“กลัวว่าถ้ามาผ่าตัดแล้วกลับไปจะทำงานไม่ได้ ไม่มีเงินมาใช้จ่ายเพราะต้องทำงานดูแลตัวเองและสามี แต่ก็อยากผ่าเพราะจะได้มองเห็นชัดขึ้น จึงตัดสินใจผ่า เหมือนได้เห็นโลกใหม่ที่สดใสกว่าเดิม”
ความรู้สึกของนางตีเมาะ สาเมาะ วัย 70 ปี จากบ้านคูระ ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่เข้าร่วม โครงการลอกต้อกระจกเพื่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 15-17 กรกฏาคม 2560 ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 2 ของโครงการฯ มีผู้เข้ารับการคัดกรองจำนวน 400 กว่าราย และผ่านเกณฑ์ที่ได้รับการผ่าตัดลอกต้อกระจกจำนวน 99 ราย
ดร.รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกกล่าวความเป็นมาของโครงการฯนี้ว่า จากสถิติพบว่าประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ประสบปัญหาสุขภาพจากโรคตาจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีปัญหาสุขภาพด้านสายตา สาเหตุจากโรคต้อเนื้อและต้อกระจก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการปฏิบัติศาสนกิจ
“ผู้ป่วยเหล่านี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา เช่น ฐานะยากจน ระบบการรักษาปกติที่รอคิวนาน และความปลอดภัยของการเดินทางและเข้าถึงการผ่าตัดน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.) นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ โรงพยาบาลสิโรรสปัตตานี หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้บริการผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาในครั้งนี้ และมาคัดกรองอีกครั้ง มีผู้ได้รับการผ่าตัดลอกต้อกระจกครั้งนี้จำนวน 99 ราย”
นายมะรอนิง กาหลง จากอ.ยะรัง จ.ปัตตานี หนึ่งในผู้เข้ารับการลอกต้อกระจกครั้งนี้กล่าวด้วยความดีใจว่า ดีใจมากที่ได้รับโอกาสดีๆ เช่นนี้ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยข้อง และขิให้มีโครงการต่อไปเพราะยังมีผู้ป่วยที่ขาดโอกาสจะได้รับโอกาสกันอย่างทั่วถึง
ด้าน นางสมคิด ทองชุม วัย 61 ปี จากบ้านปลักปรือ ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่เคยได้รับโอกาสในการลอกต้อกระจกนัยน์ตาข้างซ้ายมาจากโครงการของโรงพยาบาลปัตตานี ซึ่งทำให้ได้มองเห็นชัดขึ้น ในโอกาสครั้งนี้ที่ได้รับกับนัยน์ตาข้างขวาซึ่งมองเห็นไม่ชัดมาหลายเดือน จึงได้มองชัดขึ้นทั้งสองข้าง
“ตาข้างขวามองเห็นไม่ชัด เป็นหมอกมาสักสามเดือน ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาบอกว่ามีโครงการนี้ก็สมัครมา ผ่านการคัดกรองเพราะหมอบอกว่าต้อมันหนาและได้รับการผ่าตัดลอก ทีมหมอและพยาบาลที่ผ่าตัดดูแลดีมาก ไม่ละเลย ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือและดูแลป้าให้ได้รับโอกาสนี้ เพราะถ้าให้ไปทำเองคงอีกนานมากด้วยคิวที่ต้องรอ ดีใจมากๆ ที่ตาได้มองเห้นชัดทั้งสองข้างเสียที”
ความรู้สึกของนางตีเมาะ สาเมาะ จากบ้านคูระ ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งประกอบอาชีพทำนาและกรีดยางบอกว่า
“กลัวว่าถ้ามาผ่าตัดแล้วกลับไปจะทำงานไม่ได้ ไม่มีเงินมาใช้จ่ายเพราะต้องทำงานดูแลตัวเองและสามี แต่ก็อยากผ่าเพราะจะได้มองเห็นชัดขึ้น จึงตัดสินใจผ่า เหมือนได้เห็นโลกใหม่ที่สดใสกว่าเดิม”
โดยมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคเงินจำนวน 5,000 บาท ให้นางตีเมาะเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่ต้องรักษาดวงตาและไม่สามารถทำงานหนักได้ จึงเป็นสาเหตุให้นางตีเมาะตัดสินใจผ่าตัดลอกต้อกระจกในครั้งนี้
แพทย์หญิงพัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า ทุกครั้งที่ได้มาสัมผัสชายแดนใต่ไม่ใช้เรื่องง่าย เพราะหลายท่านมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของทีมงาน ครั้งนี้มีทีมงานของโรงพยาบาลบ้านแพ้วจำนวน 30 คน แพทย์มาร่วมทีม 4 คน พยาบาลจำนวน 26 คน
“ดีใจที่ทุกคนหกลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง จากโอกาสที่ได้ทำประโยชน์ให้กับเปาะจิ๊เมาะจิ๊ คาดว่าโครงการครั้งที่ 3 คงจะได้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่พี่น้องชายแดนใต้อีก”
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลอกต้อกระจกครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 หมื่นบาท หากโครงการนี้เป็นการบริการฟรี โดยใช้วัสดุเลนส์เทียมอย่างดี มีคุณภาพเข้าไปในตาของผู้ป่วย และใส่ไปตลอดชีวิตไม่ต้องเอาออก เมื่อผ่าตัดลอกเสร็จต้องใส่แว่นดำไว้ตลอดเวลาเพื่อกรองแสงและสิ่งสกปรกเข้านัยน์ตา เวลานอนก็ครอบตาด้วยแผ่นครอบ ห้ามไอ จามแรงๆ หลังจากนี้อีก 1 เดือนจึงจะสามารถให้น้ำเข้าไปในตาได้ และใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อผู้เข้ารับการรักษาลอกต้อกระจกในครั้งนี้ได้มีดวงตาที่สดใส มองเห็นชัดขึ้น ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ คงจะลบข้อสงสัย หรือความเชื่อที่ว่า เมื่อมาลอกแล้วจะมองเห็นไม่ชัด จากการพูดกันไปปากต่อปาก และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นได้ตัดสินใจเข้ารับการรักษาและร่วมโครงการนี้ในปีต่อไป
เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่ให้โอกาสแก่พี่น้องชายแดนใต้ได้มองโลกสว่างไสวกันอีกครา…
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้