ซาอุฯ จะสูญเสียอะไรบ้าง หลังวิกฤติขัดแย้งรัฐอ่าวอาหรับคลี่คลายลง ??

ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินผลกระทบของวิกฤติอ่าวเปอร์เซียเกี่ยวกับนโยบายในอนาคตของกาตาร์และบทบาทในภูมิภาค แต่ไม่ยากนักที่จะประเมินผลกระทบและความสูญเสียเชิงยุทธศาสตร์ของซาอุดิอาระเบียหลังสิ้นสุดวิกฤติในครั้งนี้

จุดจบของ GCC (สภาความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ)

การสูญเสียสำคัญที่สุดที่ซาอุฯ จะประสบในอนาคตระยะกลางหรือระยะยาวก็คือการจบสิ้นของ GCC (สภาความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ) สภาแห่งนี้จะ “ไม่เป็นอย่างที่เคยเป็นมา” หลังชาติสมาชิกสำคัญได้ปิดล้อมกดดันกาตาร์อย่างหนักเสมือนจะให้ตายกันไปข้างหนึ่ง

ประเทศอ่าวอาหรับ ไม่เคยใช้มาตรการที่รุนแรงแบบนี้ในประวัติศาตร์ความขัดแย้งของตนนับตั้งแต่ก่อตั้ง GCC ขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจของอิหร่านหลังการปฏิวัติอิสลาม สภายังรักษาความสามัคคีได้แม้ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดและระหว่างความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดโดยใช้แนวทาง “พี่น้อง” เพื่อแก้ไขปัญหา

GCC เป็นตัวอย่างของความร่วมมือ ความสามัคคี และทิศทางทางการทูตเดียวที่หาได้ยากในสถานการณ์ที่ล้มเหลวและเปราะบางของโลกอาหรับ แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นอดีต หลังมีการปิดล้อมและคว่ำบาตรกาตาร์ โดยการนำของซาอุฯ พี่ใหญ่ ทั้งเป็นการดำเนินการโดยไม่เรียกประชุม GCC เพื่อหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งและวิธีการที่สามารถที่จะแก้ไขก่อนที่จะใช้มาตรการขั้นรุนแรง

และการสิ้นสุดของ GCC สำหรับซาอุฯ หมายถึงอะไร?? นั่นก็หมายถึงการสิ้นสุดบทบาทของตนในฐานะ “พี่ใหญ่” กลุ่มประเทศอ่าวไปตลอดกาล

การสูญเสีย “คูเวต” และ “โอมาน”

ในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น ประมุขแห่งคูเวตพยายามที่จะมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติในเชิงบวก พระองค์ได้เดินทางไปทั่วทั้งกรุงริยาด อาบูดาบี และโดฮา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในแบบพี่ๆ น้องๆ แต่ที่สุดพระองค์ก็กลับไปคูเวตโดยโดยไม่มีการแถลงข่าวหรือสัญญาว่าวิกฤตินี้จะยุติลง ซึ่งก็หมายความว่าความพยายามในครั้งนี้ของพระองค์ประสบความล้มเหลว

สำหรับสุลต่านแห่งโอมานนั้นยังคงเงียบสนิท โอมานไม่ได้ออกแถลงการณ์หรือแสดงออกทางการทูตใดๆ ตลอดช่วงเวลาที่วิกฤติอ่าวอาหรับปะทุขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าซาอุฯ ล้มเหลวในการควบคุมหรือชี้นำประเทศอ่าวแห่งนี้

สำคัญกว่าความล้มเหลวนี้ก็คือ การสูญเสียเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของซาอุฯ ในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน ซาอุฯ กลายเป็นประเทศที่ต้องการครอบงำหรือกำหนดนโยบายต่างประเทศให้กับชาติเพื่อนบ้าน

สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้คูเวตและโอมานต้องมองหาพันธมิตรใหม่ เพื่อปกป้องตัวเองจากเพื่อนบ้านขาใหญ่ ที่อาจตัดสินใจปิดล้อมพวกเขาในอนาคตหากดำเนินนโยนบายต่างประเทศที่แตกต่างกับริยาด หรือทำให้ริยาดไม่พอใจ

ที่ผ่านมา ประเทศอ่าวอาหรับเชื่อว่าพวกเขาได้รับความคุ้มครองจากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และสามารถพึ่งพาวอชิงตันเพื่อรักษาความสมดุลและความมั่นคงในประเทศอ่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และความมั่นคงสำหรับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามวิกฤติที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาสรัฐฯ อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอแล้ว

กาตาร์ใหม่

ผลจากวิกฤติครั้งนี้จะทำให้กาตาร์ตระหนักว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และการมีฐานทัพในดินแดนของตนไม่ได้ช่วยให้รอดพ้นจากการปิดล้อมของเพื่อนบ้านเลย หลังผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้กาตาร์คงจะเปลี่ยนนโยบายในระยะยาว ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะทำให้ซาอุฯ สูญเสียสถานะ “พี่ใหญ่” ในภูมิภาคนี้

กาตาร์จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทหารกับตุรกีและจะพยายามเพิ่มจำนวนทหารในฐานทัพตุรกี ซึ่งแน่นอนว่าความพยายามนี้เห็นได้ชัดแล้วหลังเกิดวิกฤติเพียงไม่กี่วัน นอกจากนี้มีแนวโน้มว่ากาตาร์จะลงนามในข้อตกลงป้องกันประเทศกับปากีสถานด้วย และแน่นอนที่สุดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับอิหร่านนั้นอย่างน้อยที่สุดก็คือ “การยุติความขัดแย้งระหว่างกัน”

สิ่งเหล่านี้หมายความว่าซาอุฯ จะพบว่าที่ชายแดนของประเทศระหว่างซาอุฯ-กาตาร์มีข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศ (ตุรกีและปากีสถาน) และจะพบว่าหลังจากนี้โดฮาได้พัฒนาหรือปรับปรุงความสัมพันธ์กับเตหะราน จากที่ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของพวกเขาตกต่ำลงเนื่องจากวิกฤติซีเรีย  และการร่วมมือของกาตาร์กับซาอุฯ ในกรณีเยเมน

นอกจากสูญเสียด้านการเมืองและยุทธศาสตร์แล้ว หลังจากนี้รูปแบบทางเศรษฐกิจของกาตาร์ก็ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้าในซาอุฯ ที่ส่งออกไปกาตาร์ เพราะโดฮาตระหนักแล้วว่าไม่สามารถพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่อไปเพราะพวกเขาอาจปิดล้อมได้ทุกเมื่อที่เกิดข้อพิพาททางการเมือง

อนาคตโดฮาอาจตั้งโรงงานผลิตอาหารในดินแดนของตนโดยร่วมมือกับพันธมิตรตุรกีซึ่งได้รับประโยชน์จากวิกฤตการณ์ทางเศรษษฐกิจครั้งนี้

คนที่จะเรียกปีศาจออกมา ต้องสามารถขับไล่ได้ด้วย

สุภาษิตอียิปต์กล่าวว่า “คนที่จะเรียกภูติผีปีศาจออกมา ก็จะต้องสามารถขับไล่มันได้ด้วย” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าคุณกำลังจะทำสงครามกับฝ่ายตรงข้ามคุณต้องคำนึงทุกอย่างก่อนจะลงมือ และตรวจสอบแล้วว่าคุณสามารถป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายในกระบวนเหล่านี้

ความต้องการและข้อกล่าวหาหนึ่งที่ซาอุฯ กับชาติพันธมิตร ทุ่มใส่กาตาร์อย่างรุนแรงก็คือ การชี้หน้าว่ากาตาร์เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน “การก่อการร้าย” กระนั้นข้อกล่าวหานี้ก็ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์เพราะความสับสนในอัตลักษณ์ของกลุ่มก่อการร้าย ที่มีตั้งแต่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม และ กลุ่มฮามาสแห่งปาเลสไตน์ และรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายอื่นที่ถูกจับยัดเข้ามา

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เท่ากับ ซาอุฯ ได้ปลุก “การก่อการร้าย” ออกมาเป็น “ปีศาจ” เพื่อเผชิญหน้ากับกาตาร์ แต่คำถามคือ หลักจากวิกฤติความขัดแย้งนี้ได้รับการแก้ไขหรือผ่อนคลายลง ซาอุสามารถขับไล่หรือยกเลิกปิศาจนี้ไม่ให้ย้อนกลับมาทำร้ายตนได้หรือไม่???

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ “ลัทธิวะฮาบี” ถูกตราหน้าจากหลายภาคส่วนว่าคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อปรากฏการณ์แห่งความโหดร้ายและการก่อการร้ายที่แสดงออกโดยองค์กรและกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น “อิสลามิสต์, ซาลาฟิสต์, และญิฮาดิสต์” ??

ซาอุฯ จะใช้ปีศาจตัวนี้เผชิญหน้าอย่างไรกับ กฎหมาย “JASTA” (Justice Against Sponsors of Terrorism Act) ของสหรัฐฯ ที่พยายามลงโทษซาอุฯ โดยญาติผู้เสียชีวิตจาก 9/11 เตรียมใช้ฟ้องซาอุฯ ว่าเอี่ยววินาศกรรมและและเรียกเงินชดเชย

ซาอุฯ คิดว่าจะสามารถใช้โอกาสนี้ทำลายกาตาร์ได้ โดยลืมคิดไปว่าปีศาจ “ก่อการร้าย” ที่เรียกออกมาตัวเดียวกันนี้แหละที่อาจจะย้อนกลับมาเข้าตัวในวันใดวันหนึ่งที่วอชิงตันอาจจะทำเช่นนั้นกับซาอุฯ บ้าง

 

อ้างอิง

– arabi21