หลายปีมาแล้วที่ตะวันออกกลางตกอยู่ในภาวะวิกฤติและปั่นป่วน หลายประเทศในภูมิภาคนี้ดำดิ่งเข้าสู่การสู้รบและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อโดยไม่มีท่าทีว่าจะสงบลงในระยะเวลาอันใกล้ ผู้เล่นในสมรภูมิความขัดแย้งนอกจากจะเป็นชาติอาหรับด้วยกันแล้วก็ยังมีชาติมหาอำนาจที่เข้าไปมีเอี่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทั้งเผชิญหน้าโดยตรงและสงครามตัวแทน กองบรรณาธิการเดอะพับลิกโพสต์ได้รวบรวม 10 เหตุการณ์ในรอบ 1-2 เดือนนี้ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ “ไม่ปรกติ” อันอาจเป็นชนวนหรือเชื้อปะทุที่นำไปสู่สงคราม “ครั้งใหญ่” ในภูมิภาคนี้
1. ทรัมป์เยือนซาอุฯ
วันที่ 20 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โดนัล ทรัมป์” เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนับเป็น “ชาติแรก” ในการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขาตั้งแต่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเดินทางเยือนซาอุฯ ของทรัมป์อาจเป็นปฐมบทของเหตุการณ์อื่นๆ ที่จะกล่าวถึงในลำดับถัดไป
ทรัมป์มองข้ามอย่างสิ้นเชิงต่อเหตุการณ์ “9/11” ที่รัฐบาลซาอุฯ ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังหรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้ก่อการร้าย 15 ใน 19 คน ซึ่งถล่มตึกแฝดที่แมนฮัตตัน ทรัมป์ยังยอมกลืนน้ำลายและทำเป็นลืมเลือนการปราศรัยถล่มซาอุฯ อย่างเผ็ดร้อนของตนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อันสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ “สำคัญยิ่ง” ในการหันมาอี๋อ๋อกับซาอุฯ
นอกจากข้อตกลงชื่นมื่นในการซื้อขายอาวุธมูลค่ามหาศาลกับซาอุฯ แล้ว นัยยะที่ถูกจับตาในการเดินทางเยือนครั้งนี้ก็คือสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้นำชาติมุสลิม 50 กว่าประเทศที่เขาเรียกร้องให้ลุกขึ้นต่อต้าน “พวกสุดโต่ง” และลัทธิก่อการร้าย โดย “ไฮไลท์” อยู่ที่การชี้นิ้วไปยังอิหร่านและตราหน้าประเทศนี้ว่าเป็น “รากเหง้าของก่อการร้ายทั้งปวง” และต้องรับผิดชอบต่อความไม่มั่นคงในภูมิภาคนี้ เขายังประกาศชัดเจนว่าสหรัฐฯ นั้นอยู่ข้างเดียวกับซาอุฯ
อันที่จริง ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอย่างยาวนานระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านได้ผ่อนคลายลงในท้ายสมัยประธานาธิบดีของ “บารัก โอบามา” ที่มีการทำข้อตกลงยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยแลกกับที่อิหร่านยอมเปิดให้มีการตรวจสอบว่าไม่ได้แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทว่าข้อตกลงนี้ก็ทำให้คู่อริในภูมิภาคของอิหร่านอย่างซาอุฯ ไม่พอใจ
การพลิกกลับหลังหันระหว่างนโยบายของ “โอบามา” และ “ทรัมป์” จึงเท่ากับเป็นการก่อกองไฟขึ้นมาเพื่อกลับไปเผชิญหน้ากับอิหร่านอีกครั้ง โดยมีซาอุฯ และชาติอาหรับบางส่วนเป็นพันธมิตร
ในอดีต จอร์ช บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยผลักดันความร่วมมือในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแบบบีบให้เลือกข้าง เขากล่าวว่า “คุณต้องเลือกจะอยู่ข้างเราหรือไม่ก็ต่อต้านเราในการต่อสู้กับก่อการร้าย” (You’re either with us or against us in the fight against terror) ซึ่งกล่าวได้ว่าวันนี้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็กำลังดำเนินนโยบายในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ต่างไปจากบุช
การเดินทางเยือนซาอุฯ ของทรัมป์ โดยเลือกโหมไฟในภูมิภาคด้วยนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่ออิหร่าน แน่นอนว่านี่คือจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์การเชือดเฉือนคำรบใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทว่าการที่อิหร่าน ซาอุฯ และสหรัฐฯ ล้วนเป็นผู้เล่นตัวสำคัญของสงครามตัวแทนในหลายประเทศอาหรับ การเผชิญหน้าครั้งนี้จึงอาจอันตรายกว่าที่ผ่านๆ มา
2. ซาอุฯ และชาติอาหรับตัดสัมพันธ์กาตาร์
“5 มิถุนายน” โลกอาหรับเผชิญวิกฤติการทูตครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี เมื่อชาติอาหรับหลายประเทศนำโดยซาอุดีอาระเบียประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ พร้อมสั่งปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล รวมทั้งไล่พลเมืองกาตาร์พ้นประเทศ
คำประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เกิดขึ้นคล้อยหลังเพียง 2 สัปดาห์ นับจาก“โดนัลด์ ทรัมป์” เดินทางเยือนซาอุฯ ซึ่งนี่ย่อมยากปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นผลพวงจากการเหยียบดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของผู้นำสหรัฐฯ อิหร่านกล่าวโทษทรัมป์ว่าเป็นตัวการจัดการเรื่องนี้ระหว่างเยือนซาอุฯ
ซาอุฯ และชาติอาหรับอ้างเหตุผลในการตัดสัมพันธ์ว่าเพราะกาตาร์สนับสนุน “ลัทธิก่อการร้าย” ทว่าเมื่อพิจารณาเงื่อนไข 13 ข้อที่ซาอุฯ ยื่นในภายหลังให้กาตาร์ปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และยุติการปิดล้อมนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เหตุผลสำคัญก็เพราะโดฮามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเตหะรานจนเกินไป ซาอุฯ และสมาชิกต้องการให้กตาร์เปลี่ยนนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ให้หันไปในทิศทางเดียวกันกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งก็คือการต่อต้านอิหร่าน
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ซาอุฯ ใช้อ้าง ก็คือการที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพ และขบวนการฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งซาอุฯ ให้นิยามว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ประเด็นนี้ทำให้ซาอุฯ สูญเสียสถานะนำในสายตาชาวมุสลิมทั่วโลกที่คลางแคลงในจุดยืนที่แท้จริงของซาอุฯ ต่อประเด็น “ปาเลสไตน์” เพราะการทำลายฮามาสขบวนการต่อสู้ของประชาชนปาเลสไตน์ ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ “อิสราเอล” เท่านั้น
ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของการเผชิญหน้าซาอุฯ-กาตาร์ คาดว่าคงไม่ได้ยุติความมุ่งหมายอยู่เพียงแค่การปิดล้อมและคว่ำบาตรเท่านั้น หากแต่ยังอาจถึงขั้นการใช้ “กำลังทางทหาร” เข้าไปแทรกแซงด้วยหากกาตาร์ไม่ยินยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แน่นอนว่ากาตาร์ก็ตระหนักในประเด็นนี้ดี ในฐานะประเทศเล็กโดฮาจึงขอกำลังสนับสนุนจากตุรกีซึ่งเป็นชาติพันธมิตรมาปกป้องอย่างเร่งด่วนนับแต่วันแรกๆ ที่มีการตัดสัมพันธ์ ซึ่งรัฐสภาตุรกีก็ได้ผ่านกฎหมายให้สามารถส่งทหารไปประจำการยังฐานทัพตุรกีในกาตาร์โดยทันที
ซาอุฯ เคยมีประวัติการส่งทหารเข้าแทรกแซงในประเทศบาห์เรนเพื่อกวาดล้างผู้ประท้วงต่อต้านและช่วยเหลือรัฐบาลบาห์เรนซึ่งเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของซาอุฯ แต่ครั้งนี้หากจะเป็นการส่งทหารไปเพื่อล้มล้างรัฐบาลกาตาร์ก็ย่อมมิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้วัตถุประสงค์จะตรงข้ามกันก็ตาม
ทว่าเมื่อมีตุรกียืนเป็นป้อมปราการทางทหารให้กาตาร์ ซาอุฯ จึงมิอาจบุ่มบ่าม แต่ก็ได้ยื่นเงื่อนไขใน 13 ข้อให้กาตาร์จะต้องปิดฐานทัพของตุรกีในประเทศ และยุติความร่วมมือด้านการทหารกับตุรกี ซึ่งแน่นอนว่ากาตาร์ย่อมไปปฏิบัติตามเพราะนั่นหมายถึงหายนะ กระนั้นซาอุฯ ก็คงยังไม่ล้มเลิกความพยายาม โดยเฉพาะในวันที่ซาอุฯ มีหนุ่มเลือดร้อนอย่างเจ้าชายรัชทายาทคนใหม่ผู้มีอำนาจเต็มซึ่งรั้งตำแหน่งรมว.กลาโหมด้วยแล้ว สถานการณ์จึงพร้อมบานปลายได้ทุกเวลา
3. เคิร์ดอิรักกำหนดวันลงประชามติขอแยกประเทศ
“7 มิถุนายน” ประธานาธิบดีมาซูด บาร์ซานี ผู้นำเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก ประกาศว่า การลงประชามติเพื่อแยกดินแดนเป็นรัฐเอกราชของชาวเคิร์ด จะมีขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ปีนี้
ชนเชื้อสายเคิร์ดถูกจัดให้เป็นกลุ่ม “คนไร้รัฐ” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลังถูกปฏิเสธการก่อตั้งประเทศของตนเองช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัจจุบันชาวเคิร์ดกระจัดกระจายอาศัยอยู่ในดินแดนของหลายประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในอิรัก ตุรกี อิหร่าน และซีเรีย โดยความฝันอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาก็คือ การได้สถาปนารัฐเอกราชเคิร์ดิสถานขึ้นมา
เคิร์ดในอิรักมีความพยายามที่กำหนดลงประชามติเพื่อแยกประเทศมานานแล้ว ทว่าจู่ๆ ในจังหวะที่ตะวันออกกลางกำลังปั่นป่วนนี้ พวกเขาก็ประกาศว่าถึงเวลาที่จะต้องลงประชามติเพื่อเอกราชของชาวเคิร์ด ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกคัดค้านจากรัฐบาลประเทศอิรัก รวมทั้งรัฐบาลของประเทศตุรกีซึ่งปัจจุบันมีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ประมาณ 18 – 25 % ของประชากรทั้งประเทศ 79.8 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยุ่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ติดเขตแดนอิรัก ซีเรีย และอิหร่าน และตุรกีก็กำลังประสบปัญหาการต่อต้านจากชาวเคิร์ด ซึ่งทางการตุรกีกลัวว่า การแยกตัวเป็นเอกราชของชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก จะทำให้ชาวเคิร์ดในตุรกีเดินตามรอยการแยกดินแดนเพื่อไปผนวกรวมกับชาวเคิร์ดอิรัก
นอกจากนั้นการที่มีดินแดนหลายส่วนทับซ้อนกัน และในช่วงจังหวะที่อิรักปั่นป่วนจากไอซิส ชาวเคิร์ดได้ฉวยโอกาสเข้ายึดพื้นที่เพิ่มเติมโดยเฉพาะพื้นที่แหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่รัฐบาลอิรักและประชาชนชาวอิรักส่วนใหญ่นั้นจะยอมให้มีการแยกประเทศของชาวเคิร์ดอย่างเป็นทางการ
4. โจมตีภายในประเทศอิหร่าน
“7 มิถุนายน” ประเทศที่ได้ชื่อว่าเข้มงวดเรื่องความมั่นคงและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างอิหร่านก็ต้องเผชิญกับการก่อการร้ายจากเหตุโจมตีในกรุงเตหะราน 2 จุดที่อาคารรัฐสภาและสุสานของอายะตุลเลาะห์ โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดอิหร่าน
ไอซิสออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไอซิสลงมือในอิหร่าน และนับเป็นเหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศนี้ในรอบหลายปี มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บประมาณ 40 คน
กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) กล่าวโทษสหรัฐและซาอุดีอาระเบียว่ามีส่วนร่วมในการก่อเหตุครั้งนี้ พร้อมทั้งประกาศว่าจะแก้แค้น ขณะที่ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อายาตุลเลาะห์ คอเมเนอี ออกกล่าวว่า “การจุดประทัดที่เกิดขึ้นในวันนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อปณิธานของประชาชนชาวอิหร่านแม้แต่น้อย”
ด้านทรัมป์ แม้จะออกมาแสดงความเสียใจต่อเหยื่อผู้เสียชีวิต แต่ก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่ออิหร่านว่า “รัฐที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของปีศาจที่พวกเขาส่งเสริมเอง”
5. อิหร่านยิงขีปนาวุธข้ามประเทศ
“18 มิถุนายน” กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติแห่งอิหร่าน (IRGC) ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางข้ามประเทศจากจังหวัดเคอร์มันชาห์ (Kermanshah) และ เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) พื้นที่ทางภาคตะวันตกของอิหร่าน โจมตีผู้ก่อการร้ายในจังหวัดดีรุซซูร์ (Deir-ez Zor) ของซีเรีย
นี่ถือเป็นครั้งแรกของการโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่านนอกอาณาเขตตัวเองในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่สงครามอิรัก-อิหร่านในปี 1980-1988
อิหร่านยอมรับว่ายิงขีปนาวุธเพื่อแก้แค้นให้ผู้เสียชีวิตจากการถูกกลุ่มไอซิสโจมตีในเมืองหลวงของอิหร่าน “จะต้องมีคำตอบให้แก่หยดเลือดของผู้บริสุทธิ์” เพรสทีวีสื่ออิหร่านรายงานถ้อยแถลงของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน
มีการเผยแพร่คลิปจากโดรนเผยให้เห็นขีปนาวุธซุลฟิการ์ (Zulfiqar) ได้ตกลงยังเป้าหมายที่เป็นผู้ก่อการร้ายในจังหวัดเดอร์อีซูร์ของประเทศซีเรีย
นักวิเคราะห์มองว่า การยิงขีปนาวุธข้ามประเทศของอิหร่านนอกจากมีเป้าหมายโจมตีไอซิสแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังซาอุฯ อิสราเอล และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
6. สหรัฐฯ สอยเครื่องบินรบซีเรีย
“18 มิถุนายน” กองทัพสหรัฐฯ ได้ยิงเครื่องบินของกองทัพซีเรียตกทางตอนใต้ของเมืองรักกา โดยอ้างว่าเครื่องบินมาเพื่อทิ้งระเบิดโจมตีฝ่ายพันธมิตรต่อต้านไอซิสของสหรัฐฯ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลซีเรียยืนยันว่า เครื่องบินของตนถูกสหรัฐฯ ยิงตกขณะกลับจากภารกิจโจมตีไอซิส
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ โจมตีโดยตรงต่อกองทัพซีเรีย และป็นเครื่องบินรบลำแรกของซีเรียที่ถูกสหรัฐฯ ยิงตกนับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามกลางเมืองในปี 2011
กระทรวงกลาโหมซีเรีย ชี้ว่า พันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ กระทำเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งกองทัพซีเรียและพันธมิตรในการต่อสู้กับการก่อการร้าย ในขณะที่กองทัพและพันธมิตรของซีเรียมีความรุดหน้าอย่างมาก
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดและสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่รัสเซียที่เป็นพันธมิตรของรัฐบาลซีเรีย นำมาซึ่งการประกาศล็อกเป้าอากาศยานทั้งเครื่องบินรบหรือโดรนทุกลำของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่บินทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติส รวมทั้งรัสเซียได้ยกเลิก “โทรศัพท์สายด่วน” ที่รัสเซียและสหรัฐฯ กำหนดเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารพูดคุยประนีประนอมในกรณีที่เกิดความตึงเครียดรุนแรงอีกด้วย
สาเหตุการปะทะกันของสองขั้วในซีเรียในช่วงนี้ เนื่องจากกองกำลังของกลุ่มไอซิสกำลังจะถูกขับออกพ้นเมืองรักกาซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของตนเองในซีเรีย ทำให้ชาติมหาอำนาจและพันธมิตรของแต่ละฝ่ายต่างเร่งชิงกันเข้ายึดครองพื้นที่ซึ่งไอซิสกำลังจะล่าถอยออกไป โดยกองกำลังฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาลซีเรียซึ่งสนับสนุนโดยอิหร่านกำลังรุกคืบเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว แต่ฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ต่อต้าน โดยไม่ต้องการให้อิหร่านแผ่ขยายอิทธิพลในบริเวณนั้น
จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีความกังวลว่าจะยิ่งทำให้สงครามในซีเรียมีความสลับซับซ้อนและลุกเป็นไฟมากขึ้น
7. ยิงโดรนสัญชาติอิหร่านร่วงในซีเรีย
20 มิถุนายน กองทัพสหรัฐฯ แถลงว่า เครื่องบินรบ F-15E ของตน ได้ยิงอากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” ของกองกำลังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลซีเรียตกที่เมืองอัตตันฟ์ (AT-Tanf) ทางตอนใต้ของประเทศ โดยโดรนดังกล่าวเป็นโดรนสู้รบรุ่นชาฮีด 129 ที่ผลิตในอิหร่าน
โดรนรุ่นนี้ของอิหร่าน มีการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2012 โดยเป็นโดรนสู้รบที่ออกปฏิบัติการได้เป็นระยะทางไกลถึง 2,000 กิโลเมตร ทั้งสามารถบรรทุกระเบิดและขีปนาวุธได้
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น เกิดขึ้นคล้อยหลังไม่กี่วันที่เครื่องบินรบสหรัฐฯ ได้ยิงเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด Su-22 ของรัฐบาลซีเรียตก
สหรัฐฯ ระบุว่า ตัดสินใจยิงโดรนลำดังกล่าว เพราะมีท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อกองกำลังภาคพื้นดินของชาติพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานที่มั่นที่เมืองอัตตันฟ์ แต่รัสเซียระบุว่า การกระทำดังกล่าวของกองทัพสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือสมคบคิดกับกลุ่มก่อการร้าย
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนในวันที่ 8 มิถุนายน สหรัฐฯ ก็เคยยิงโดรนในพื้นที่นี้มาก่อน ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่านับเป็นครั้งแรกที่กองทัพของตนยิงโดรนสัญชาติอื่นในซีเรียนับตั้งแต่ปี 2009
“อัตตันฟ์” เป็นเมืองตั้งอยู่บนถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย กับกรุงแบกแดด เมืองหลวงอิรัก ซึ่งอยู่ในการควบคุมของทหารฝ่ายพันธมิตรรัฐบาลซีเรีย พื้นที่นี้อยู่ใกล้ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจอร์แดนที่ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ฝึกนักรบฝ่ายกบฏพันธมิตรของตน
ความขัดแย้งเรื่องปฏิบัติการทางอากาศระหว่างผู้เล่นในซีเรียที่เสมือนเป็นการปะทะทางตรงขึ้นเรื่อยๆ เท่ากับหนุนเสริมความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงขึ้น
8. ซาอุฯ เปลี่ยนมกุฎราชกุมาร
“21 มิถุนายน” มหาอำนาจโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบีย ประกาศเปลี่ยนตัวมกุฏราชกุมาร ซึ่งสร้างกระแสฮือฮาในโลกตะวันออกกลางครั้งใหญ่ โดยกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิส ได้ปลดเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ ผู้เป็นหลาน ออกจากตำแหน่งมกุฏราชกุมาร รวมถึงตำแหน่งสำคัญที่กุมอำนาจทางการเมืองอย่างรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 และรัฐมนตรีมหาดไทย แล้วแต่งตั้งพระราชโอรสองค์โต “เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน” ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนอย่างเป็นทางการ โดยรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอีกด้วย
แม้จะมีการคาดการณ์เรื่องเปลี่ยนตัวรัชทายาทล่วงหน้ามาก่อนแล้ว แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งก็ยังรู้สึกแปลกใจที่มีการเปลี่ยนมกุฎราชกุมารในช่วงที่ซาอุฯ กำลังเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดต่อเนื่องจากปัญหาภายนอกและภายใน ทั้งการประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ การติดหล่มสงครามในเยเมน และการปราบปรามมุสลิมชีอะห์ในจังหวัดตออีฟ ของซาอุฯ
การเปลี่ยนถ่ายสลับขั้วอำนาจแบบฉับพลันครั้งนี้ยังนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมและความวุ่นวายในราชสำนักซาอุฯ ที่มีเค้าว่าจะเกิดขึ้น หลังมีข่าวออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน มกุฎราชกุมารคนใหม่ สั่งกักบริเวณอดีตมกุฎราชกุมาร เจ้าชายมูฮัมหมัด บินนาเยฟ ให้อยู่แต่เพียงในตำหนัก ซึ่งย้อนแย้งกับข้อมูลในช่วงแรกของการเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมาร ที่ทางการซาอุฯ พยายามโปรโมทว่า อดีตองค์รัชทายาทได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยเช่นกันว่า เจ้าชายมกุฎราชกุมารคนปัจจุบัน ได้สั่งกักบริเวณเจ้าชาย 5 พระองค์และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยจำนวนหนึ่ง ในข้อหาที่ยังติดต่อกับเจ้าชายบินนาเยฟ หลังจากที่เขาถูกปลดออกจากตำแหน่ง
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2558 กษัตริย์ซัลมานได้สั่งปลดเจ้าชายมุคริน บิน อับดุลอาซิส ที่มีฐานะเป็นน้องชายต่างมารดา ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารในฐานะผู้สืบรัชทายาท และแต่งตั้งเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ หลานชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รวมไปถึงการแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บุตรชายขึ้นเป็น “รองมกุฎราชกุมาร”
การปลดเจ้าชายมุครินครั้งนั้นถือเป็นการแหวกประเพณีการสืบบัลลังก์ของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ที่จะต้องส่งต่ออำนาจไปสู่รุ่นลูกของ “อับดุลอาซิส” กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เสียก่อนถึงจะไปยังรุ่นหลาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนักวิเคราะห์ก็ได้ทำนายไว้แล้วว่ากษัตริย์ซัลมานมีเจตนาปูทางสู่บัลลังก์ให้กับเจ้าชายมูฮัมหมัด บุตรชายของตน เพียงแต่เพื่อไม่ให้ดูโจ่งแจ้งมากนักจึงได้ให้หลานชายขึ้นนั่งตำแหน่งมกุฎราชกุมารไปพลางก่อน
นักวิเคราะห์มองว่า การขึ้นสู่อำนาจของเจ้าชายหนุ่มวัย 31 พรรษา ที่มีสถานะเป็นผู้ปกครองสูงสุดโดย “พฤตินัย” ของซาอุฯ จะนำพาราชอาณาจักรแห่งนี้ไปสู่นโยบายทางการเมืองและต่างประเทศที่ “แข็งกร้าว” และ เดินในแนวทาง “สายเหยี่ยว” มากขึ้น โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับอิหร่านคู่อริในภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ เมื่อเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ได้ดำรงตำแหน่งรองมุฎราชกุมารและรัฐมนตรีกลาโหม หลังซัลมานผู้เป็นบิดาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งซาอุฯ ภายในไม่ถึง 2 เดือน เขาได้รวมจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรเข้าโจมตีเยเมน และทำทุกวิถีทางเพื่อลดอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค
เจ้าชายคนเดียวกันนี้ที่กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านว่า “”ควรย้ายสมรภูมิ” ไปที่อิหร่าน ต่อจากนั้นเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ก็เกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงเตหะราน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 คน และอิหร่านกล่าวหาเป็นฝีมือของซาอุดีอาระเบีย
อีกด้านหนึ่ง หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ไม่นาน เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อปรับสัมพันธ์ทางการทูตหลังจากที่ในยุคประธานาธิบดีโอบามานั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก ในการเยือนครั้งนั้นเจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน ถึงกับเอ่ยปากว่า “ทรัมป์คือมิตรแท้ของมุสลิม”
การเปลี่ยนตัวรัชทายาทซาอุฯ อย่างฉับพลันครั้งนี้ คาดการณ์ได้ว่าจะทำให้การเมืองในตะวันออกกลางนับจากนี้ “ร้อนระอุ” และไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป
9.การปะทะบริเวณที่ราบสูงโกลันระหว่างอิสราเอล-ซีเรีย
“25 มิถุนายน” เครื่องบินรบของอิสราเอลลำหนึ่ง บินไปโจมตีฐานปืนกลและรถถัง 2 คันของซีเรีย ในพื้นที่ทางตอนเหนือของที่ราบสูงโกลัน ทำให้ทหารซีเรียเสียชีวิต 2 นาย โดยอิสราเอลอ้างมีการยิงจรวด 10 ลูกไปตกในที่ราบสูงดังกล่าวซึ่งเป็นดินแดนของซีเรียที่อิสราเอลยึดครองไว้
ต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน เครื่องบินรบอิสราเอลยังได้โจมตีพื้นที่บริเวณหมู่บ้านซามาดานียะห์ อัลชาคิเยาะห์ ในจังหวัดคูเนตรา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย ซึ่งมีอาณาเขตตั้งอยู่บนที่ราบสูงโกลัน โดยกองทัพอิสราเอลอ้างว่าเป็นการตอบโต้การยิงปืนใหญ่ของกองทัพซีเรีย แต่แหล่งข่าวทางทหารซีเรียระบุว่า เครื่องบินรบอิสราเอลจงใจโจมตีกองทัพพันธมิตรรัฐบาลซีเรียซึ่งกำลังสู้รบอย่างหนักกับฝ่ายกบฏเครือข่ายกลุ่มอัลกออิดะห์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยที่กองทัพพันธมิตรซีเรียกำลังมีความรุดหน้าสามารถยึดพื้นที่คืนและผลักดันฝ่ายกบฏออกไปได้
เหตุการณ์โจมตีครั้งหลังนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล เดินทางไปยังชุมชนแคตซริน ทางตอนใต้ของที่ราบสูงโกลัน เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งนิคมยิวแห่งนี้ด้วย ซึ่งเนทันยาฮูกล่าวว่า กองทัพอิสราเอลไม่ลังเลที่จะตอบโต้การโจมตีทุกรูปแบบจากกองทัพซีเรีย
พื้นที่ 1,200 ตารางกิโลเมตร จากอาณาเขตทั้งหมด 1,800 กิโลเมตรของที่ราบสูงโกลัน ถูกอิสราเอลยึดครองหลังเป็นฝ่ายชนะในสงครามอาหรับ-อิสราเอล หรือสงคราม 6 วัน เมื่อปี 1967 (พ.ศ.2510) ในขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้อธิปไตยของซีเรีย
ช่วงหลายปีของสงครามกลางเมืองซีเรีย กองทัพอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายในซีเรียหลายครั้ง โดยอ้างว่าเป็นการโจมตีระบบอาวุธที่จะส่งไปยังเลบานอนให้กลุ่มนักรบฮิชบุลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกรุงดามัสกัส ขณะที่รัฐบาลซีเรียระบุว่า อิสราเอล พันธมิตรตะวันตก และพันธมิตรในภูมิภาคได้ให้การช่วยเหลือฝ่ายกบฏปฏิบัติการในประเทศอาหรับแห่งนี้
อิสราเอลเป็นตัวแปรที่สามที่สำคัญของสมรภูมิซีเรีย ที่ผ่านมาแม้จะประกาศว่าตนไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับความยุ่งเหยิงของประเทศนี้ แต่ในทางปฏิบัติอิสราเอลได้ให้การช่วยเหลือฝ่ายกบฏต้านรัฐบาลซีเรียอย่างลับๆ เร็วๆ นี้ไฟแนลเชียลไทม์เปิดหลักฐานใหม่ที่ระบุว่าอิสราเอลได้ให้การรักษาพยาบาลนักรบกบฏที่บาดเจ็บจากการสู้รบในซีเรีย
อิสราเอลนั้นไม่ต้องการให้บาชาร์ อัสซาด ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่านได้อยู่ในอำนาจ และพยายามสกัดกั้นอิหร่านและฮิซบุลเลาะห์ซึ่งทั้งสองฝ่ายนี้กำลังสู้รบสนับสนุนรัฐบาลของซีเรีย โดยวิตกว่า การอยู่รอดของรัฐบาลอัสซาดจะหมายถึงการที่กลุ่มพันธมิตรชีอะห์ของอิหร่านจะยังคงอยู่ตามแนวชายแดนของพวกเขา ที่ผ่านมาพลเอกเฮอร์ซี ฮาเลวี (Herzi Halevy) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลอิสราเอลได้เคยประกาศต่อสาธารณชนว่า อิสราเอลไม่ต้องการเห็นไอซิสพ่ายแพ้ในสงคราม และชื่นชอบไอซิสมากกว่ารัฐบาลอัสซาด
การโจมตีซีเรียในบริเวณพื้นที่ราบสูงโกลัน 2-3 ครั้งของอิสราเอลภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว อาจนำไปสู่การเปิดหน้าชนตรงๆ ระหว่างสอยฝ่ายที่อาจกลายเป็นสงครามใหญ่อีกแนวรบหนึ่ง
10. กระชับสัมพันธ์ซาอุฯ – อิสราเอล
“ศัตรูของศัตรู คือมิตร” เมื่อการต่อต้านและลดทอนอำนาจของอิหร่าน คือนโยบายหลักของ สหรัฐฯ ซาอุฯ รวมทั้งอิสราเอล จึงทำให้ 3 ชาตินี้เป็นแนวร่วมกันโดยปริยาย
หลังการเปลี่ยนรัชทายาทของซาอุฯ เพียง 1 วัน อิสราเอลเรียกร้องซาอุฯ ให้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกัน
โดยรัฐมนตรีข่าวกรองอิสราเอล “นายยิซราเอล คาทซ์” ได้ร้องขอกษัตริย์ซัลมาน แห่งซาอุฯ ให้เชิญนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกอิสราเอล ไปเยือนกรุงริยาดเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ เขายังได้ขอให้กษัตริย์ซัลมานส่งเจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน รัชทายาทคนใหม่ไปเยือนเทลอาวีฟหลังจากเขาได้พรรณาถึงผลประโยชน์ร่วมกันในการเผชิญหน้ากับอิหร่านคู่อริของสองประเทศ
“อวิกดอร์ ลิเบอร์แมน” รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลก็เป็นอีกคนที่เรียกร้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับรัฐอาหรับ เขากล่าวสนุทรพจน์ในที่ประชุมเดียวกันนี้ว่า ข้อตกลงสันติภาพจะต้องบรรลุกับ “ประเทศอาหรับซุนนีสายกลาง” ก่อนที่จะมีการตกลงสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าอิสราเอลได้สานสัมพันธ์อย่างลับๆ กับชาติอาหรับกลุ่มประเทศอ่าวบางประเทศ อันเนื่องมาจากความกังวลร่วมกันต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของอิหร่านในภูมิภาค อิสราเอลและรัฐเหล่านี้คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างเตหะรานกับสหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจ (P5+1) ซึ่งบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2015 โดยเตือนว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงแต่การสร้างความมั่งคั่งให้แก่อิหร่านเท่านั้น
แน่นอนว่า “เป็นเรื่องยาก” ที่ซาอุฯ และชาติอาหรับจะมีความสัมพันธ์กับอิสราเอลกันอย่างเปิดเผยหรือทำให้เป็นเรื่องปรกติ เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและอ่อนไหวมากสำหรับโลกมุสลิม โดยเฉพาะต่อประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์
ทว่าการที่ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ และเห็นร่วมกันว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งซาอุฯ ก็จัดให้ “ฮามาส” ขบวนการต่อสู้แห่งปาเลสไตน์ เป็น “ขบวนการก่อการร้าย” ซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่ออิสราเอล โดยที่เทลอาวีฟก็ได้สนับสนุนการปิดล้อมกาตาร์ของซาอุฯ อีกยังเรียกร้องกาตาร์ให้ยุติการให้ที่พักพิงแก่ผู้นำคนสำคัญของปาเลสไตน์ ซึ่งรวมถึงผู้นำฮามาส “คาลีด มิชอัล” และ “อัซมี บิชาร่า”
ดังนั้นอะไรที่ไม่เคยมีใครคาดคิดก็อาจเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยสุดใน “ทางลับ” ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ซาอุฯ-อิสราเอลจะสานสัมพันธ์กัน ซึ่งนั่นหมายถึงความปั่นป่วนและความไม่มั่นคงระลอกใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง