วิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง ตอนที่ 1 (สุรชาติ บำรุงสุข : จากสงครามเย็น ถึง 9/11 สงครามเปลี่ยน โจทย์ความมั่นคงเปลี่ยน)

สุรชาติ บำรุงสุข : จากสงครามเย็น ถึง 9/11 สงครามเปลี่ยน โจทย์ความมั่นคงเปลี่ยน

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “วิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางกับเศรษฐกิจโลก” ในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันเอเชียศึกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลาง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ดร. อณัส อมาตยกุล และอ.วัชระ แววดำ มาร่วมบรรยายพิเศษและเสวนาบนเวที

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหารอันดับหนึ่งของเมืองไทย บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางปัญหาความมั่นคงโลกและเอเชียในกระแส ISIS : ความท้าทายและผลกระทบ” ที่อ.สุรชาติชี้ว่า ความท้าทายจากโจทย์ในมิติของความมั่นคงโลกที่เปลี่ยนไป อันเป็นโจทย์ใหม่ที่ได้นำพาโลกเกือบทุกภูมิภาคเข้าสู่สนามสงคราม “ยุคใหม่” ท่ามกลางความสงบที่แฝงไปด้วยความรุนแรง

จากสงครามเย็น ถึง 11 กันยา สงครามเปลี่ยน โจทย์เปลี่ยน กับโลกภายใต้สันติภาพแฝงความรุนแรง

อ. สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่า หลังจากสงครามเย็นผ่านพ้นไป ผู้คนต่างก็เชื่อมั่นว่าสงครามใหญ่ได้พบกับจุดสิ้นสุดบนโลกนี้แล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง สันติภาพได้เข้ามาเยือนมนุษย์ชาติอย่างแท้จริงแล้ว ถึงแม้จะยังมีคำถามเกิดขึ้นอยู่ตลอดว่า สันติภาพที่มีอยู่ คือสันติภาพที่ถาวรหรือไม่? สถานการณ์สงครามขนาดใหญ่ ที่ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้สิ้นสุดลงไปแล้วจริงหรือ ตามทัศนะของหน่วยงานความมั่นคงโลก?

ซึ่ง อ.สุรชาติ ได้อธิบายประเด็นดังกล่าวว่า “9/11 หรือ เหตุการณ์โจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544 แท้จริงแล้วคือ ต้นแบบแห่งสงครามยุคใหม่ (The New War)”

“สงครามที่ไม่ได้ถูกเปิดตัวขึ้นในรูปแบบที่คนยุคสงครามเย็นคุ้นเคย ไม่ได้มาพร้อมกับสันติภาพร้อน หรือ Hot Peace ตามแบบคนทำงานด้านความมั่นคงเรียก ทว่าสงครามในยุคใหม่ที่ดูเหมือนโลกจะมีสันติดีนี้ กลับกลายเป็นสันติภาพที่แฝงไปด้วยความรุนแรง หรือ (Violent Peace)

อ.สุรชาติ ระบุว่า สงครามยุคใหม่เปิดฉากขึ้น เมื่อสื่อนำเสนอโลกให้รู้จักกับ “บินลาเดน” และกลุ่มก่อการร้าย “อัลกออิดะห์” กับโจทย์ใหม่ที่ท้าทายความมั่นคงโลก เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการก่อการร้ายทั้งหมดทุกรูปแบบ ด้วยความที่ อัลกออิดะห์ คือ ขบวนการก่อการร้ายที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งยังมีโครงสร้าง เหมือนกับบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจทั่วไป คือ มีฝ่ายบุคคล ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายข่าวกรอง ฝ่ายวางแผน ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายบริการ

“ปฏิบัติการ 9/11 คือรูปแบบใหม่ของการก่อการร้ายที่ใช้อากาศยานพุ่งชนตึก จากเดิมที่จะใช้วิธียึดเครื่องบิน จี้ตัวประกัน แล้วต่อรอง จุดนี้ถือว่าการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็นแตกต่างกับการก่อการร้ายยุคใหม่ เพราะผู้ก่อการร้ายในยุคสงครามเย็นนั้น ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อโฆษณาให้คนสนใจข้อเรียกร้องทางการเมืองของพวกตน แต่ก็เดินไปไม่สุด เพราะไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทุนและยุทโธปกรณ์จากรัฐ (State Sponsor Terrorism)” อ.สุรชาติ กล่าว

สงครามยุคใหม่ เรื่องไกลตัวคนไทยหรือ?

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญนักวิชาการด้านความมั่นคงชี้ให้เห็นว่า ท้ายที่สุดโจทย์ความมั่นคงใหม่ที่ท้าทายโลกโจทย์นี้ก็เข้ามาเยือนประเทศไทย ตามลำดับเหตุการณ์ก่อการร้าย ที่ทิ้งโลกกับสังคม ไว้ด้วยกับคำถาม ‘เราจะรับมืออย่างไร’ โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544 โลกได้เห็นการพุ่งชนตึกที่นิวยอร์ค ต่อมาที่เกาะบาลี มีเหตุระเบิดที่ส่าหรีคลับ ซึ่งถือเป็นเหตุก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดหลังจาก 911 เมื่อวันที่ ต.ค.2545 ตามด้วยระเบิดโรงแรมเจดับบลิว แมริออต จาการ์ต้า อินโดนีเซีย เมื่อ ก.ค.2552 ต่อมาคือ เหตุการณ์จับตัวประกัน 700 กว่าชีวิต ที่ใหญ่ที่สุดในมอสโคแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“จากบาหลี ถึงจาการ์ตา ห้วงเวลาและพื้นที่ต้องบอกว่าใกล้กับประเทศไทยมาก ผมจำได้ว่า ช่วงเวลาหลังจากนั้น เคยพูดกับคนที่ทำงานด้านความมั่นคงว่าเล่นๆ ไม่ว่าช้าหรือเร็วต้องมาไทยแน่ และ 4 ม.ค.2547 ก็เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ จ.นราธิวาส ซึ่งถือว่าไทยยังโชคดีที่ไม่เจอเหตุการณ์ใหญ่แบบที่บาหลีหรือจาการ์ตา แต่สำหรับประเทศไทย โจทย์ความมั่นคงยุคหลังสงครามเย็นที่เชื่อว่าเป็นห้วงเวลาแห่งสันติภาพนั้น จบลงที่ค่ำคืนของวันที่ 4 ม.ค.2547” อ.สุรชาติระบุ

การก่อการร้ายที่เปลี่ยนโฉม กับสงครามเปลี่ยนรูป

นอกจากนี้ อ.สุรชาติ ได้กล่าวต่อว่า 11 กันยา เปลี่ยนแปลงโลกในระดับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาเยือนเราพร้อมกับ โจทย์ความมั่นคงชุดใหม่ ที่ซึ่ง ส่วนหนึ่งของมัน คือ สงครามในอัฟกานิสถาน และต่อมาในกรณีที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาลของ ซัดดัม ฮุซเซน

อ.สุรชาติระบุว่า โจทย์ความมั่นคงชุดใหม่นี้ เข้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสงครามและความรุนแรง จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าโลกเปลี่ยน สงครามใหญ่ที่เราเคยกลัวในยุคสงครามเย็น อาจจะเปลี่ยนเป็นเพียงสงครามเล็กๆ แต่มีอยู่ในหลายพื้นที่ของโลกหรือเปล่า? ตามที่เราต่างก็ทราบกันดีว่า ความขัดแย้งในปลายยุคสงครามเย็น ไม่ได้มีความรุนแรงสูงถึงเพียงนี้ เป็นความขัดแย้งที่มีอยู่ในระดับที่ต่ำ และท้ายที่สุดกรณีของ บอสเนีย, ยูโกสลาเวีย ก็เป็นอะไรที่ตอบเราชัด

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หลัง 9/11 ตอกย้ำเราอย่างเดียวคือ ความรุนแรงชุดใหม่กำลังคืบคลานเข้ามา สันติภาพที่มีอยู่คือสันติภาพที่แฝงไปด้วยความรุนแรง ความสุขเริ่มจางหาย องค์กรก่อการร้าย มีความซับซ้อนและมีขีดความสามารถในตนเองมากขึ้น พวกเขาพึ่งพาตนเองได้ทุกอย่าง โลกแห่งความมั่นคงบัดนี้ได้อาศัยอยู่กับโจทย์ที่มีขบวนก่อการร้ายใหญ่อย่าง อัลกออิดะห์เป็นตัวขับเคลื่อน”

แต่กระนั้นก็มีคำถามผุดขึ้นอย่างมากมาย เมื่อครั้งที่ อัลกออิดะห์เริ่มลดบทบาทลงเรื่อยๆ ประกอบกับการเสียชีวิตของ นายอุซามะฮ์ บินลาเดน อันส่งผลให้อัลกออิดะห์สูญเสียฐานที่มั่นใหญ่ในอัฟกานิสถาน รวมไปถึงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลตอลีบัน และการถอนกำลังออกจากอิรักในปี 2011 ของรัฐบาลสหรัฐฯ

ส่วนคำถามอย่างเช่นว่า “สงครามจบแล้วจริงๆหรือ?” ประเด็นนี้อ.สุรชาติได้ให้ทัศนะว่า “ถ้าเรามองแบบคนยุคหลังสงครามเย็น เมื่อสหรัฐฯถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ ก็คงต้องตอบว่า สงครามจบแล้ว ทว่า สงครามไม่ได้จบลงจริง ในกรณีนี้ ‘สงครามเปลี่ยนรูปต่างหาก”

หลังการจากไปของ บินลาเดน คนทำงานในความมั่นคง ต่างตั้งคำถามว่า ใครจะออกมาเป็นคนที่ขับเคลื่อนขบวนชุดนี้ต่อ? มันยังจะเป็นขบวนก่อการร้ายอัลกออิดะห์อีกไหม? หรือเราจะเห็นการปรากฏตัวของขบวนการชุดใหม่?”

“แน่นอนว่า เราก็คงจะตอบไม่ได้ เว้นเสียจะอาศัยข้อมูลจากงานข่าวกรอง แต่คำถามนี้ก็ถูกตอบในท้ายที่สุด เมื่อเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของอิรักแตก ช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2557 พื้นที่ภาคเหนือของอิรักถูกยึดครองโดยขบวนชุดใหม่ ด้วยกับผู้นำคนใหม่ ซึ่งไม่ใช่ อัลกออิดะห์ อีกต่อไปแล้ว (แม้จะมีบางส่วนที่เชื่อมโยงกับ อัลกออิดะห์ก็ตาม)” อ.สุรชาติกล่าว และว่า

“ขบวนชุดใหม่นี้ปรากฏตัวขึ้นด้วยชื่อ 3 ชื่อ แล้วแต่ใครจะเรียก ISIS, Islamic state (รัฐอิสลาม) และ ISIL (ตามที่ทำเนียบขาวเรียก) กับปฏิบัติการที่มาพร้อมกับใบประกาศตั้งตนเป็น อิสลามิค สเตท หรือ กลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนคือ ต้องการจัดตั้งรัฐที่เป็นศาสนจักร ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะข้อเสนอใหญ่ที่สุดคือ การยกเลิกเส้นเขตแดนที่มีอยู่ในตะวันออกกลาง หรือ ยกเลิกข้อตกลงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษเคยทำไว้กับบรรดาเจ้าปกครองรัฐอาหรับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือพูดง่ายๆ คือ การยกเลิกมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหลังสงคราม 1 ทิ้งทั้งหมด ซึ่งถ้ามันเป็นจริง สิ่งนี้จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก”

อ.สุรชาติชี้ว่า ปฏิบัติการของไอเอสได้เปลี่ยนโฉมการก่อการร้ายที่โลกเคยรู้จักไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ

1. ไอซิซมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นของตนเอง ไอซิซยึดครองไม่ใช่เฉพาะแค่ในภาคเหนือของอิรักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบางส่วนของซีเรียอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มก่อการร้ายจะไม่มีพื้นที่เป็นรูปเป็นร่างของตัวเองแบบนี้

2. โดยปกติแล้วผู้ก่อการร้ายจะเน้นปฏิบัติการลอบวางระเบิด หรือก่อวินาศกรรม แต่ไอซิซทำสงครามตามแบบ อย่างตรงไป ตรงมา ไอซิซขับรถถัง ที่ยังไม่มีคือการรบทางอากาศเท่านั้น

“และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ทุกเดือนจะมีพี่น้องมุสลิมอาสาไปร่วมรบพันกว่าคน ด้วยตัวเลขจากทางตะวันตก ซึ่งเชื่อกันว่า มีนักรบต่างชาติเข้าร่วมสมบททางภาคเหนือของอิรัก และซีเรียแล้วอยู่ จำนวนกว่า 1 หมื่นคนจาก 80 ประเทศ”

003

ไทยติดกลุ่มประเทศเสี่ยงจากภัยก่อการร้ายโลก

อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ โจทย์ความรุนแรงชุดใหม่นี้ เดินทางมาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราแล้วหรือยัง หรือไทยมีความเสี่ยงในเรื่องของไอซิซ มากน้อยเพียงใด?

อ.สุรชาติ ระบุว่า อ้างอิงจากรายงานเปิดจากต่างประเทศ กองกำลังต่างชาติจากประเทศแถบเอเซียที่ไปร่วมกับไอเอส ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดียิ่ง เพราะยังไม่มีประเทศไทย

“กระนั้นคนไทยก็ยังคงหนีไม่พ้นความเสี่ยงจากการก่อการร้ายนี้ วันนี้ท่ามกลางเสถียรภาพด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนไปเราพบข้อมูลหนึ่งจากต่างประเทศที่น่าตกใจยิ่ง เมื่อ ‘ไทยติดโผ อันดับ 10 ประเทศเสี่ยงในบริบทของการก่อการร้าย และมีอัตราการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก อีกด้วยเช่นกัน’ อันถือเป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตามองอย่างไม่กระพริบ โดยเฉพาะเมื่อ เป้าหมายของการก่อการร้ายในปัจจุบัน คือ ประชาชน”

ปฏิบัติการ “หงส์ดำ”

นอกจากนี้ อ.สุรชาติ ยังกล่าวเน้นอีกด้วยว่า สิ่งที่น่าหวั่นเกรงของการก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่การปฏิบัติการในพื้นที่ของไอเอส แต่เป็นเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “Black swan” หรือ “หงส์ดำ” ซึ่ง “เป็นการก่อเหตุในประเทศที่ไม่มีสัญญาณความขัดแย้งที่ชัดเจน จึงยากแก่การเฝ้าตรวจและระวังป้องกัน ดังเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเดนมาร์ค ที่ได้ทิ้งปคำถามหนึ่งไว้ให้กับโลกในวันนี้ว่า “หงส์ดำจะเกิดขึ้นที่ไหนอีก?”

ปัจจัยสำคัญลดปัญหาการก่อการร้าย

สุดท้าย ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการก่อการร้ายนั้น อ.สุรชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่า ความยากจนไม่ใช่ปัจจัยอันนำไปสู่การก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่คนจน เพราะฉะนั้นแล้วพื้นที่ยากจนจึงไม่ใช่จุดกำเนิดของการก่อการร้าย เช่นนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาการก่อการร้าย

“การก่อการร้ายเกือบทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัย คือ 1)ปัจจัยทางการการเมือง ลัทธิชาตินิยม และการแบ่งแยกดินแดน และ 2) ปัจจัยทางศาสนา”

“ขณะที่ต้นตอการก่อการร้ายมักเกิดจาก 3 ปัจจัยในสังคม คือ 1.ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมของตนเอง 2.การใช้ความรุนแรงของรัฐ และ 3.ความรุนแรงที่ทับซ้อนดำรงอยู่หลายมิติในสังคมนั้นๆ”

“ขณะที่ สามปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาก่อการร้าย คือ รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ รัฐบาลต้องมีความชอบธรรม และต้องจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมกันใหม่ ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจหรือปัญหาความยากจน แทบไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสมัยใหม่เลย” อ.สุรชาติกล่าว