ผลประกาศการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 พรรคการเมืองต่างๆได้จำนวน ส.ส. ดังนี้ พรรคชาติไทย จำนวน 87 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม จำนวน 54 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 48 ที่นั่ง พรรครวมไทย จำนวน 35 ที่นั่ง พรรคประชากรไทย จำนวน 31 ที่นั่ง พรรคราษฎร จำนวน 21 ที่นั่ง พรรคประชาชน จำนวน 19 ที่นั่ง พรรคปวงชนชาวไทย จำนวน 17 ที่นั่ง พรรคพลังธรรม จำนวน 14 ที่นั่ง พรรคกิจประชาคม จำนวน 9 ที่นั่ง พรรคก้าวหน้า จำนวน 8 ที่นั่ง พรรคสหประชาธิปไตย จำนวน 5 ที่นั่ง พรรคมวลชน จำนวน 5 ที่นั่ง พรรคเสรีนิยม จำนวน 3 ที่นั่ง และ พรรคสังคมประชาธิปไตย จำนวน 1 ที่นั่ง
พรรคชาติไทยในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าทุกพรรค จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้รวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ 6 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคปวงชนชาวไทยพรรคสหประชาธิปไตย พรรคมวลชน รวมได้จำนวน ส.ส. เสียง ยินดีสนับสนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย โดย พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ตัวแทนพรรคชาติไทยและ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ตัวแทนพรรคกิจสังคม เข้าพบ พล.อ. เปรมฯ
เนื่องจากสถานการณ์การเมืองประเทศไทยในช่วงนี้ กระแสเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งสูงมาก เพราะสังคมเริ่มเบื่อหน่ายกับคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และพรรคการเมืองบางพรรค คัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยจะถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวว่า “ ขอขอบคุณ ได้ตัดสินใจแล้วว่า ผมขอพอ ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย” เหตุผลส่วนตัวอีกประการหนึ่งของ พล.อ. เปรมฯ คือ เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน(ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523-30 เมษายน 2531) เกิดอาการเบื่อหน่ายเมื่อยล้ากับการทำงานหนัก ประจวบกับกระแสสังคมอยากได้คนหน้าใหม่ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรมฯ จึงประกาศออกมาทางสื่อมวลชนทุกฉบับว่า “ผมพอแล้ว”
คำว่า “ผมพอแล้ว” จึงกลายเป็นวาทกรรม ที่ดังกระหึ่มในวงการเมืองไทยขณะนั้น ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่มี ส.ส. อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กต่างจับขั้วกันอย่างชลมุน โดยมีพรรคชาติไทยที่มี ส.ส. จำนวนมากที่สุดเป็นแกนนำ และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2531 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหน้าพรรคชาติไทย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย วันที่ 9 สิงหาคม 2531 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมเป็นรัฐบาล ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร พรรคปวงชนชาวไทย พรรคสหประชาธิปไตย ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้แก่ พรรครวมไทย พรรคประชาชน พรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม ฯ
รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งในรอบหนึ่งทศวรรษ ได้สร้างสีสันให้กับการเมืองไทยเป็นอย่างมาก นโยบายยอดฮิตในยุคนี้คงไม่พ้นนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เป็นคำสั้นๆ แต่สามารถที่จะจินตาการไปได้ไกล เพราะรอบๆ ประเทศไทยยกเว้นมาเลเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านไม่ค่อยจะสู้ดีนัก วันดีคืนดีจะมีกระสุนข้ามไปมาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมายังฝั่งไทยอยู่เนืองๆ เมื่อรัฐบาลใหม่ยินดีผูกมิตรไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาอันผลจากกระแสสงครามเย็นที่ประเทศไทยอยู่เคียงข้างสหรัฐอเมริกาตลอดมา ทำให้บรรยากาศรอบๆ ประเทศที่เคยได้ยินเสียงกระสุนปืน จะหันกลายเป็นได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถบรรทุกสินค้าข้ามไปมาทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่ขาดสาย
เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แล้ว ผู้เขียนในฐานะ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านก็ได้ทำหน้าที่ของตน โดยยื่นญัตติ เรื่อง สวัสดิภาพครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2531 ดังมีเนื้อหาใจความว่า
“เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เวลากลางคืน-24 กรกฎาคม 2531 เวลา 23.30 น. ได้มีเหตุการลอบวางเพลิงโรงเรียนและสถานที่หน่วยราชการจำนวน 11 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส และมีการขว้างระเบิดใส่มัสยิดอัลอิสลามียะห์บ้านไอบาตู อ. สุไหงปาดี จ. นราธิวาส จนได้รับความเสียหาย เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก และเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางครั้งผู้กระทำมุ่งกระทำต่อครู เช่น เรียกค่าคุ้มครอง หมายปองชีวิตครู และ ลอบวางเพลิงโรงเรียน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2531 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงครูโรงเรียนบ้านปาหนัน อ. ศรีสาคร จ. นราธิวาส เสียชีวิต 3 คน หน้าเสาธงชาติของโรงเรียน ซึ่งเหตุการณ์นี้กระผมได้เสนอญัตติด่วนต่อประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จยังไม่ได้ผลสรุป รัฐบาลได้ยุบสภาเสียก่อน การลอบวางเพลิงโรงเรียน เรียกค่าคุ้มครองจากครู และหมายปองชีวิต ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กนักเรียนโดยตรง เพราะเมื่อครูเสียขวัญกำลังใจ อยู่ในภาวะความหวาดกลัวแล้ว ย่อมบั่นทอนสติปัญญา ความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทุ่มเทอุทิศตนเพื่อเด็กๆ นักเรียนอย่างเต็มความสามารถ สุดท้ายจะเกิดผลเสียต่อแผนการศึกษาของชาติในภายภาคหน้า ฉะนั้น กระผม จึงขอเสนอญัตติด่วน ปัญหาสวัสดิภาพครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อท่านประธาน เพื่อพิจารณา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวมาชี้แจงและให้ข้อมูล เพื่อศึกษาปัญหาให้ได้ข้อสรุปเสนอรัฐบาลต่อไป “นอกจากนั้นแล้ว ส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาชน ได้แก่ พล.อ. หาญ ลีนานนท์ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายนิกร จำนง นายจัตตุรนต์ คชสีห์ และ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ยื่นญัตติด่วน เรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2531 เนื้อหาใจความในญัตติมีดังนี้”
“ด้วยข้าพเจ้าและคณะพิจารณาเห็นว่า ภาคใต้อันเป็นแหล่งเศรษฐกิจ เกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ยังมีปัญหาที่สำคัญหลายประการที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการหาทางป้องกันและแก้ไขโดยรีบด่วน
ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นหนึ่งในปัญหาภาคใต้ ในขณะนี้ เกษตรกร นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย และ นักลงทุนที่สุจริต ถูกรังแก เข่นฆ่า ไม่เว้นแต่ละวัน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจัดอยู่ในขั้นอาชญกรรมที่รุนแรง อันเนื่องมาจากสาเหตุเกิดจากการค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน การตั้งแก๊งลักขโมย จี้ ปล้น จับตัวเรียกค่าไถ่ และการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพของหน่วยราชการที่รับผิดชอบ
ปัญหาเหล่านี้เป็นการทำลายขวัญและกำลังใจในการประกอบอาชีพของสุจริตชน เกษตรกร นักลงทุน และ นักท่องเที่ยว อย่างร้ายแรง รัฐบาลจะต้องรีบหาทางป้องกันปราบปรามอย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษกิจและความมั่นใจในสวัสดิภาพของประชาชน อันจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความมั่งคั่งของประเทศชาติโดยส่วนรวมต่อไป
ข้าพเจ้าและคณะ จึงขอเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2528 ข้อ 34 ให้รัฐบาลแก้ไข ป้องกัน ปราบปราม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บังเกิดผลโดยด่วนต่อไป ส่วนเหตุผลและรายละเอียดข้าพเจ้าและคณะจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป “
ภายในเดือนเดียวกันความวัวยังไม่ทันหายความควายยังเข้ามาแทรก กล่าวคือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 เกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนโรงเรียนสัมพันธ์วิทยาชื่อ นายอุสมาน ดอเลาะ อายุ 15 ปี อยู่บ้านไอสะเตียร์ ต.บูกิต อ. ระแงะ จ. นราธิวาสถูกพนักงานตัดตั๋วรถไฟขบวนหาดใหญ่-สุไหงโกลก ชื่อ นายสุพจน์ โชติกะ ใช้หัวเข่ายันมิให้ขึ้นบรรไดรถไฟขณะรถเคลื่อนออกจากชานชลาสถานีรถไฟเจาะไอร้อง จะกลับบ้านไอสะเตียร์เป็นเหตุให้ นายอุสมาน ดอเลาะ เด็กนักเรียนพลัดตกลงไปใต้ท้องรถและถูกล้อรถไฟทับขาขาดเลยหัวเข่าขึ้นไปทั้งสองข้างได้รับบาดเจ็บสาหัสและทุพพลภาพ ผู้เขียนได้รับหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมจากครูใหญ่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2531 และได้รับหนังสือขอความเป็นธรรมจาก นายมะยากี ดอเลาะ บิดาของ นายอุสมาน ดอเลาะ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ว่า ตนเองได้แจ้งความไว้แล้วในวันเกิดเหตุที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แต่เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ จึงขอให้ผู้เขียนติดตามเรื่องนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีด้วยความเป็นธรรมตามรูปคดีต่อไป
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์