ซาอุฯ ขอความช่วยเหลืออิรัก “กาวใจ” ฟื้นฟูความสัมพันธ์อิหร่าน

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรีอิรักเพื่อเป็นตัวกลางในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างริยาดและเตหะราน อัลจาซีร่ารายงานอ้างสื่อท้องถิ่นอิรัก

“อัลกาดีร์” สถานีข่าวของอิรัก รายงานอ้างคำพูดของ “กาซิม อัลอีราจี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิรัก ที่ระบุว่า เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ขอให้ “ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี” นายกรัฐมนตรีอิรัก เป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยกับอิหร่าน

“ในระหว่างที่เราเยือนซาอุดิอาระเบีย พวกเขายังขอให้เราดำเนินเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน และเรากล่าวว่าฝ่ายอิหร่านก็เช่นกัน ฝ่ายอิหร่านได้พิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวในเชิงบวก” คำกล่าวของนายอีราจี ซึ่งถูกรายงานโดยสถานีข่าว “อัลกาดีร์” เมื่อวันอาทิตย์ (13 ส.ค.) ที่ผ่านมา

“หลังจากที่อิรักประสบกับชัยชนะ [ซาอุดีอาระเบีย] เริ่มมองไปยังอิรัก ตามความเป็นจริงและในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ”

“ความสงบ เสถียรภาพ และการกลับสู่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียมีผลกระทบในเชิงบวกต่อภูมิภาคโดยรวม”

นายอีราจีไปเยือนกรุงเตหะรานของอิหร่านในวันเสาร์ (12 ส.ค.) เพื่อหารือใน “หลายประเด็น” กับเจ้าหน้าที่อิหร่านระดับสูง ก่อนหน้านี้เขาได้ไปเยือนซาอุดีอาระเบียในเดือนกรกฎาคม

สำนักข่าวอิสนา (ISNA) ของอิหร่าน อ้างถึงนายอีราจี ในรายงานภาษาฟาร์ซีว่า เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมานต้องการ “ลดความตึงเครียด” กับอิหร่าน

อีราจีเยือนกรุงเตหะรานเมื่อวันเสาร์ (13 ส.ค.60) หลังจากเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา [แฟ้มภาพ AP]
มุกตาดา อัล-ซาดร์ นักการศาสนาชีอะห์ผู้ทรงอิทธิพลในอิรัก ประกาศบนเว็บไซต์ของตนว่า เขาจะไปเยือนยูเออีในวันอาทิตย์ (13 ส.ค.)

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มุกตาดาได้ไปเยือนซาอุฯ ซึ่งเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เขาได้พบปะกับเจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน และเจ้าหน้าที่ของทางการซาอุฯ คนอื่นๆ

มุกตาดา อัล-ซาดร์ เป็นบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้านอเมริกัน เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นรากหญ้าในกรุงแบกแดดและหลายเมืองทางตอนใต้ เขายังเป็นเป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธ “ซารายาอัส-สลาม” (Saraya al-Salam) หรือ “Peace Brigades” (กองพันสันติภาพ)

ปัจจุบันเขาถูกมองว่าเป็นผู้มีแนวคิด “ชาตินิยม” ที่เรียกร้องให้ประท้วงต่อต้านการทุจริตในรัฐบาลอิรักหลายครั้ง และผู้สนับสนุนของเขาเคยก่อการประท้วงอย่างใหญ่โตในกรุงแบกแดดโดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง

การเยือนซาอุฯ ของนักการศาสนาผู้ทรงอิทธิพลในอิรักเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดในรอบหลายปีของประเทศอ่าว อันมาจากข้อพิพาทระหว่างกาตาร์กับกลุ่มประเทศอาหรับที่นำโดยซาอุฯ ประกอบด้วย ยูเออี บาห์เรน และอียิปต์

ในการให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่า “ซาอัด ยะวาด” อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) บอกว่า การทูตซาอุ-อิรัก เป็นเรื่อง “ชอบกล”

“ถ้าซาอุดีอาระเบียกำลังโต้เถียงกับกาตาร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกาตาร์กับอิหร่าน … พวกเขาจะขอให้อิรักแก้ไขความสัมพันธ์ของตนกับอิหร่านได้อย่างไร?”

“ชาวซาอุฯ รู้ดีว่าอิรักมีความลำเอียงเล็กน้อยในความสัมพันธ์กับชาวอิหร่าน และพวกเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวอิหร่าน”

นายจาวาดกล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียควรขอความช่วยเหลือจากโบรกเกอร์ที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ เช่น คูเวตหรือโอมาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน

ด้าน “เรซา คอสเตห์” (Reza Khaasteh) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Iran Front Page ของอิหร่าน กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็น “การดำเนินการอย่างจริงใจ” จากริยาด โดยพิจารณาจาก “สัญญาณโต้ตอบระหว่างสองฝ่าย” ล่าสุดนี้

คอสเตห์ ชี้ให้เห็นว่า ก่อนวันอาทิตย์ที่จะมีประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย นายอะเดล อัลจูเบร์ ได้เคยมีการหารือช่วงสั้นๆ กับจาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ในการประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่อิสตันบูลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม

“ดังนั้นเราจึงสามารถตีความคำเรียกร้องของเจ้าชายมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ในการประนีประนอมว่าเป็นความต่อเนื่องของพัฒนาการในเชิงบวกและคำพูดไม่กี่คำที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างจูเบร์กับซารีฟ ใช่ ทั้งสองกำลังแสวงหาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต” ” เขากล่าว

ประชากรอิรักส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ซึ่งความสัมพันธ์วางอยู่บนรอยเลื่อนระหว่างประเทศอิหร่านซึ่งเป็นชีอะห์และระบอบกษัตริย์ของประเทศอ่าวอาหรับซึ่งเป็นซุนนีซึ่งรวมถึงซาอุดิอาระเบีย ในปี 2016 อิรักเสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างสองประเทศ

ในเดือนมกราคมปี 2016 ซาอุดิอาระเบียได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน หลังผู้ประท้วงโจมตีสถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะราน

ผู้ประท้วงโกรธที่ซาอุฯสั่งประหารชีวิต เชคนิมร์ อัลนิมร์ นักการศาสนาระดับสูงชีอะห์ชาวซาอุฯ ซึ่งถูกตัดสินโทษพร้อมกับอีก 46 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นซุนนีในข้อหาก่อการร้าย

ก่อนถึงจุดนั้น สองประเทศที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคได้เริ่มทำสงครามน้ำลายหลังการเสียชีวิตของผู้แสวงบุญชาวอิหร่านนอกเมืองเมกกะห์ในพิธีฮัจย์ ปี 2015

อิหร่านกล่าวว่า ชาวอิหร่านอย่างน้อย 460 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ซาอุดีอาระเบียรายงานอย่างเป็นทางการว่าชาวอิหร่านเสียชีวิตเพียง 131 คน

ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านได้กล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังตัวแทนในสงครามทั้งที่เยเมนและซีเรีย

เมื่อวันอาทิตย์ (13 ส.ค.) สำนักข่าวอิสนาของอิหร่านรายงานโดยอ้างคำพูดของอัลอีราจี ที่กล่าวว่า กษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิซ แห่งซาอุฯ ก็เคยได้ร้องขอเรื่องเดียวกันนี้จากตน

รายงานระบุ อัลอีราจีได้บอกกับกษัตริย์ซัลมานว่า ริยาด “ควรแสดงพฤติกรรมที่ดีที่สุดต่อผู้แสวงบุญชาวอิหร่าน” โดยอนุญาตให้พวกเขาได้ไปเยี่ยมสุสานยันนาตุลบากิอ์ (Janna al-Baqi) ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับชาวมุสลิมชีอะห์ที่ตั้งอยู่ในเมืองมาดินะห์

“ฝ่ายซาอุดิอาระเบียได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และประตูสู่สุสานได้เปิดให้ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านแล้ว “อัลอีราจีกล่าว ตามรายงานฉบับแปลภาษาอังกฤษของเว็บไซต์สำนักข่าวอิสนา (ISNA)

ในรายงานฉบับเดียวกัน “อับดุลเรซา ระห์มานี ฟาสลี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิหร่านกล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเคารพและรักษาศักดิ์ศรีของผู้แสวงบุญชาวฮัจญ์อิหร่าน เขากล่าวด้วยว่า อิหร่านได้ “แสวงหาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศซาอุดิอาระเบียเสมอมา”

“นโยบายของอิหร่านคือการร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และเตหะรานไม่เคยเป็นคนแรกที่ตัดความสัมพันธ์กับผู้อื่น” เขากล่าว