การพิจารณาคดีศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกหมอดิง 31 ปี คดีดำเนินถึงชั้นศาลฎีกาเสร็จสิ้นจำคุกหมอดิง 12 ปี หมอดิงถูกจำคุกจริงเป็นเวลา 7 ปี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2543 กลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนาอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประกอบอาชีพทำสวนอยู่อย่างสมถะ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวใดๆ อีกเลย นอกจากดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสนาตามหลักความเชื่อถือของตน คือ อิสลามตามแนวทางนิกายชีอะห์ และกลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.ในวัยเพียง 66 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ด้วยโรคเบาหวานที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ส่วนเพื่อนร่วมอุดมการณ์นายไพโรจน์ ศาสนภิบาล(ยาซีน)ที่หลบหนีไปยังประเทศอิหร่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ก็ได้กลับมายังประเทศไทย หลังจากคดีได้ขาดอายุความแล้ว
ก่อนที่หมอดิงจะถูกจับส่งตัวจากทางการมาเลเซีย ภายหลังยุติการประท้วงมัสยิดกรือเซะแล้ว หมอดิงได้หลบหนีไปซ่อนตัวในป่าเขตอำเภอยะหา จังหวัดยะลา โดยอาศัยอยู่ในเขตอิทธิพลของขบวนการ BRN (Barisan Revulusi Nasional Patani) อยู่ได้สักระยะหนึ่ง ไม่อาจทนทานการเกลี้ยกล่อมของแกนนำขบวรการ BRN ที่ต้องการให้หมอดิงเข้าร่วมขบวนการด้วย แต่หมอดิงปฏิเสธที่จะร่วมด้วย จึงหลบหนีเข้าไปในเขตรัฐกลันตัน ประเทศ มาเลเซียแต่ก็ไม่วายต้องพบเจอกับสถานการณ์เดียวกันกับที่อยู่ในเขตป่ายะหา เป็นการหนีเสือปะจรเข้แท้ๆ กล่าวคือ ขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization) ได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วมในขบวนการพูโล แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากหมอดิงเช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายและอุมการณ์ของหมอดิง แตกต่างจากขบวนการทั้งหลายที่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) เพื่อตัดความรำคาญและจะใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข หมอดิงจึงย้ายสถานที่อยู่ใหม่ในรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย
ทางด้านตำรวจสันติบาลไทย ทำงานไม่ลดละพยายามในการตามหาตัวหมอดิง เพื่อจะดำเนินคดีลงโทษตามสถานความผิดกบฏแบ่งแยกดินแดนและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้ เมื่อสืบทราบว่าหมอดิงหลบซ่อนอยู่ในเขตรัฐเคดะห์ จึงได้ประสานกับทางการตำรวจมาเลเซีย โดยให้ข้อมูลต่อทางตำรวจมาเลเซียว่า หมอดิงเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดียาเสพติด ให้โทษ เมื่อทางการตำรวจมาเลเซียสืบทราบสถานที่อยู่ของหมอดิงได้แล้ว จึงดำเนินการจับกุมตัวได้ แต่หมอดิงชี้แจงต่อทางตำรวจมาเลเซียว่า ตนเองถูกติดตามจับกุมในข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนที่ตนเองต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการที่จะใช้มัสยิดกรือเซะเป็นสถานที่ละหมาดตามปกติ ไม่ใช่ถูกติดตามจับตัวในข้อหายาเสพติด และได้ให้ทางตำรวจมาเลเซียอ่านดูข่าวในหนังสือพิมพ์อูตูซันมลายูที่มีรูปหมอดิงตรงกลางหน้าหนึ่ง ทำให้ทางการมาเลเซียไม่ยอมมอบส่งตัวหมอดิงต่อทางการตำรวจสันติบาลของไทย แต่ทางการไทยไม่ยอมให้เสียโอกาสทองไป จึงประสานงานกับทางการมาเลเซียในระดับนโยบาย ทำให้ทางการมาเลเซียเอาตัวหมอดิงมาต่อรองเป็นเกมส์การเมืองกับฝ่ายไทย คือ ให้ทางการไทยจับตัวอุสตัส อัชอารีย์ มูฮำมัด หัวหน้าญามาอะห์ ดารุลอัรกอม (Darul Argam) ที่ ทางการมาเลเซียต้องการตัว ฐานความผิดบิดเบือนหลักการสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงภายในของประเทศมาเลเซีย ที่ยังหลบหนีการจับกุมของทางการมาเลเซียมากบดานหลบซ่อนในฝั่งไทย เพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทางการไทยจึงดำเนินการจับกุมตัวอุสตัส อัชอารีย์ มูฮำมัด ได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงส่งตัวให้ทางการมาเลเซียและทางการมาเลเซียได้ส่งตัวหมอดิงให้กับทางการไทย เป็นอันว่า หมอดิงได้สูญเสียอิสรภาพหลังจากได้หลบหนีการจับกุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 นับเวลาได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี บทพิสูจน์ที่ว่าการเมืองนั้นไม่เข้าใครออกใคร เมื่อผลประโยชน์ลงต้วเมื่อไร อะไร อะไร ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
สำหรับสหายร่วมประท้วงมัสยิดกรือเซะของหมอดิง “อุสตัสแม ดูวา” และ “อุสตัสแม บือติง” สายสุนหนี่คณะเก่าก็ถูกจับดำเนินคดีฐานความผิดเดียวกันกับหมอดิง ขณะที่อุสตัสทั้งสองคนนี้ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำคลองเปรมนั้น เนื่องจากทั้งสองคนนี้เป็นคนปัตตานี นายมุข สุไลมาน ในฐานะขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จังหวัดปัตตานี ได้ช่วยเหลืออุปการะดูแลครอบครัวของอุสตัสทั้งสองคนนี้ครอบครัวละสามพันบาทต่อเดือน ขณะถูกขังอยู่ในคุก เมื่ออุสตัสทั้งสองคนนี้พ้นโทษเป็นไทแก่ตัวแล้วได้ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนให้นายมุข สุไลมาน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยอุสตัสทั้งสองคนนี้จะเดินไปตามมัสยิดและชุมชนต่างๆ เพื่อปราศรัยหาเสียงให้กับนายมุข สุไลมาน ต่อมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้อุสตัสแม บือติง ก็ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.(ซ.บ.) ที่บ้านเกิดบือติง คงเหลือแต่อุสตัสแม ดูวา ที่กำลังวังชาได้ร่วงโรยไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ประท้วงรัฐเพื่อเรียกร้องการใช้ประโยชน์มัสยิดกรือเซะที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530-2533 ถือเป็นบทเรียนที่น่าศึกษาอย่างมากว่า ทำไมมุสลิมทั้งสายชีอะห์และมุสลิมสายสุนหนี่คณะเก่า ต่างร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ใจเป็นหนึ่งเดียวจนถึงนาทีสุดท้าย ในขณะที่มุสลิมนิกายสุนหนี่คณะใหม่ ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ด้วย และยังไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญๆ อีกหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ช่วงปลายๆ ปี 2533 รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เริ่มเกิดอาการปีนเกลียวกับกองทัพ เพราะจะปรับตำแหน่งให้ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้กองทัพไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล เพราะทางกองทัพทราบมาอย่างระแคะระคายว่า พล.อ. อาทิตย์ฯ จะปรับสับเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพ เพื่อเป็นฐานกำลังสำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองรัฐบาลให้อยู่อย่างมั่นคง แต่ก่อนที่จะปรับตำแหน่งให้พล.อ. อาทิตย์ฯจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ได้รวบรวมพรรคการเมืองต่างๆจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเอาพรรคเอกภาพ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดมาร่วมด้วย และปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านแทน
เมื่อพรรคเอกภาพได้ร่วมเป็นคณะรัฐบาล จึงได้สรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคตามสัดส่วนของภูมิภาค สำหรับทางภาคใต้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 7 คน ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส. จังหวัดปัตตานี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. จังหวัดยะลา นายเสนีย์ มะดากะกุล ส.ส. จังหวัดนราธิวาส นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส นายปรีชา บุญมี ส.ส. จังหวัดปัตตานี และ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ส.ส. จังหวัดกระบี่ ได้พร้อมใจกันเสนอให้ นายเด่น โต๊ะมีนา เข้าไปเป็นรัฐมนตรีในนามของกลุ่มวะห์ดะห์สังกัดพรรคเอกภาพ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2533โดยมีนายปริญญา เจตาภิวัฒน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สำหรับ นายเสนีย์ มะดากะกุล และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้รับตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายเด่น โต๊ะมีนา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในระยะเวลาสั้นๆเพียง 73 วัน นายเด่นฯได้กำหนดนโยบายในงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ภายใต้คำขวัญที่ว่า ศาสนานำการสาธารณสุข และได้หยิบยกเรื่องรถใช้บริการของหน่วยงานสาธารณสุขที่นครมักกะฮ.ที่ยังไม่มีใช้บริการ เสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติด้วยดี ในส่วนของความรู้สึกพึงพอใจของประชาชนชาวมุสลิมไทยต่อตำแหน่งเสนาบดีอันมีเกียรตินี้ ได้ขจรขจายไปทั่วในจังหวัดชายแดนภาคใต้และชุมชนมุสลิมในภูมิภาคต่างๆ เพราะการมีคนมุสลิมเข้าไปอยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่จะได้กันง่ายๆนัก แต่ด้วยดักเดร์ของอัลลอฮ(ซ.บ.)ที่ได้ประทานความสำเร็จให้กับการรวมตัวของนักการเมืองมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ภายใต้ชื่อว่า กลุ่มเอกภาพหรือวะห์ดะห์ ที่ยึดหลักการที่ว่า “ มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่” เพื่อเป้าหมายต้องการเป็นรัฐบาล ตามที่ผู้สมัคร ส.ส. ภายในกลุ่มได้ปราศรัยหาเสียงกรอกหูชาวบ้านทุกครั้งในช่วงฤดูการหาเสียง ในที่สุดความใฝ่ฝันของนักการเมืองกลุ่มวะห์ดะห์และแกนนำผู้สนับสนุนมวลชนของกลุ่มวะห์ดะห์ก็สำเร็จตามความมุ่งหมายไปอีกก้าวหนึ่ง
สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้ ค่อนข้างจะตึงเครียดท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบระหว่างพล.อ. ชาติชายฯนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งกับบรรดาขุนศึกแม่ทัพนายกองทั้งหลายในกองทัพที่ยังยึดติดกับเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีของนักรบที่ยังไม่ยอมรับฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง บรรดานักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยที่คร่ำหวอดทั้งหลายต่างเชื่อมั่นว่า การปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองไทยถึงยุคอวสานไปแล้ว ต่อนี้ไปการเมืองไทยก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยที่โชติช่วงชัชวาลเหมือนนานาอารยะประเทศทั้งหลายแล้ว แต่เมื่อพล.อ. ชาติชายฯนายกรัฐมนตรีเตรียมตัวจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายรายนามพล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก โปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทันใดนั้น
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะทหารนำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงศ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อย่างพลิกความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลาย
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์