ในบรรดานักเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักงานชิ้นเอกของ Thucydides เรื่อง ประวัติศาสตร์สงครามเพโลโปนีเซียน (The History of Peloponnesian War) งานชิ้นนี้เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การทำสงครามระหว่างสมาพันธรัฐเดลอส (Delos) ที่มีเอเธนส์เป็นผู้นำ กับสมาพันธรัฐเพโลโปนีเซียนภายใต้การนำของสปาร์ต้า
สมาพันธรัฐเดลอสเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบรรดานครรัฐต่างๆ ที่ตระหนักถึงภัยคุกคามร่วมกันจากการรุกรานของเปอร์เซีย จึงรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นกลุ่มรัฐอย่างหลวมๆ และมีเอเธนส์เป็นนครรัฐผู้นำ ต่อมาเมื่อภัยคุกคามจากเปอร์เซียหมดไป เอเธนส์ก็รวบอำนาจแปรสภาพสมาพันธรัฐที่ตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของสมาชิกนครรัฐทั้งหมด มาอยู่ในรูปของจักรวรรดิเอเธนส์ และใช้กำลังบีบบังคับมิให้นครรัฐใดลาออกจากความเป็นสมาชิก หรือเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ
สาระส่วนสำคัญอันหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์สงครามเพโลโปนีเซียน คือ บทสนทนาระหว่างเอเธนส์ (Athenian) กับเมโล (Melos) ที่รู้จักกันในนาม “the Melian Dialogue” อันเป็นบทสนทนาที่เอเธนส์พยายามตะล่อมให้พวกเมโลเข้าร่วมสนับสนุนเอเธนส์ในสงครามเพโลโปนีเซียน และเมื่อการเจรจาดูเค้าว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ เอเธนส์จึงใช้กำลังเข้าควบคุม โดยก่อนจะทำเช่นนั้นได้กล่าวประโยคหนึ่งขึ้นว่า
“ดังที่โลกเป็นอยู่ ความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันอยู่แค่ในคำถามเดียว ก็คือ ใครมีอำนาจมากกว่ากัน ผู้ที่เข้มแข็งย่อมกระทำในสิ่งที่เขาสามารถ จะทำได้ ส่วนผู้ที่อ่อนแอก็ย่อมสูญเสียสิ่งที่พวกเขาจะต้องเสีย”
บทสนทนาใน the Melian Dialogue นี้ โดยเฉพาะประโยคข้างต้น มักถูกอ้างอิงถึงในฐานะต้นรากของทฤษฎีสัจนิยม (Realism) ซึ่งมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจมากกว่าความชอบธรรม
บทสนทนาข้างต้นมักถูกอ้างอิงเพื่อเป็นบทเรียนสอนกันว่า “ศักยภาพทางการทหารถือว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดที่สุดที่จะชี้ขาดตัดสินเรื่องต่างๆ” และโลกใบนี้เป็นของคนที่เข้มแข็งกว่า
กระนั้นก็ดี ถ้าท่านอ่านงานของ Thucydides ชิ้นนี้อย่างตลอดรอดฝั่งจะเห็นบทสนทนาอื่นๆ อันนำมาซึ่ง การเข้าใจเรื่อง “อำนาจและการครองอำนาจ” ในอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง
เนื้อความส่วนต่อมานี้ ที่อาจชวนให้ท่านเห็น “message” อีกแบบที่แฝงอยู่ของ Thucydides ก็คือ ถ้อยคำประกาศปฏิวัติต่อระบอบการนำของเอเธนส์โดยชาวมิทิลิน (Mitylene) และเป็นเงื่อนไขเบื้องแรกๆ ต่อการที่เอเธนส์แตกสลายและพ่ายแพ้สปาร์ต้า ในสงครามเพโลโพนีเซียนในที่สุด
“ตราบใดที่เอเธนส์นำพวกเราอย่างยุติธรรม พวกเราก็พร้อมจะเดินตามพวกเขาด้วยภักดี แต่เมื่อพวกเราเห็นว่าเอเธนส์พยายามที่จะเอาเปรียบ และควบคุมบรรดาพันธมิตรให้อยู่ใต้อำนาจ พวกเราก็เริ่มที่จะเกิดความหวาดวิตก ความไว้วางใจที่มีต่อการเป็นผู้นำของเอเธนส์ บัดนี้เราไม่สามารถรู้สึกถึงมันได้อีกแล้ว”
จากที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น บทเรียนที่แฝงฝังอยู่ในประวัติศาสตร์สงครามเพโลโปนีเซียน คือ บทเรียนที่ว่า ลำพังเพียงการใช้ความเข้มแข็งเชิงกายภาพกดทับปิดกั้นคนอื่นเอาไว้ ไม่ช่วยให้ครองอำนาจได้ยาวนาน แต่“พันธมิตร” (alliances) ต่างหากที่เป็นกลไกสำคัญยิ่งในการครองความอำนาจนำ
“พันธมิตร” ในที่นี้ หมายถึง บรรดากลุ่มคน ภาคส่วนที่ยินยอมเดินตามการนำของท่านโดยสมัครใจ ด้วยเห็นว่า ความเป็นผู้นำของท่านนั้นมีความชอบธรรม (legitimacy) ตัวของความชอบธรรมนี้เองที่เป็นเงื่อนไขแบ่งแยกคำในภาษากรีกโบราณระหว่างคำว่า “Hegemonia” ที่แปลว่า การเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรม (legitimate leadership) กับคำว่า “Arkhe” ที่หมายถึง การปกครองควบคุมโดยข่มขู่บังคับ (coercive control)
ความชอบธรรมในการครองอำนาจนำเหนือคนอื่นเขาสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ
(1) สมาชิกประชาคมแชร์/ยึดถือค่านิยมหลักร่วมกัน (shared core values) เพราะความชอบธรรมเป็นอัตวิสัย (subjective) แต่ละสังคมก็มองตัดสินแตกต่างกันไปว่า ‘การเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจ’ มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ในสังคมประชาธิปไตย สิทธิในการใช้อำนาจยึดโยงอยู่กับประชาชน ส่วนในสังคมเผด็จการ สิทธิในการใช้อำนาจยึดโยงอยู่กับผู้ที่มีกำลังมากที่สุด แม้จะอ้างอิงประชาชนอยู่บ่อยครั้ง แต่สิทธิขาดก็อยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยของสังคม
ข้อนี้ก็ต้องถามกลับว่าในบริบทของสังคมไทย เรายังมีค่านิยมหลักที่ยึดถือร่วมกันอะไรเหลืออยู่อีกบ้าง โดยเฉพาะค่านิยมหลักในทางการเมือง ในคำถามประเภทที่ว่า ระบอบการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร ความยุติธรรมหมายถึงอะไร เป็นต้น ถ้าปราศจากซึ่งค่านิยมหลักบางประการร่วมกัน สังคมก็จะไม่อาจแสวงหานิยามร่วมกันที่ครอบคลุมเพียงพอได้ว่า ผู้นำการเมืองที่ชอบธรรมมีลักษณะอย่างไร สังคมประเภทนี้โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นพหุสังคม (plural society) และเหมาะสมกับระบอบการเมืองแบบเสรีเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ มากกว่าระบอบการเมืองที่เก็บกดปิดกั้นด้วยเห็นว่าการเปิดกว้างทำให้ยุ่งยาก ชักช้า วุ่นวาย และอาจนำไปสู่ความโกลาหล ในสังคมแบบพหุสังคม ยิ่งดันทุรังใช้ระบอบการเมืองแบบผูกขาดอำนาจนานไป ยิ่งหมักหมมความเสียหายแก่บ้านเมืองมากขึ้นทีละเล็กละน้อย และสุ่มเสี่ยงต่อการระเบิดออกเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ความชอบธรรมก็เป็นสิ่งที่ผู้นำมิอาจวัดประเมินเอาเองได้ แต่มันจำต้องถูกสะท้อนจากสายตาคนอื่น ผู้นำที่เที่ยวป่าวประกาศว่าตนมีความชอบธรรมอย่างไรบ้าง ก็เป็นได้อย่างมากแค่พวกหลงตัวเอง (narcissism) หรือไม่ก็คนบ้า
(2) การใช้อำนาจอย่างจำกัด (limited power) ดังที่นักวิชาการอย่าง David Beetham กล่าวไว้ใน The Legitimation of Power (1991) ว่า “Legitimate power …is limited power” อันหมายถึงว่า ด้วยเหตุที่ต้องมีบรรดาหลักการ ค่านิยม รองรับความชอบธรรม หรือการมีสิทธิใช้อำนาจ ตัวหลักการ ค่านิยมเหล่านั้น ก็จะทำหน้าที่ชี้นำ วางเงื่อนไข ควบคุม และจำกัดขอบเขตของกระบวนปฏิบัติการใช้อำนาจของผู้นำไปด้วย ในตัว อำนาจที่ชอบธรรมจึงมิได้หมายถึงอำนาจที่สะเปะสะปะแส่ไปทุกเรื่องในทุกพื้นที่อาณาบริเวณของรัฐ แต่จะต้องทำงานอย่างจำกัดด้วยกติกา หลักการ ค่านิยมบางอย่าง และ “ทำเฉพาะบางเรื่องที่เป็นหน้าที่ ซึ่งท่านใช้เป็นเหตุผลของการยึดอำนาจ” เท่านั้น
สำหรับการครองอำนาจนำ (Hegemony) การใช้อำนาจของผู้นำก็จะถูกจำกัดให้ปฏิบัติได้เฉพาะในกิจกรรมที่เข้าใจร่วมกันว่า เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนผลประโยชน์ร่วมของประชาคม ถ้าผู้นำใช้อำนาจเผด็จของตนไปในเรื่องที่ไม่ส่อถึงประโยชน์ส่วนรวม นั่นก็ย่อมเรียกว่าเป็นการลุแก่อำนาจ และจะเป็นตัวทำลายความชอบธรรมในการนำในที่สุด
ในข้อนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาอีกเช่นกันว่า ท่านกำลังใช้อำนาจที่ยึดเอามานั้น ไปในรูปแบบลักษณะใด สนับสนุนประโยชน์ส่วนรวมของประชาคม หรือก่อให้เกิดความคลางแคลงใจที่แผ่วงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ว่า กระทำการเอาเปรียบ กดทับ ข่มเหงบรรดาสมาชิกผู้เดินตาม บางกลุ่มบางฝ่าย
บทเรียนจากประวัติศาสตร์สงครามเพโลโปนีเซียนระบุชัดว่า การใช้ศักยภาพทางกำลังที่มากกว่าอาจช่วยให้พิชิตสงคราม แต่กำลังที่เข้มแข็งกว่าเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยรักษาบัลลังก์ การครองอำนาจนำ (hegemony) หรือการเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมต่างหาก เป็นเงื่อนไขหลักของการครองบัลลังก์
การครองอำนาจนำจะช่วยรักษาบัลลังก์บนฐานของความไว้วางใจและภักดี (trust & loyalty) ด้วยเหตุที่สมาชิกสังคมไว้วางใจการนำของท่านว่า กำลังพาพวกเขาไปสู่ทางที่ประเสริฐและเกิดประโยชน์ร่วมกัน และดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมสมัครใจกระทำการตามสิ่งที่ท่าน(จะ)ร้องขอโดยสมัครใจและภักดี
เงื่อนไขการครองอำนาจนำ จึงอยู่ที่การสร้างและรักษาความเป็นพันธมิตรกับสมาชิกสังคมที่เดินตาม มิใช่การผลักดันเบียดขับพวกเขาไปเป็นศัตรู
“Among the means of power which now prevail is the power to manage
and to manipulate the consent of men … much power today is successfully employed
without sanction of reason or the conscience of the obedient”
C. Wright Mills (1959)
————–
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช