กลายป็นเรื่องตลกในหมู่สื่อมวลชนมุสลิม กรณีจุฬาราชมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 ด้านสื่อสารมวลชน” ด้วยปรากฏว่าในรายชื่อดังกล่าว มีนักข่าวไร้สังกัดที่ถูกระบุว่าผู้แทนสื่อสิ่งพิมพ์ และเจ้าของบริษัทออกาไนซ์ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้แทนสื่อออนไลน์
คำสั่งจุฬาราชมนตรี ที่ 12/2560 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 โดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 ด้านสื่อสารมวลชน”
ตามคำสั่งนี้จุฬาราชมนตรีได้แต่งตั้งให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่างๆ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านสื่อมวลชน และจัดทำแผนงานของโครงการต่างๆ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่จุฬาราชมนตรีมอบหมาย
คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีนายจักรกฤษ เพิ่มพูน อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะกรรมการฯ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผอ.สำนักจุฬาฯ เป็นรองประธาน นายสมาน งามโขนง เป็นโฆษก และกรรมการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนสื่อมุสลิมจากแขนงต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในรายชื่อที่ถูกแต่งตั้งนั้น มีบางคนที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนตัวจริง อาทิ นายปรัชญา ฉิมวิเศษ ที่ถูกระบุว่า เป็นตัวแทนสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ก็ไม่ได้สังกัดสื่อสิ่งพิมพ์ใดของมุสลิมที่ตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ นายอารซู มาทวี ที่ถูกระบุว่า เป็นตัวแทนสื่อออนไลน์ ก็เป็นเพียงเจ้าของบริษัทออแกไนเซอร์เท่านั้น
ในปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์มุสลิมหรือสื่อซึ่งเน้นนำเสนอข่าวในแวดวงมุสลิมที่ยังคงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมีอยู่เพียงแค่ 5 ฉบับ ได้แก่ นิสา เดอะพับลิกโพสต์ เอ็มทูเดย์ มุสลิมไทยโพสต์ และดิอาลามี่ ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นๆ บางส่วนกลายเป็นฉบับเฉพาะกิจหรือตีพิมพ์รายสะดวก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็หยุดตีพิมพ์เหลือเพียงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เท่านั้น
ทั้งนี้ในบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์มุสลิมทั้ง 5 ฉบับที่ยังคงตีพิมพ์อยู่นั้น นิตยสารนิสาตีพิมพ์มานานสุด 18 ปี เดอะพับลิกโพสต์ 12 ปี เอ็มทูเดย์ 6 ปี มุสลิมไทยโพสต์ 5 ปี และดิอาลามี่ 5 ปี
อนึ่ง คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๙/๒๕๕๙ เป็นเรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย (คลิ๊กอ่าน…)
คำสั่งจุฬาราชมนตรีหน้าแรกและหน้าที่สอง