ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้นำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ชมวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบบูรณาการไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นให้คนภายในชุมชนเกิดการพัฒนาอาชีพขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เป็นภูมิปัญญาที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การสร้างอาชีพที่พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นคือการ “สร้างรายได้” ที่ต้องทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการสร้างอาชีพจากวิถีท้องถิ่น การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นครั้งนี้ก็เพื่อให้ได้เห็นภาพชัดการดำเนินการของกรมการพัฒนาชุมชน
การเดินทางครั้งนี้คณะสื่อมวลชนได้ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้สานต่อความพอเพียง ภายใต้โครงการ “Way of Life วิถีความพอเพียง สร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้”

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “โครงการ “Way of Life” เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากไร้ในชุมชนนำไปสู่ชีวิตที่มั่นคงได้”
นายอภิชาติเผยว่า โครงการมีแนวทางการขับเคลื่อน 4 ขั้นตอน ที่เป็นกระบวนการที่สามารถจับต้องได้และวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน นั่นคือ 1.การค้นหาและเตรียมครูฝึก 2. การฝึกสอนหรือถ่ายทอดความรู้ 3.การนำไปปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต และ 4. หมู่บ้านหรือชุมชนประกาศตนเป็นหมู่บ้านพึ่งตนเอง
“ทุกขบวนการตั้งแต่ฝึกสอน ถ่ายทอดความรู้ ปฏิบัติจริง สู่วิถีชีวิต กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในระดับประชาชนแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง” นายอภิชาติกล่าว
วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด
การนำคณะสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มุ่งเน้นการพาชมตัวอย่างกิจกรรมการยกระดับเศรษฐกิจเชิงฐานราก โดยการสร้างอาชีพครัวเรือน หรือที่เรียกว่า “สัมมาชีพ”
ในพื้นที่ชุมชนสัมมาชีพต้นแบบ ที่หมู่บ้านหลักเขต ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มกันนำ “กล้วย” ผลิตผลทางการเกษตรที่มีอยู่ในชุมชนและปลูกกันอยู่ทุกครัวเรือน นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้ในแต่ละครัวเรือน รวมทั้งได้มีปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่คอยให้คำแนะนำถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
‘กัลยา สายประสาท’ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการแปรรูปกล้วยออกสู่คนในชุมชน เล่าว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มหันมาสร้างรายได้จากภูมิปัญญาในครัวเรือน ผลผลิตกล้วยซึ่งปลูกกันทุกครัวเรือนได้ถูกนำมารวมกลุ่มกันแปรรูป โดยปราชญ์ชาวบ้านจึงได้ชักชวนแกนนำวิทยากร 4 คน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย และชาวบ้าน มาช่วยกันก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านหลักเขตขึ้นเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่ ซึ่งปราชญ์และวิทยากรชุมชน จะต้องมีการเข้าอบรมความรู้จาก พช. แล้วเราก็ได้นำความรู้ที่อบรมแปรรูปกล้วยมาปรับใช้กับความรู้เดิมถ่ายทอดสู่คนในชุมชน
กัลยา ยังเล่าต่อไปอีกว่า ชาวบ้านที่มีความสนใจงานแปรรูปก็จะมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้าน เราก็จะสอนตั้งแต่การปอก การหั่น การผสมรสชาติ เค็ม หวาน การทำให้กล้วยฉาบได้มาตรฐานการผลิต ตลอดจนถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนการผลิตซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกล้วย ประมาณจำนวน 50-100 ถุง เฉลี่ยราคาอยู่ที่ประมาณถุงละ 20 บาท เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะนำขึ้นทะเบียนโอทอป ซึ่งการรวมกลุ่มแปรรูปในชุมชน ช่วยลดปัญหาหนี้สิน และยังช่วยเพิ่มเทคนิคการทำสัมมาชีพให้คนในชุมชน จากการแปรรูปกล้วยฉาบไปสู่การแปรรูปฟักทอง มันฉาบ และผลผลิตอื่นๆ ในแต่ละครัวเรือนด้วย
‘วรรณวิภา ธุวะชาวสวน’ เกษตรผู้ส่งเสริมการปลูกกล้วย เล่าว่า ตนเองคือหนึ่งในผู้ทำงานรับจ้างในเมืองที่เป็นหนี้สะสม หารายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด และได้ไปเห็นการสร้างอาชีพของคนในชุมชน จึงเกิดการเรียนรู้มุมมองใหม่ขึ้น โดยมีปราชญ์ชาวบ้านให้คำแนะนำ ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการพึ่งพาตนเอง
จนกระทั่งได้เกิดความคิดในการเลี้ยงชีพจากวิถีชีวิตบ้านเกิด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นจาการพออยู่พอกิน ปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานภายในบ้าน เมื่อผลผลิตออกผลจำนวนมากจนเหลือจึงนำออกขายสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ต่อมาจึงพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบบ้านให้เป็น ศูนย์เรียนรู้การปลูกกล้วยแบบผสมผสาน จำนวน 2 ไร่ ที่มีการปลูกพืชรายวันและรายเดือน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งเดือน รายได้หลักต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท และรายได้ต่อเนื่องเป็นรายวันตามผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ รายได้หลักเน้นที่การผลิตกล้วย ในหมู่บ้านมีการแปรรูปกล้วยกันเอง รวมทั้งรับซื้อกล้วยของคนในพื้นที่ โดยให้ราคาจริงในท้องตลาด เฉลี่ยหวีละประมาณ 20-35 บาท นอกจากนี้กล้วยเป็นพืชที่สามารถขายได้ทั้งหน่อ หัวปลี ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 15 บาท รวมทั้งพืชผักในสวน จะส่งขายตามตลาดนัด หรือมีบางช่วงจะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อทั้งสวนของตนเองและคนในหมู่บ้านเพื่อส่งขายตลาดไท
วันนี้สามารถกล่าวได้ว่า หมู่บ้านหลักเขตคือต้นแบบวิถีชีวิตบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้สัมมาชีพในท้องถิ่นสร้างรายได้แบบพึ่งพาตนเอง การแปลงต้นทุนวัตถุดิบในครัวเรือน เลี้ยงชีพครัวเรือน เลี้ยงชีพชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งในระบบต้นน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสำนึกรักบ้านเกิดจากภูมิปัญญา สัมมาชีพชุมชนอย่างแท้จริง สร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
‘ฅญาบาติก’ นวัตกรรมโอทอป ยกระดับภูมิปัญญาสู่เยาวชนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมโอทอปภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า “ฅญาบาติก” ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
“ฅญาบาติก” เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์ระดับมืออาชีพ ด้วยงานศิลป์บนผืนผ้าไหมในรูปแบบของชิ้นงานที่มีอัตลักษณ์บนความหลากหลาย จนกระทั่งได้กลายเป็นโอทอปขึ้นเครื่องและเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมโอทอปที่ถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านชิ้นงานแบรนด์ ‘ฅญาบาติก’ ที่เป็นฐานรากการสร้างอาชีพจากภูมิปัญญาสำคัญของคนในชุมชน
คุณชนัญญา ดรเขื่อนสม เจ้าของแบรนด์ ‘ฅญา’ บอกว่า หลังจากประสบพิษเศรษฐกิจในปี 2540 ก็กลับบ้านมาเปิดร้านตัดเสื้อเล็กๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่นิยมมาตัดชุดผ้าไหม หวังจะใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง จึงได้มีโอกาสเข้าอบรมการทำผ้าบาติก จนเกิดเป็นแนวคิดการนำผ้าไหมมาวาดลายบาติกขึ้น โดยเน้นการออกแบบลวดลายให้สะท้อนวิถีอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายดินแห้งแล้งแตกระแหง ลายใบไม้ ดอกไม้ แล้วนำไปเสนอลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ชื่นชอบ รวมถึงผู้ที่พบเห็นก็เกิดการบอกกล่าวกันปากต่อปาก จึงทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก
และเมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จึงได้ส่งต่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ไปสู่ชุมชนในพื้นที่ โดยการแบ่งปันงานตามความถนัดของแต่ละบ้าน การจัดสรรงานตามความชำนาญงานฝีมือแต่ละประเภทอย่างเป็นระบบ ใครที่มีความถนัดเย็บจะมีการจ้างงานเย็บเพียงอย่างเดียว ใครถนัดทอผ้าก็ทอผ้า หรือแม้กระทั่งการเขียนลาย ซึ่งมีอัตราการจ้างต่อชิ้นในราคาที่ยุติธรรม
การผลิตสินค้าด้วยความชำนาญในทุกขั้นตอน ที่มุ่งเน้นการไม่ใช้ต้นทุนเป็นตัวเงิน แต่ใช้วัตถุดิบที่มีจากแต่ละท้องที่ เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ที่มั่นคงถาวร ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในด้านต้นทุนการผลิตได้ ถือเป็นการสร้างฐานรากทางอาชีพให้คนในพื้นที่ได้ใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบที่ตนเองมีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วยความภาคภูมิใจ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “ฅญา” เป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้ผ้าไหม 100 % ใส่ลวดลายบาติก และตัดเย็บเป็นสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ หมอนรองคอ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมอนอิง และกระเป๋าคล้องมือ ราคาเริ่มต้นที่ 450-3,000 บาท โดยสินค้าทุกชิ้นเน้นการออกแบบและลงสีให้สะท้อนเอกลักษณ์วิถีชีวิตตามแบบฉบับคนอีสาน ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นผลงานที่เห็นในปัจจุบันนั้นต้องอาศัยความอดทนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง จนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จที่
ปัจจุบัน ‘ฅญา’ กลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปขึ้นเครื่องที่มียอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หมอนรองคอสัปดาห์ละ 500 ชิ้นจัดวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี KING POWER ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นและโอกาสข้างหน้าจะมีการขายในระบบ e-commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมากในขณะนี้และรางวัลที่การันตีผลงานให้ “ฅญา” ก้าวสู่การเป็นสินค้าโอทอปที่มีวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี KING POWER และจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกบนเครื่องบินของสายการบินไทยที่ถูกใจทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาตินั่นคือการได้รับคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาวประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยประจำปีพ.ศ.2559 ซึ่งสนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย
‘ฅญา’ เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนในชุมชนตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าโอทอป ด้วยแนวคิดเชิงนวัตกรรม ต่อยอดจากภูมิปัญญา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นต่อไป
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รวมไปถึงการมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่พร้อมจะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ในอนาคตอย่างยั่งยืนตลอดไป