ทหารพม่าสุดโหด! “ตัดหัว-เผาทั้งเป็น” เด็กและพลเรือนโรฮิงญา

อินดีเพนเดนท์ – เด็กๆ ชาวโรงฮิงญาถูกตัดศีรษะและพลเรือนถูกเผาทั้งเป็น ตามคำเบิกความของพยาน ที่ระบุว่า กองกำลังทหารพม่ากำลัง “ฆ่าล้างเผาพันธ์ุ” หรือ “สังหารหมู่” ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า

เชื่อว่า มีผู้ลี้ภัยประมาณ 60,000 คน ที่หลบหนีออกทางชายแดนตะวันตกของประเทศเข้าไปยังบังคลาเทศภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญากับทหารพม่า

นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี ทำอะไรสักอย่าง

ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวหากองกำลังทหารพม่าว่ากำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และว่า คนที่เมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าเท่ากับว่ากำลังสมรู้ร่วมคิด

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทหารพม่ากล่าวว่า กลุ่มก่อการร้าย 400 คนได้ถูกสังหารในการปะทะกับกองกำลังของรัฐบาล

พลเรือนที่หลบหนีออกมาได้บอกเล่าเรื่องราวที่โหดร้ายเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงและทำลายล้างโดยทหารพม่าและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ

ชายคนหนึ่งชื่อ อับดุรเราะห์มาน อายุ 41 ปี กล่าวว่า เขารอดชีวิตออกมาได้จากหมู่บ้าน ชุต เพน (Chut Pyin) ซึ่งถูกทหารพม่าโจมตีนานถึง 5 ชั่วโมง

เขาบอกกับองค์กรสิทธิมนุษยชน Fortifiy Rights ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ว่า ผู้ชายชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งถูกจับขังไว้ในกระท่อมไม้ไผ่แล้วก็ถูกจุดไฟเผา

“พี่ชายของผมถูก (ทหารพม่า) สังหาร โดยเผาเขาพร้อมกับคนกลุ่มนี้” เขากล่าว

“เราพบ (สมาชิกคนอื่นในครอบครัวของผม) ในทุ่งนา บนร่างของพวกเขามีรอยกระสุนและบางส่วนถูกแล่”

“หลานชายสองคนของผม ศีรษะของพวกเขาถูกตัด คนหนึ่งมีอายุหกขวบและอีกคนเก้าปี น้องสาวของผมถูกยิงด้วยปืน”

ขณะที่ชายอีกคนจากหมู่บ้านเดียวกัน ชื่อสุลต่าน อะหมัด อายุ 27 ปี  กล่าวกับองค์กรการกุศลว่า “ประชาชนบางคนถูกตัดศีรษะและหลายคนถูกแล่ เราซ่อนตัวอยู่ในบ้านตอนที่ (คนติดอาวุธจากหมู่บ้านใกล้เคียง) กำลังตัดหัวผู้คน”

“เมื่อเราเห็นแบบนั้น เราจึงวิ่งออกทางหลังบ้านทันที”

ผู้รอดชีวิตจากหมู่บ้านอื่นๆ ในแถบนั้นยังได้เล่าว่า พวกเขาเห็นว่าผู้คนถูกตัดศีรษะหรือถูกตัดคอ

“เจ้าหน้าที่พม่าไม่สามารถปกป้องพลเรือนและช่วยชีวิตได้ การกดดันจากนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” แมทธิว สมิธ หัวหน้าองค์กร Fortifiy Rights กล่าว

ภาพจากดาวเทียมที่เผยแพร่โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เผยให้เห็นว่า สิ่งปลูกสร้าง 700 หลังในหมู่บ้านเชนกาลี (Chein Khar Li) ของชาวโรฮิงญาถูกเผาเป็นจุณ

“ภาพใหม่จากดาวเทียมนี้เผยให้เห็นการทำลายหมู่บ้านชาวมุสลิมทั้งหมด และทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากว่าระดับความหายนะในรัฐทางตอนเหนือของรัฐยะไข่อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยคิดกันไว้” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ HRW กล่าว

“กระนั้น นี่เป็นเพียงหนึ่งใน 17 แห่งที่เราพบว่าเป็นพื้นที่ซึ่งถูกเผา จำเป็นต้องมีผู้สังเกตการณ์อิสระลงไปในพื้นเพื่อค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน”

ทั้งนี้รัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ให้ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์เข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันเสาร์ (2 ก.ย.) นายจอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ขอร้องให้นายออง ซาน ซูจีอดีตผู้ต่อต้านการปกครองโดยรัฐบาลทหารพม่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าเข้าแทรกแซงต่อกรณีนี้

“นางออง ซาน ซูจี ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในยุคของเรา แต่การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาก็นับเป็นการทำลายเกียรติภูมิของประเทศพม่า เธอเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการทำให้ประเทศของเธอถูกต้องตามสมัย” เขากล่าว

“ผมหวังว่าเธอจะสามารถใช้คุณสมบัติอันน่าทึ่งของเธอในการสร้างเอกภาพในประเทศเพื่อระงับความรุนแรงและยุติความอยุติธรรมที่กระทำต่อทั้งชาวมุสลิมและชุมชนอื่นๆ ในรัฐยะไข่”

“มันสำคัญมากที่เธอได้รับการสนับสนุนจากทหารพม่า และความพยายามของเธอในการประนีประนอมจะไม่ถูกทำให้ผิดหวัง เธอและทุกคนในพม่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้”

ที่ผ่านมานางซูจีนิ่งเงียบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศของเธอ และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสังเกตการณ์

กองทัพพม่าและกลุ่มทหารได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างในรัฐยะไข่เมื่อกลุ่มติดอาวุธของโรฮิงญาในนาม กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือ อาร์ซา (Arakan Rohingya Salvation Army – Arsa) ได้โจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัยในเมืองยะไข่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม

มีชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณหนึ่งล้านคนในประเทศพม่า แต่พวกเขาต้องเผชิญกับการกระทำทารุณจากรัฐบาลมานานหลายต่อหลายปีซึ่งไม่ยอมรับพวกเขาในฐานะพลเมืองของพม่า พวกเขายังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางจากประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธและมักเรียกพวกเขาว่า ชาวเบงกาลี (Bengalis) ซึ่งเป็นการท้าวความถึงตำนานที่ว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายเข้ามาอาศัยอยู่ในพม่า