสลามทั่วโลก ส่วนตัว ในประเทศไทย ผมมีความสัมพันธ์กับโต๊ะอิหม่ามจากซุนนี่มากกว่าโต๊ะอิหม่านของชีอะห์ซะอีก ผมกับท่านจุฬาราชมนตรี มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ และในหลายๆ สัปดาห์ ผมก็ไปละหมาดในสุเหร่าของซุนนี่ เรา (อิหร่าน) ไม่ได้ตั้งความแตกต่างระหว่างสองนิกายในประเทศไทย และแน่นอน บนแนวคิดนี้ เรา( อิหร่าน) ก็ไม่ได้ตั้งความแตกต่างระหว่างนิกายกับมุสลิมทั่วโลกเช่นเดียวกัน
จุดมุ่งหมายทางศาสนาของรัฐบาลอิหร่านในประเทศไทย (สำหรับมุสลิม) เป้าหมายคือการดูแลให้การสนับสนุนทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อสร้างสังคมแห่งอิสลามที่ดี และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับสังคมอิสลามนั้นในกรอบกฎหมายของประเทศไทย และไม่อนุญาตให้ตนเองและเจ้าหน้าที่จากอิหร่านมาแทรกแซงในการทำงาน และการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และจะเป็นความปลื้มปิติและยินดีอย่างยิ่ง ถ้าจะไม่เกิดปัญหาระหว่างชีอะห์และซุนนี่ในประเทศไทย
ในขณะเดียวกันสำหรับชาวไทยต่างศาสนิก เรา (อิหร่าน) พร้อมและยินดีสำหรับความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ ในฐานะของเพื่อน และสองประเทศที่มีความสัมพันธ์มาช้านาน บนพื้นฐานแห่งกฎหมายของประเทศไทย
-กับกรณีที่เป็นกระแสอยู่ขณะนี้ เรื่องของกลุ่ม ISIS
แน่นอน บนจุดยืนของหลักการอิสลาม เรา (อิหร่าน) ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เกิดขึ้น โดยกลุ่ม ISIS นี้แน่นอนเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีระบุอยู่ในหลักการอิสลาม กฏเกณฑ์ของอิสลามและของรัฐ ไม่มีอันไหนเลยที่จะยอมรับการกระทำของคนพวกนี้ได้ อิสลามอนุญาตให้เผามนุษย์คนหนึ่งทั้งเป็นหรือ?…. ในอิสลาม พูดไว้ว่า จงฆ่าและตัดเป็นชิ้นๆ และเอาตับมาเคี้ยว หรือ?….. ในอิสลามพูดถึงเรื่องของการสังหารหมู่หรือ?…. ทั้งหมดนี้ผิดและตรงข้ามกับหลักการและกฏเกณฑ์ของอิสลามทั้งสิ้น รวมไปถึงทั้งกฏเกณฑ์ของชีอะห์และซุนนี่ ซึ่ง เรา (อิหร่าน) ยึดมั่นในความถูกต้องแห่งหลักการของอิสลามอย่างเคร่งครัด
-มุมมองของอิหร่านต่อกรณีของ ISIS
ปัญหาในตะวันออกกลางมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ การก่อการร้าย สองคือพวกตกขอบ สุดโต่ง การก่อการร้ายจะเกิดในพื้นที่ที่บุคคลนั้น ยากจน เศรษฐกิจย่ำแย่ จะเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่เติบโตด้วยความรุนแรง ISIS และอันนุสเราะห์ คือกลุ่มอะไร? ในมุมมองของอิหร่านก็คือกลุ่มก่อการร้ายนี่แหละ ….
มุมมองของเรา (อิหร่าน) ISIS เป็นพวกกลุ่มก่อการร้าย ปัญหาของกลุ่มนี้ ไม่ได้มีแค่ในตะวันออกกลาง แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก พวกเขาไม่ได้ก่อการร้ายในตะวันออกกลางเท่านั้น แต่พยายามไปก่อการร้ายในยุโรป สิ่งที่เราเสียใจอย่างยิ่งคือ เขาไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มชนในหลายๆ ประเทศรวมกัน เรา (อิหร่าน) ไม่ได้มองกลุ่มของปัญหานี้เป็นปัญหาเฉพาะในตะวันออกกลาง แต่เรา (อิหร่าน) มองปัญหานี้เป็นปัญหาสากล และสำหรับการแก้ไขปัญหาและตอบโต้กับกลุ่มพวกนี้นั้น ต้องมีแผนการ ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะแก้ไขปัญหาของพวก ISIS ด้วยตนเองแล้ว ส่วนตัว เชื่อว่าจะไม่สำเร็จ อย่างแน่นอน
[quote_box_left] อิหร่าน เป็นหนึ่งในประเทศที่พยายาม เชิญชวนทุกนิกายของอิสลามเข้ามารวมกัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว บุคคลที่จะเข้ามาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างชีอะห์และซุนนี่ ก็เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นทั้งชีอะห์และซุนนี่ ความขัดแย้งระหว่างชีอะห์และซุนนี่ ไม่ได้มีอยู่ในหลักการของอิสลาม….[/quote_box_left]
-การประกาศตัวของกลุ่ม ISIS ที่มีการกล่าวอ้างถึงซุนนี่ อิหร่านมีมุมมองอย่างไร?
ปัญหาในตะวันออกลาง ไม่ได้มีข้อเกี่ยวข้องระหว่างชีอะห์และซุนนี่เลย ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่มีส่วนในมุมมองของนิกายเลย อันนี้เป็นการเมืองที่มหาอำนาจให้วางแผนให้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง พวกตักฟีรี ที่เขาอุดหนุนและสนับสนุนให้เข้ามาก่อการร้ายนั้น ณ ปัจจุบัน พวกตักฟีรี นี่แหละที่กำลังทำร้ายพวกเขาอยู่ มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่า อัลกออิดะห์ กำเนิดมาได้อย่างไร? ก่อตั้งที่ไหน? และใครสนับสนุน?
ณ ปัจจุบันเอง กลุ่ม ISIS ก็เป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะชาวโลก แต่ปัญหาของพวกเขาเองด้วย เป็นการเมืองที่ผิดพลาดของมหาอำนาจ ที่ทำให้ตะวันออกกลางเป็นสวรรค์สำหรับการทำการก่อการร้าย และการฆ่ามนุษยชาติของพวกตักฟีรี นี่เป็นการเมืองผิดพลาดของประเทศมหาอำนาจ ในมุมมองของอิหร่าน
–กรณีของหลายประเทศ (จอร์แดน อิยิปต์ ซีเรีย) ที่ดำเนินการตอบโต้ประเทศเหล่านี้ “แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน” มุมมองของอิหร่านมองอย่างไร
เป็นสิทธิของทุกประเทศอยู่แล้ว ที่แต่ละประเทศจะสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเขาเองด้วยวิธีของเขา จอร์แดน หรือ อิยิปต์ เลือกวิธีนี้เราก็ให้เกียรติกับวิธีที่เขาเลือก ก็อยู่ที่ว่า ความสามารถและวิธีคิดของเขาว่าจะเขาจะตอบโต้อย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการจะตอบโต้ ISIS นั้น จะต้องร่วมมือกันตอบโต้ เป็นกลุ่ม
-หากเป้าหมายของ ISIS ต่อไปคืออิหร่าน ? ท่านมีมุมมองอย่างไร
คิดว่าเขา (ISIS) ไม่กล้าจะเข้ามายุ่งกับอิหร่าน เพราะเรา (อิหร่าน) ขีดเส้นเอาไว้ให้กับเขาแล้ว และเราก็เตือนแล้วว่า หากเขาก้าวเข้ามาใกล้กับเส้นที่เรา (อิหร่าน) ขีดไว้ เราจะไม่ปล่อยให้เขา (ISIS) ไม่ได้รับคำตอบ และเราก็หวังว่าจะไม่เดินเข้ามาสู่เส้นที่ขีดไว้นี้
เรา (อิหร่าน) มีจุดยืนที่ชัดเจน คือต้องการสันติภาพ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำรวมถึงคำกล่าวอ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะทั้งหมด ไม่มีอยู่ในหลักการอิสลาม และแน่นอน เรา(อิหร่าน) ไม่ปรารถนาที่จะเห็นความไม่สงบในภูมิภาคนี้ ไม่เพียงเฉพาะในประเทศอิหร่าน แต่หมายถึงทั้งภูมิภาค ฉะนั้น เส้นที่เรา (อิหร่าน) ขีดไว้ เป็นเส้นอันชอบธรรมที่ถูกต้องของหลักการอิสลามและหลักการสากล
-ความเข้าใจผิดของสื่อหลายแห่งที่ระบุกลุ่ม ISIS ว่าเป็น ชีอะห์ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดท่านมองอย่างไร ?
ถ้าจะถามว่าต้นกำเนิดของ ISIS มาจากไหน คำตอบคือกลุ่มคนที่หลงเหลือของพรรคบาธ ในอิรัก และกลุ่มที่หลงเหลือของพวกอัลกออิดะห์ มารวมกัน ไม่มีเซลล์ หรือโมเลกุลตัวไหนของ ISIS ที่จะเกี่ยวข้องกับชีอะห์เลย พวกเขาประกาศตัวเองว่าเป็นศัตรูของชีอะห์ และการก่อการร้ายครั้งแรกของเขาคือการฆ่าชาวชีอะห์ในอิรัก 100 คนพร้อมกัน ผมคิดว่าสื่อฯ มีข้อมูล และในพื้นที่เขาได้ตั้งฐานทัพ ที่เป็นกลุ่มชนของชีอะห์เขาได้ฆ่าและทำลายสุเหร่าทั้งหมด เขามุ่งไปในส่วนของที่เป็นชีอะห์ และทำลายร่องรอยของชีอะห์ และพวกนั้นจะยืนตรงข้ามกับชีอะห์มาโดยตลอด อันที่จริงพวกนี้ไม่ได้เป็นชีอะห์และซุนนี่ พวกนี้เป็นตักฟิรี และผสมพันธุ์กับอัลกออิดะห์ จึงเกิดมาเป็น ISIS และมาก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ผมเชื่อว่าประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางจะมีความสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ของแต่ละประเทศได้
-กับความเข้าใจที่ผิดพลาดในเวลานี้ของสื่อฯ ต่อ ISIS
ผมไม่อยากคอมเมนต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะผมยังไม่ได้เห็นข่าว แต่ผมคิดว่าสื่อ ทุกคนมีวิจารณาณและมีความสามารถเพียงพอในการสื่อสารกับประชาชนได้เข้าใจ ชีอะห์นั้นเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจ มีปรัชญามีความซื่อสัตย์ และมีอุดมการณ์ของตนเองที่จะไม่เหยียบย่ำและก้าวก่ายในนิกายหรือในอุดมการณ์ของคนอื่น ผมอธิบายอีกอย่างว่า จำได้หรือไม่สมัยตาลีบันที่มาปกครองอัฟกานิสถาน ส่วนใหญ่ของประเทศต่างๆ ยอมรับว่าตาลีบันเป็นรัฐบาล มีประเทศเดียวที่ไม่ยอมทำงานและให้ความสนับสนุนกับกลุ่มตาลีบัน คือ อิหร่าน เพราะเราเป็นรัฐบาล ที่เป็นชีอะห์ และได้มีอุมดการณ์ มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลไหนขึ้นมาโดยสุดโต่ง ตกขอบและไม่ยุติธรรม เราจะไม่สนับสนุน เรา (อิหร่าน) ขอย้ำและยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่สนับสนุนกลุ่มที่ก่อการร้ายและกลุ่มที่ หัวรุนแรง สุดโต่งและตกขอบ
-หลังสงครามน้ำมันความสัมพันธ์กับซาอุฯ เป็นอย่างไร
หนึ่งในอุดมการณ์การทำงานทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านคือสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่อิหร่านจะยื่นมือแห่งความเป็นมิตรให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านเสมอ และจะบอกว่าถึงเราจะยื่นมือแห่งความเป็นมิตรไปแต่เรายังมีอำนาจบนความสามารถของเราอยู่ ที่เรายื่นมือไปทำความเข้าใจและทำความเป็นมิตรไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่เราต้องการความเป็นเพื่อนสำหรับทุกประเทศรอบข้าง และทุกประเทศในโลก เราภาวนา ที่จะให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดขึ้นให้ได้ทุกประเทศ โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย
และหวังอย่างยิ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเราในตะวันออกกลางจะแน่นแฟ้นถึงขั้นที่ว่า จะไม่มีภัยอันตรายในตะวันออกกลาง ทุกวันนี้อิหร่าน พร้อมที่จะเป็นมิตร เป็นเพื่อน และพร้อมสำหรับความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ หนึ่งในบรรทัดฐานต้นๆ ของเราคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในตะวันออกกลาง
-กับความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศไทย
ระหว่าง ไทยและอิหร่าน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ธรรมดาทั่วๆ ไป แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีอายุยาวนานทางประวัติศาสตร์ ยาวนานเกือบพันปี อายุความสัมพันธ์จะเป็นสิ่งที่รับประกันความสัมพันธ์อันยาวนานนี้ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิหร่านไม่เพียงเฉพาะเชิงการทูตและการเมือง ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกลงไปในด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเป็นความสัมพันธ์อันดีในระดับของประชาชนอีกด้วย
ระหว่างอิหร่านและประเทศไทย ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและการเมืองที่ดี ในมุมมองของยูเอ็น หลายๆ กรณี ไทยปกป้องอิหร่าน และอิหร่านปกป้องไทย สำหรับบางกรณี อิหร่านพร้อมยกที่นั่งเพื่อให้ไทยได้รับคะแนนมากขึ้น ในมุมมองของสากล เรามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาก ถ้าจะถามว่าการคว่ำบาตรกระทบกับความสัมพันธ์ ทางการทูตและการเมืองไทยกับอิหร่านหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่มี เราสองประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้ อำนาจของใคร
–สุดท้ายกับกรณีท่าทีของมหาอำนาจ ต่อรัฐบาลไทย อิหร่านมองเรื่องนี้อย่างไร?
ระบบ การเมืองของอิหร่าน ในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับประเทศต่างๆ มีบรรทัดฐานมีนโยบายที่แน่ชัด และในรากฐานที่ตั้งไว้คือการไม่ก้าวก่ายในการเมืองหรือรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ความสัมพันธ์ของอเมริกา กับไทย เป็นเรื่องของสองประเทศ ที่เรา (อิหร่าน) จะเป็นบุคคลที่สาม และจะไม่ก้าวก่าย เรามีหน้าทีเดียวคือการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและไทย ผ่านโปรเจ็กต์งานและความร่วมมือต่างๆ
บรรทัดฐาน ในการคบหากับไทย คือความเป็นมิตร ฉะนั้นเรื่องของมิตรและศัตรูของประเทศไทย ถือเป็นเรื่องภายในของประเทศ เรา (อิหร่าน) คบหากับประเทศไทย เรื่องระหว่างอเมริกาและไทย อิหร่านคงไม่ไปก้าวก่ายในส่วนนี้ ผมขอยืนยันในจุดยืนที่เป็นสุภาพบุรุษพอ และหวังว่าความสัมพันธ์ของเรากับทุกประเทศจะเป็นความสัมพันธ์ ที่เป็นเหมือนมิตรและเพื่อนมากกว่า เรา (อิหร่าน) ไม่คิดจะยินดีกับการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งทะเลาะกันหรือมีปัญหา
ผู้ช่วยบรรณาธิการ สำนักข่าวเดอะพับลิก, นสพ.เดอะพับลิกโพสต์