“ครม.” อนุมัติปรับโครงสร้างการเงินธนาคารอิสลาม พร้อมให้คลังเพิ่มทุน 18,100 ลบ. พร้อมโอนหนี้เสียให้ IAM บริหาร “บิ๊กตู่” ลั่นต้องหาคนทำไอแบงก์เสียหายให้ได้!!
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามประเทศไทย โดยให้กระทรวงการคลัง สามารถถือหุ้นเกินสัดส่วน 49% ได้ จากปัจจุบันถืออยู่ที่ 48% นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ธนาคารอิสลามดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPF ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิม พร้อมหลักประกันให้บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และให้ IAM รับโอนหนี้ NPF ยกเว้นแต่ยอดหนี้ NPF ในโครงการที่รัฐบาลจะชดเชยความเสียหาย โดยกำหนดราคาโอนในราคามูลค่าตามบัญชีสุทธิ ณ วันโอนสินทรัพย์
ทั้งนี้ ยังอนุมัติให้รัฐบาล จัดสรรงบประมาณให้กับ IAM เพื่อชดเชยต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และสำรองเพื่อการดำเนินงานในส่วนที่เกินจากรายรับในแต่ละปี โดยให้ IAM ดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อชำระเงินดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนเป็นจำนวน 18,100 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อให้ส่วนของทุนอยู่ในระดับที่ไม่ติดลบ สำหรับแหล่งเงินในการเพิ่ม คือ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลัง 2,000 ล้านบาท เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในส่วนที่เหลือ
สำหรับปัญหาของธนาคารอิสลาม เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเริ่มขาดทุนและประสบปัญหาหนี้เพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งในปี 2557 มี NPF สูงถึง 47,878 ล้านบาท หรือ 43.40% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมด และมีผลขาดทุนสะสมถึง 28,278 ล้านบาท
นายณัฐพร กล่าวว่า ในที่ประชุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ธนาคารอิสลาม เร่งหาผู้กระทำความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารให้ได้ และกลุ่มที่กระทำความผิด ห้ามนำชื่อตนไปแอบอ้างว่าเป็นคนสนิทหรือเป็นเพื่อนโดยเด็ดขาด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสรรหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับธนาคารอิสลามนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับการปรับโครงสร้างนั้น เพื่อเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานทั้งการเพิ่มฐานลูกค้ามุสลิม ลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 200 ล้านบาท พิจารณาการปิดสาขาที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่าย 50 ล้านบาทต่อปี ปรับลดขนาดโครงสร้างองค์กร ปรับลดกรอบอัตรากำลังลด NPF อยู่ในระดับไม่เกิน 6% ของสินเชื่อรวม โดยภายหลังการโอนหนี้ในส่วนของลูกหนี้ที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังIAM จะมี NPF ของลูกค้ามุสลืมเหลือ 3,600 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ