โลกตะวันตก VS โลกมุสลิม กับ การปะทะทางอารยธรรม

หากติดตามข่าวต่างประเทศในขณะนี้ เชื่อว่า ตามหน้าสื่อต่างๆจะปรากฏหัวข้อหลักในเรื่องของการที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ หัวรุนแรง IS หรือกลุ่มที่อ้างว่าเป็นรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria)  กองกำลังของกลุ่มนี้ได้ทำการสังหารตัวประกันชาวญี่ปุ่น 2 ราย และสังหารนักบินชาวจอร์แดน ที่เป็นการปลุกกระแสเรื่องราวระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมให้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งในปี 2015

ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น  ทำให้นึกถึงเรื่องราวของ ทฤษฎีการ ปะทะทางอารยธรรม ” The Clash of Civilizations”  ทฤษฎีอันโด่งดังที่นำเสนอโดย  แซมมวล พี ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington)  ทฤษฎีดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงมาได้อย่างต่อเนื่องถึงการบุกอัฟกานิสถานและ การบุกอิรักของสหรัฐอเมริกา และการแพร่ขยายของลัทธิต่อต้านการก่อการร้ายไปทั่วทั้งโลก

เดิมที ฮันติงตัน ได้เขียนหัวข้อนี้เป็นบทความในวารสาร “Foreign Affairs” ในปี 1993  สองปีหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย  และต่อมาได้เขียนขยายบทความของเขาเป็นหนังสือเรื่อง ”การปะทะกันระหว่างอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (The Clash of Civilization and the remaking of the New World Order)  ซึ่งถูกตี พิมพ์ในปี 1996  และได้รับการแปลถึง 22 ภาษา  เพื่อ เอามาคัดค้านกับทฤษฎีจุดจบของประวัติศาสตร์  จากหนังสือ The End of History and the Last Man (1992) ที่ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์และนักคิดชื่อดังเขียนระบุไว้ว่า  เมื่อสงครามเย็นจบลงพร้อมกับความล่มสลายของสหภาพโซเวียต ด้วยการปฏิวัติครั้งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยผลักดันให้เกิดการแพร่กระจายของ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไปทั่วทั้งโลก

ฟู กูยาม่าระบุว่า ประวัติศาสตร์ที่จะเป็นจุดสุดท้ายหรือขั้นสุดยอดของมนุษยชาติมิใช่โลก คอมมิวนิสต์ตามคำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์   หากแต่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy)  ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกคัดค้านโดยฮันติงตัน ด้วย ทฤษฎีการปะทะกันของอารยธรรม  ฮันติงตันคาดการณ์ว่าในอนาคต การปะทะกันทางอารยธรรมจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งหลักของโลก

แนวคิดของฮันติงตัน คือ หลังจากที่ยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว  จะมีอารยธรรมสำคัญๆ อยู่ 7 – 8 อารยธรรม และสิ่งที่คงเหลืออยู่คือ มีความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมสำคัญ ๆ ของโลก โดยเฉพาะอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมอิสลามและอารยธรรมขงจื้อ(จีน)  ยิ่งเมื่อ เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมตึกเวิลดิ์เทรดในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ 2001 หรือ 9/11  ซึ่งเป็นเหมือนเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ในโลกยุคใหม่ ที่แบ่งแยกโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมออกจากกันทำให้ทฤษฎีแนวความคิดของฮันติง ตันโด่งดังมากขึ้น  เป็นเหตุให้คนทั่วโลกจับตามองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลก มุสลิม  และภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11  การปะทะกันระหว่าง 2 อารยธรรม(ตะวันตก-อิสลาม) ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ ในสหรัฐอเมริกา – มีการ สร้างกระแสความเกลียดชังอิสลาม   มีการปลุกกระแสต่อต้านคัดค้านศูนย์วัฒนธรรมอิสลามและมัสยิด  มีการเผาคัมภีร์อัล-กุรอาน ของชาวมุสลิมที่โบสถ์คริสต์ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ โดยบาทหลวงเทอร์รี่ โจนส์ ในวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ระดับนานาชาติ  จนนำไปสู่การประท้วงในอัฟกานิสถาน และจากเหตุการณ์นี้  มีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเสียชีวิต 7 คน ระหว่างการประท้วงในเมืองมาซาร์-อี-ชารีฟ  ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากการประท้วงประณามการเผาอัลกุรอานในอัฟกานิสถานมี มากกว่า 20 ราย

เหตุการณ์ในเอเชีย – เกิดเหตุระเบิดในบาหลี ค.ศ. 2002 ขึ้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม  ค.ศ. 2002  ในย่านท่องเที่ยวคูตา (Kuta) บนเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย การ โจมตีดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ก่อการร้ายครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ อินโดนีเซีย  มีชาวตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียมากกว่า 80 คนเสียชีวิต
เหตุการณ์ในทวีปยุโรป – เช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 เกิด การระเบิดขึ้น 4 ครั้งต่อเนื่อง ที่กรุงลอนดอน ในอังกฤษ รถไฟใต้ดิน 3 ขบวนถูกวางระเบิดภายในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงรถเมล์สองชั้นอีกหนึ่งคันก็ถูกระเบิด  เหตุการณ์นี้ได้รับการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 56 ศพ และผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า  700 คน
เหตุการณ์ ในสเปน – เวลา 7.39 น. เช้าตรู่ของวันที่ 11 มีนาคม 2004 รถไฟกำลังจะเข้าเทียบสถานี Atocha ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของเมืองมาดริด เมื่อเหลือระยะทางอีกเพียง 500 เมตร จะถึงสถานี เสียงระเบิดลูกแรกดังขึ้น อีกไม่กี่นาทีต่อมา ระเบิดลูกอื่นๆ ก็ระเบิดตามกันมา สรุปรวมได้ 14 ลูก ใน 4 ขบวน ใน 3 จุด 3 สถานี รวมผู้โดยสารร่วมขบวนทั้งหมด 6,000 คนผลก็คือมีผู้เสียชีวิต 200 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,500 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสเปน

เหตุการณ์ ในฝรั่งเศส  เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดเหตุมือปืน 2-3 คน บุกใช้ปืนคาลาชนิคอฟและเครื่องยิงจรวดเป็นอาวุธยิงถล่ม อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ชาร์ลี เอบโด” ใจกลาง กรุงปารีส  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน ในจำนวนนี้เป็นนักข่าวและบรรณาธิการ 10 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งนั้น  สาเหตุ เนื่องมาจากความไม่พอใจการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนท่านนบีมุฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลามของนิตยสารฉบับนี้มาตลอดระยะเวลาหลายปี (มีคนเปรียบเทียบว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ 9/11 ของฝรั่งเศส)  ทำให้เกิดกระแสความกลัวอิสลาม(Islamophobia) ขึ้น มีการประท้วงต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิม ไปทั่วทั้งยุโรป

รวม ไปถึงกระแส จากบรรดาผู้นำประเทศทั่วโลกที่เดินทางมาเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงในกรุง ปารีส โดยคำเชิญจาก ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ อัลลองด์ ของฝรั่งเศส เพื่อร่วมประนามเหตุกราดยิงที่ทำการหนังสือพิมพ์ชาร์ลี เฮบโด  กับเหตุการณ์จับตัวประกันที่โกเช่ร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้ง 2 เหตุการณ์นี้จำนวน 17 คน  ซึ่งปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำชาติยุโรป รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล

นอก เหนือจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาพของผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ที่ถูกนำเสนอออกไป เช่น , เหตุการณ์จับตัวประกันในโรงละครที่กรุงมอสโก  ประเทศรัสเซีย , เหตุการณ์จับตัวประกันที่ชิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย

การปะทะกันที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมานั้น แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เพียงบางส่วนที่เกิดขึ้น  และในบางเหตุการณ์อาจถูกตั้งคำถาม  มีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องของทฤษฎีสมคบคิด  และความซับซ้อนของเหตุการณ์ก็ตาม แต่จาก ภาวการณ์ของโลกที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ยิ่งหนุนเนื่องให้ ทฤษฎีของฮันทิงตัน มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า โลกใบนี้หนีไม่พ้นการปะทะทางอารยธรรมในที่สุด

ซึ่ง แนวความคิดของฮันติงตัน  เป็นการจุดชนวนทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม  อีกทั้งยังถูกโจมตีอย่างหนักจากนักวิชาการแขนงต่างๆ  โดยมองว่าแนวคิดของฮันติงตันเป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม

ในขณะเดียวกัน นายมูห์ฮัมหมัด คาตามี ( Mohammad  Khatami) อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (ซึ่งเป็นประเทศที่ชาติตะวันตก มองว่าเป็นศัตรู) ได้นำเสนอหัวข้อการสนทนาระหว่างอารยธรรม  ในการประชุม ณ. สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ อีก ทั้งยังสรุปความเห็นตรงกันกับประเทศอื่นๆที่เข้าร่วมการประชุมว่า  “การสนทนาระหว่างอารยธรรมจะช่วยให้ทุกประเทศหันเหจากความเป็นศัตรูและการ เผชิญหน้ามาสู่การสนทนา ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข”

จากมุมมองทางทฤษฎีของฮันติงตันที่มองว่า  อัตลักษณ์ของอารยธรรมเป็นสิ่งที่ตายตัวถาวร  โดย มีสมมุติฐานว่าแต่ละวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอยู่อย่างเป็นอิสระจากกัน ไม่สามารถผสมผสานอยู่ร่วมกันได้  จะต้องเกิดการปะทะกันในที่สุด และอารยธรรมที่เข้มแข็งที่สุดจะดำรงอยู่ได้นั้นในทางกลับกัน  ฮันติงตันไม่ได้มองในแง่ของการประนีประนอมและความกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน  ในเมื่อโลกของเราทุกวันนี้เป็นโลกแห่งการผสมผสาน  มีการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีวัฒนธรรมหรือสังคมใด ที่บริสุทธิ์เพียงหนึ่งเดียว

จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด   ที่เราควรมุ่งเน้นให้ความสนใจ ในเรื่องที่เป็นสากล  เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน  ความยุติธรรม  ความเสมอภาค  เน้นการแบ่งปันช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์   มากกว่าการสร้างพฤติกรรมยั่วยุ  การปลุกปั่นกระแสคลั่งชาติ –  คลั่งวัฒนธรรม  เราควร ยอมรับว่าในสังคมโลกยังมีทัศนคติ  ความเชื่อ  และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไป  ซึ่งพิสูจน์ได้จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา  ที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางอารยธรรม  และมีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด   แต่ปัจจุบันอารยธรรมต่างๆก็ยังคงดำรงอยู่  แสดงให้เห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันมาได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องห่ำหั่น  หักล้างกันให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้และสูญหายไปจากโลกนี้

หากเราไม่ให้ความร่วมมือและมีการแลกเปลี่ยนทางอารยธรรมระหว่างกันอย่างสันติแล้ว  ความขัดแย้งบนโลกใบนี้ก็คงยังจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด  และอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงสูญเสียยิ่งกว่าที่ผ่านมา จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากเราใช้การเจรจา สร้างความเข้าใจ ประนีประนอมรอมชอมระหว่างกัน  เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าปะทะกันด้วยความรุนแรง ….?