ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (42)

ภายหลังจากรวมพรรคการเมือง 4 พรรคเข้าด้วยกันเป็นพรรคเอกภาพแล้ว รวมจำนวน ส.ส. ได้ 61 เสียง กลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับสองในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสภา ทำให้ส.ส. มุสลิมใน 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรครวมไทย พรรคประชาชน และ พรรคกิจประชาคม สามารถมาอยู่ร่วมพรรคเดียวกันได้ สมดังเจตนารมณ์ของประชาชนและการก่อตั้งกลุ่ม วะห์ดะห์ เมื่อ พ.ศ. 2528

กิจกรรมของกลุ่ม วะห์ดะห์ หลังจาก ส.ส. ในจังหวัดชายแดนมาอยู่ร่วมกันในพรรคเอกภาพแล้ว ประมาณต้นปี 2532 ได้มีการจัดงานฉลองที่มัสยิดตะโละมาเนาะ อ. บาเจาะ จ.นราธิวาส และมีการปราศรัยใหญ่เวลากลางคืนหลังละหมาดอีซา ที่สนามหญ้าทางเข้ามัสยิด ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ นายเสนีย์ มะดากะกุล ส.ส. จังหวัดนาธิวาส ได้เตรียมการมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2531 ช่วงที่ยังไม่ยุบพรรค เมื่อมีการยุบพรรคแล้ว ได้เชิญ ส.ส. กลุ่ม วะห์ดะห์ มาปราศรัยบนเวทีท่ามกลางผู้มาฟังนับหมื่นคน และการปราศรัยในคืนนั้นเรียกเสียงตบมือและเสียงร้องสนับสนุนจากประชาชนดังกระหึ่มไปทั่วอาณาบริเวณมัสยิด แต่ในทางกลับกัน ทางเจ้าหน้าที่ต่างอัดบันทึกเสียงการปราศรัยของทุกคนและไปแปลเป็นภาษาไทย การแปลเป็นภาษาไทยได้ต่อเติมความเข้มข้นให้กับถ้อยคำการปราศรัย เมื่อข้าราชการได้รายงานและมอบต้นฉบับแปลคำปราศรัยให้กับ นายประจวบ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส แล้ว ด้วยความไม่พอใจผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ที่ประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาส เลือกผู้สมัคร ส.ส. มุสลิมทั้งหมด 3 คน จึงได้ส่งคำปราศรัยฉบับคำแปลภาษาไทยของทุกคน ส่งไปยังหน่วยราชการต่างๆ ทั่วไป โดยมีเจตนาฟ้องว่า ส.ส. มุสลิมกลุ่ม วะห์ดะห์ ปลุกระดมให้ประชาชนมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส เลือกผู้แทนเฉพาะมุสลิม เป็นการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ

พฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสคนนี้ ทำให้ ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ ไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้อีกแล้ว แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาปิดสมัยประชุม ไม่สามารถจะใช้กระบวนการทางรัฐสภาได้ ดังนั้นนายเสนีย์ มะดากะกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ และ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จึงไปร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร) ขอให้ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดคนนี้ออกจากจังหวัดนราธิวาสไปนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในขณะเดียวกันได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี อีกทางหนึ่งดังเป็นข่าวลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สำหรับหนังสือพิมพ์ สยามรัฐรายวัน ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2533 ได้เขียนลงในหน้าหน้าบทบรรณาธิการ ดังมีข้อเขียนว่า

กรณีให้ย้ายผู้ว่าฯ

“ตามที่ ส.ส. มุสลิมภาคใต้สี่นาย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ให้สั่งย้ายนายประจวบ พัฒกุล ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพราะไม่พอใจที่นายประจวบได้มีหนังสือเวียนกล่าวหาว่าพวกตนปราศรัย สร้างความแตกแยกและหวาดระแวง ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธและชาวมุสลิม เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้น จะเกิดปัญหา อย่างกรณี ดร. ธวัช มกรพงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งก็โดนการเมืองบีบคั้นต้องย้ายเข้ากระทรวงไปแล้ว

เรื่องนี้คงต้องเดือดร้อนถึงกระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องหาข้อมูลว่า วิธีการที่นายประจวบ กระทำไปจนทำให้ ส.ส. สี่นายไม่พอใจนั้น เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ เช่น เป็นการกระทำเพราะเพื่อลบล้างความนิยมของราษฎรที่มีต่อ ส.ส. ทั้งสี่ท่าน เพราะมีอคติ เนื่องจากตนเองสนับสนุน ส.ส. อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคู่แข่งของส.ส. ที่ร้องเรียนหรือเปล่า หรือว่านายประจวบ มีหลักฐานเพียงพอว่า การปราศรัยของ ส.ส. มุสลิม เป็นการกระทำให้เกิดการแบ่งแยกหรือแตกแยก ในหมู่คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และศานาพุทธจริง

เมื่อกระทรวงมหาดไทยหาข้อมูล ทั้งจากฝ่าย ส.ส. และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ครบถ้วนแล้ว ก็นำมาพิเคราะห์ดู ตามข้อเท็จจริง หากเห็นว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเล่นเกมเลยธงไป ก็จะต้องหาทางประสาน ทำความเข้าใจ เพื่อยุติหรือแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนักปกครองกับข้าราชการการเมืองเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะนักปกครองซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนนั้น ก็เท่ากับเป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ซึ่งย่อมจะทำงาน เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติเป็นหลัก ในขณะที่ข้าราชการการเมืองอย่างเช่น ส.ส. นั้นก็มีหน้าที่คอยตรวจสอบ การบริหารงานการปกครองนั้น ว่ากระทำอย่างถูกต้องและชอบธรรมกับราษฎรหรือไม่เพียงไร หากว่าเกิดความไม่ถูกต้องชอบธรรมจึงจะได้หาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งการทำงานคนละด้านคนละหน้าที่จะต้องทำในขอบข่ายอำนาจของตนเอง ไม่ก้าวก่ายฝ่ายตรงข้าม

การที่ ส.ส. เรียกร้องให้ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดคราวนี้ จึงน่าจะต้องมีเหตุผลและมีหลักฐานมากกว่าที่เป็นข่าว มิใช่จะมาขอให้ย้ายกันได้ง่ายๆ

ซึ่งขณะเดียวกันทางด้านนายประจวบ พัฒกุล ก็ควรจะมีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะมายืนยันการกระทำของตนว่า ได้กระทำการลงไปโดยมิได้มีอคติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทำไปด้วยความห่วงใยความมั่นคง

ท้ายที่สุด เรื่องนี้สมควรยุติลงได้ในลักษณะประนีประนอม มากกว่าจะหักล้างกันให้แตกหัก แม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะหนักจะเบาไปบ้างก็ตามที ทั้งนี้เพื่อรักษาความสามัคคีในชาติเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม แม้การร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ยังไม่มีปฏิกริยาใดๆ จากรัฐบาล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเป็นแค่ ส.ส. ฝ่ายค้าน ไม่มีอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใดๆ กับรัฐบาลแม้แต่น้อย ดังนั้น เมื่อกลางเดือน กันยายน 2532 ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ จึงใช้แผนการนอกสภา โดยจัดเวทีปราศรัยขึ้น 2 คืนๆ ละแห่ง คือที่ อ. บาเจาะแห่งหนึ่งและ อ. ยี่งออีกแห่งหนึ่ง เชิญชวนชาวบ้านออกมาฟังการปราศรัยขับไล่ นายประจวบ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสออกไปจากจังหวัดนราธิวาส โดยมุ่งเป้าว่าการปราศรัยขับไล่คนมีตำแหน่งระดับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เสียงคงจะดังเข้าหูผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาลอย่างแน่นอน

และแล้ว เมื่อต้นเดือน ตุลาคม 2532 คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยได้ย้าย นายประจวบ พัฒกุล ออกจากจังหวัดนราธิวาส และให้ นายผัน จันทรปาน มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแทน เป็นอันว่าแม้จะเป็นฝ่ายค้านการใช้แผนกดดันรัฐบาลนอกสภาก็ได้รับความสำเร็จเหมือนกัน

ในขณะที่สถานการณ์การเมืองในภาพรวมของประเทศไทยก้าวสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างทันสมัยภายใต้นโยบายแปลง” สนามรบเป็นสนามการค้า ” ได้ส่งผลต่อการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา(จคม.) กับรัฐบาลมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยเป็นคนกลางช่วยประสานและทำความเข้าใจกับทั้งสองฝ่ายได้สำเร็จ และในวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพทั้งสามฝ่ายมี ฝ่ายโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ฝ่ายรัฐบาลมาเลเซีย และ ฝ่ายรัฐบาลไทยที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา ท่ามกลางความยินดีปรีดาของประชาชนทั้งสองฝ่ายตามแนวชายแดน ไทย-มาเลเซีย และทหารสายพิราบของไทย แต่ยังเป็นที่ขัดข้องหมองใจของทหารสายเหยี่ยวของไทย เพราะรัฐบาลไทยช่วยคลี่คลายและแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์  มาลายาให้กับรัฐบาลมาเลเซียฝ่ายเดียว แต่ปัญหากลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมิได้มีท่าทีใดๆ จากรัฐบาลมาเลเซียที่จะหยิบยื่นให้กับฝ่ายไทย

ภายหลังจากลงนามสนธิสัญญาสันติภาพสามฝ่ายผ่านพ้นไป 16 วัน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532 เกิดเหตุการณ์จับครูโรงเรียนบ้านกือลอง อ. บันนังสตาร์ จ. ยะลา คือ ครูฟอง เพ็ชรบุญ เป็นครูสุภาพสตรีถูกกลุ่มก่อความไม่สงบโดย นายอุสมาน กาปา แกนนำ BRN ที่เคลื่อนไหวอยู่บนภูเขาในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา จับตัวพาขึ้นบนเขา เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนให้ทางการปล่อยตัว นางปาซิยะ ลูโบ๊ะ ภรรยาของ นายอุสมาน กาปา ที่ถูกทางการจับตัวไป เหตุการณ์นี้ทำให้สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อการประท้วงรัฐบาลโดยการหยุดสอนนักเรียนทั่วจังหวัดยะลา และกำลังจะบานปลายไปสู่จังหวัดอื่นๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครูฟอง ถูกจับตัวอยู่บนภูเขานาน 9 วัน รัฐบาลจึงสั่งการให้เจ้าหน้าตำรวจปล่อยตัว นางปาซิยะ ลูโบ๊ะ เป็นอิสระเพื่อแลกกับเสรีภาพของครูฟอง เพชรบุญ

เมื่อ ครูฟอง เพชรบุญ ได้รับอิสระภาพแล้ว ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตัวเองถูกคุมตัววันแรกนอนอยู่บนเขา หลังจากนั้นถูกคุมตัวเข้าไปอยู่ในฐานที่มั่นของกลุ่มคนร้ายจนกระทั่งถูกปล่อยตัว ในฐานที่มั่นมีคนร้ายจำนวน 14 คน แต่ละคนอายุประมาณ 30 กว่าปี ตลอดเวลาที่ครูฟองอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มคนร้ายเหล่านี้ ตัวเธอไม่เคยถูกกระทำไม่ดีไม่งามและถูกทำร้ายแม้แต่น้อย ครูฟองได้ถามคนที่จับกุมตัวเธอว่า จับเธอมาทำไม ได้รับคำตอบว่าเพื่อจะแลกเปลี่ยนกับภรรยาของพวกเขาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวที่โรงพักตำรวจ ครูฟองยังถามอีกว่า หากทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมปล่อยภรรยาของพวกเขาที่ถูกจับแล้ว จะฆ่าตัวเธอหรือไม่ ทางกลุ่มคนร้ายตอบว่า จะไม่ฆ่าครูฟอง แต่จะลงจากเขาไปฆ่าครูผู้ชายแทน

ฟังจาก ครูฟอง เพชรบุญ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงเวลานั้นมาจนถึงบัดนี้ 27 ปีมาแล้ว อดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดผู้ก่อเหตุในปัจจุบันได้พัฒนาการไปจนถึงขั้นฆ่าไม่เลือกหน้าใครทั้งสิ้น