“ข้าฯ เดินผ่านกำแพงเหล่านี้ กำแพงแห่งไลลา
จุมพิตกำแพงนี้และกำแพงนั้น
มิใช่ความรักต่ออาคารหรอกที่ฉกฉวยหัวใจข้าฯ
ทว่าต่อผู้หนึ่งที่พำนักอยู่ในอาคารต่างหาก”
-เกซ อิบนิ มูเลาวะห์ (มัจนูน)-
‘I pass by these walls, the walls of Layla
And kiss this wall and that wall.
It’s not love of the houses that has taken my heart
but of the One who dwells in those houses.’
ข้อความข้างต้นเป็นบทกวีของ “มัจนูน” ที่พรรณาถึง “ไลลา” ก่อนที่เขาจะดำดิ่งสู่ “ความวิกลจริต”
“ไลลากับมัจนูน” (Layla and Majnun) เป็นวรรณกรรมรักคลาสสิกของโลกมุสลิม ระหว่าง “เกซ” ที่ตกหลุมรัก “ไลลา” หญิงสาวในเผ่าเดียวกัน เขาเขียนบทกวีรักมากมายเกี่ยวกับเธอ จนถูกเรียกว่า “มัจนูน” (Majnun) มาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า “คนบ้า เสียสติ วิกลจริต”
วรรณกรรมอาหรับคลาสิกซึ่งมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงในศตวรรษที่ 7 นี้ถูกเล่าต่อกันมาในหลายหลายเวอร์ชั่น มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป
5 ศตวรรษต่อมา “เนซามี กานจาวี” (Nizami Ganjavi) กวีเปอร์เซียมุสลิมซุนนี จากเมืองกานจา (Ganja) แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย (ปัจจุบันเมืองกานจาอยู่ในอาเซอร์ไบจาน) ได้รวบรวมข้อมูลของ “ไลลากับมัจนูน” จากเวอร์ชั่นต่างๆ มาเขียนเล่าเรื่องใหม่ในรูปกวีนิพนธ์ตามแบบฉบับของตนซึ่งถูกถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขา และได้ทำวรรณกรรมเรื่องนี้กลายเป็นที่นิยมและแพร่หลาย งานเขียนของเขาถูกถือเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของวรรณกรรมเรื่องนี้ กระทั่งถูกแปล ถูกถอดความออกไปเป็นภาษาต่างๆ มากมายหลายฉบับ
รหัสยะแห่ง “ซูฟี”
“ไลลากับมัจนูน” ในงานเขียนของ “เนซามี กานจาวี” ถูกตีความจากนักวิจารณ์จำนวนมากว่าเป็นรหัสยะและเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบของ “ซูฟีย์” (แนวทางรหัสยนิยมในอิสลาม) โดยคนรักพยายามที่จะหลอมรวมขั้นสูงสุดเพื่อเป็นหนึ่งพร้อมกับสลายตัวตนเข้ากับผู้เป็นที่รัก (หมายถึงพระเจ้าหรือความจริง) ชีวิตที่โหดร้ายของมัจนูนนในทะเลทรายนั้น ถูกเปรียบกับชีวิตของชาวซูฟีย์ในอิสลามที่ปฏิเสธความสุขในโลกนี้และสละทิ้งทางโลก
บนพื้นฐานนี้ แท้จริงการอุทิศตนอย่างเหลือล้นต่อไลลา จึงแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของมัจนูนและความภักดีอย่างแน่วแน่ต่อความรักในอุดมคติ -ก็คือพระเจ้า- ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมทั้งที่เขามีความโหยหาไม่หยุดหย่อนต่อไลลาผู้เป็นที่รัก แต่เขาก็ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางกายภาพกับเธอได้ มันคือภาพในอุดมคติของผู้เป็นที่รัก -ในตัวละครไลลา- ซึ่งทำให้มัจนูนหลงไหล
และเมื่อไลลาป่วยหนักและล่วงลับไป มัจนูนก็เช่นกัน เขาสูญเสียจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวของเขาในชีวิต ซึ่งหมายถึงการรับรู้ถึงความรักที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อเขาได้รู้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนรัก เขาไปหายังหลุมฝังศพของเธอในทันที ร้องไห้และครวญคราง เขากดตัวเองกับหลุมฝังศพของเธอ และหายใจครั้งสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต ในที่สุดคนรักได้หลอมรวมกัน แต่ในความตายเท่านั้น
“เกซ” และ “ไลลา” เริ่มต้นด้วยความไร้เดียงสาของคู่รักวัยเยาว์ เพียงแต่มันเร็วเกินไปที่พวกเขาถูกแยกจากกัน ความเจ็บปวดจากการพลัดพรากได้เปลี่ยนเกซให้เป็น “มัจนูน” เปรียบดั่งความความเจ็บปวดของการพลัดพรากจากพระเจ้า
คนรักที่พลัดพรากจากสุดที่รัก เป็นรากฐานของวิถีรหัสยนิยม ไลลากับมัจนูนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกวีชาวซูฟีย์ เสมือนพระกฤษณะเป็นสัญลักษณ์ของกวีอินเดีย เนื้อแท้ของเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบก็คือ การสอนเรื่องความภักดี และประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณในการค้นหาพระเจ้า
เรื่องย่อ “ไลลากับมัจนูน” (Layla and Majnun)
“เกซ บุตร อัล-มูเลาวะห์” ยังเป็นเพียงเด็กชายแรกรุ่นเมื่อเขาตกหลุมรักอย่างลึกซึ้งต่อ “ไลลา บุตรีซะอัด” เพื่อนร่วมชั้นเรียน เขาแน่ใจในความรักครั้งนี้นับแต่วันแรกที่สายตาของเขาได้ทอดมองไปยังไลลาที่มักตับ (maktab : โรงเรียนแบบดั้งเดิม) ทั้งสองเป็นเผ่า “อัล-อามิรียะห์” เบดูอินแห่งดินแดนอาราเบีย เป็นลูกพี่ลูกน้อง และเติบโตเป็นเพื่อนเล่นมาด้วยกันมาแต่เด็ก
ขณะที่ทั้งสองเติบโตขึ้น ความรักที่ลึกซึ้งเข้มข้นก็เพิ่มตาม ในไม่ช้าเกซก็เริ่มเขียนบทกวีรักที่งดงามเพื่อพรรณาถึงไลลา และอ่านบทกวีเหล่านั้นออกมาดังๆ ที่มุมถนนแก่ทุกคนที่สนใจรับฟัง การแสดงออกอย่างไม่หยุดหย่อนต่อความรัก ความงามของไลลา และความทุ่มเทดังกล่าวทำให้หลายคนกล่าวถึงเด็กหนุ่มคนนี้ว่า “มัจนูน” (Majnun) หมายถึงคนบ้า เสียสติ
อยู่มาวันหนึ่ง มัจนูนก็มีความกล้าหาญพอที่จะไปหาพ่อของไลลาเพื่อสู่ขอลูกสาวแต่งงาน แต่พ่อของนางได้ปฏิเสธ เขากังวลว่าการยกลูกสาวให้แต่งงานกับมัจนูนจะสร้างความอับอายและเสื่อมเสียเกียรติ ลูกสาวของเขาไม่สมควรแต่งงานกับคนที่ใครๆ เรียกว่า “คนวิกลจริต” ที่สุดไลลาก็ถูกยกให้แต่งงานกับชายคนหนึ่งจากหมู่บ้านใกล้เคียง
มัจนูนตกอยู่ในความรันทดรวดร้าว เขาละทิ้งบ้านและครอบครัว เร้นกายสู่ทะเลทรายทุรกันดารใช้ชีวิตที่ทนทุกข์ด้วยความสันโดษท่ามกลางสัตว์ป่า ในถิ่นทุรกันดารนี้มัจนูนใช้เวลาเขียนบทกวีให้กับคนรักของตน
ไลลาถูกบังคับให้แต่งงานกับชายคนอื่นถึงแม้เธอจะไม่รักเขาก็ตาม เพราะหัวใจของเธอยังเป็นของมัจนูน กระนั้น แม้ไลลาจะไม่ได้รักสามีของเธอ แต่เธอก็เป็นลูกสาวที่กตัญญูและยังคงเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์
ข่าวการแต่งงานครั้งนี้ยิ่งสร้างความรัดทดต่อมัจนูนที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เขาปฏิเสธที่จะกลับบ้านไปหาแม่และพ่อในเมือง
แม่และพ่อของมัจนูนคิดถึงลูกชายของพวกเขาอย่างมากและปรารถนาทุกวันที่จะให้เขากลับมาอย่างปลอดภัย พวกเขาจะนำอาหารมาวางไว้ท้ายสวนด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลับจากทะเลทรายมาหาพวกเขา แต่มัจนูนก็ยังคงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขียนบทกวีของเขาท่ามกลางความเหงา ไม่เอื้อนเอ่ยวาจากับผู้ใด
มัจนูนใช้เวลาทั้งหมดของตนอยู่อย่างเดียวดาย มีเพียงสัตว์ป่าในถิ่นทุรกันดารเท่านั้นที่รายล้อมและปกป้องเขาในช่วงค่ำคืนที่ยาวนานของทะเลทราย เขามักถูกพบเห็นโดยนักเดินทางที่เดินทางผ่านเพื่อเข้าไปยังตัวเมือง นักเดินทางกล่าวว่า มัจนูนใช้เวลาในการอ่านบทกวีของตัวเองและเขียนลงบนทรายด้วยไม้ยาว พวกเขาบอกว่า มัจนูนถูกผลักไปสู่ความเสียสติเพราะใจที่แตกสลาย
หลายปีต่อมา พ่อและแม่ทั้งสองของมัจนูนได้เสียชีวิต เพราะทราบดีถึงความรักของมัจนูนที่มีต่อบุพการี ไลลาจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะส่งข่าวคราวนี้ไปยังมัจนูน ในที่สุดเธอก็พบชายชราคนหนึ่งที่อ้างว่าเคยพบเห็นมัจนูนในทะเลทราย หลังจากถูกขอร้องและวิงวอนอย่างหนักชายชราคนนี้ก็ตกลงที่จะส่งข่าวไปยังมัจนูนในการเดินทางครั้งถัดไปของเขา
ด้วยความเสียใจและสูญเสีย มัจนูนหลบเข้าสู่โลกของตนเองอย่างบริบูรณ์ และสาบานที่จะอยู่ในทะเลทรายตลอดไปจนกว่าตนเองจะเสียชีวิต
หลายปีต่อมาสามีของไลลาเสียชีวิต หญิงสาวคนนี้หวังว่าในที่สุดเธอก็จะได้อยู่กับความรักที่แท้จริงของตน นั่นคือเธอและมัจนูนจะอยู่ด้วยกันตลอดไป
แต่ช่างน่าเศร้า! เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น
ตามขนบประเพณีไลลาต้องอยู่ในบ้านของเธอคนเดียวเพื่อไว้อาลัยต่อสามีที่ตายแล้วของเธอเป็นเวลาสองปีโดยไม่พบกับผู้ใด ความคิดที่ว่า อีกเป็นเวลาถึงสองปีที่เธอจะไม่ได้อยู่กับมัจนูนนั้นมันเกินไปกว่าที่ไลลาจะสามารถแบกรับได้อีกแล้ว พวกเขาถูกแยกจากกันมาตลอดชีวิตและต้องถูกแยกให้อยู่อ้างว้างต่อไปอีกสองปี เป็นอีกสองปีข้างหน้าที่เธอจะไม่ได้พบผู้เป็นที่รัก ก็เพียงพอที่จะทำให้หญิงสาวยอมพ่ายต่อชะตาชีวิต ไลลาเสียชีวิตด้วยหัวใจที่แตกสลายคนเดียวในบ้านของเธอ โดยที่ไม่เคยได้พบกับมัจนูนอีกครั้ง
ข่าวการตายของไลลาไปถึงมัจนูนในถิ่นทุรกันดาร เขารีบเร่งเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งไลลาถูกฝังอยู่ และที่นั่นเขาร้องไห้และร้องไห้ จนกระทั่งเขายอมจำนนต่อความรวดร้าวที่แสนสาหัสและเสียชีวิตบนหลุมฝังศพของรักแท้หนึ่งเดียวของตน
อ้างอิง :
– https://en.wikipedia.org/wiki/Layla_and_Majnun
– https://ums.org/2016/09/23/the-story-of-layla-and-majnun-the-idealization-of-love/
– http://www.theosophy-nw.org/theosnw/world/mideast/mi-jcok.htm
– https://www.goldensufi.org/a_Layla_and_Majnun.html
– http://worldstories.org.uk/stories/the-story-of-layla-and-majnun/?lang=english