โรฮิงญาคือใคร? พวกเขามาจากไหน? ทำไมชาวโรฮิงญามากกว่าหนึ่งล้านคนในพม่าถูกถือว่าเป็น ‘ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงที่สุดในโลก’? ไฉนโรฮิงญาจึงเป็นกลุ่มชนไร้แผ่นดิน ไร้สัญชาติ และถูกกระทำถูกจงเกลียดจงชังจากชาวพม่าดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน?
โรฮิงญาคือใคร?
ชาวโรฮิงญามักถูกเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงที่สุดในโลก”
พวกเขาเป็นกลุ่มมุสลิมชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยมานานหลายศตวรรษในพม่าซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพูทธศาสนิก ปัจจุบันมีมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 1.1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวโรฮิงญาพูดภาษาโรฮิงญา (Rohingya) หรือโรฮินจา (Ruaingga) ซึ่งเป็นภาษาที่แตกต่างกับชนอื่นๆ ที่พูดกันในรัฐยะไข่และทั่วพม่า พวกเขาไม่ถูกนับว่าเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นทางการของประเทศพม่า และถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองของพม่าตั้งแต่ปี 1982 (พศ.2525) อันทำให้พวกเขาเป็นผู้ไร้สัญชาติ
ชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดในพม่าอาศัยอยู่ใน “ยะไข่” รัฐชายฝั่งทางตะวันตก และถูกห้ามไม่ให้ออกไปไหนหากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล พื้นที่นี้เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่าที่มีค่ายลี้ภัยแออัด ขาดบริการสาธารณะและโอกาสขั้นพื้นฐาน
เนื่องด้วยความรุนแรงและการประหัตประหารอย่างไม่หยุดยั้งทำให้หชาวโรฮิงญานับแสนคนได้หนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกหรือทางเรือในช่วงหลายสิบปีมานี้
โรฮิงญามาจากไหน?
นักประวัติศาสตร์หลายคนและกลุ่มชาวโรฮิงญากล่าวว่า ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันถูกรู้จักในนาม “พม่า” มานับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา
องค์การประชาชาติโรฮิงญาอาระกัน (The Arakan Rohingya National Organisation) กล่าวว่า “ชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในอาระกันมาเป็นเวลานานแล้ว” อาระกันหมายถึงพื้นที่ที่เรียกว่ารัฐยะไข่ในปัจจุบัน
ในช่วงกว่า 100 ปีของการปกครองของอังกฤษ (ค.ศ.1824-1948) มีการโยกย้ายแรงงานจำนวนมากจากอินเดียและบังคลาเทศไปยังดินแดนที่เรียกว่าพม่าในปัจจุบัน เนื่องจากอังกฤษปกครองพม่าเสมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินเดีย การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกิจการภายใน ตามที่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ระบุ
การย้ายถิ่นของแรงงานถูกมองเชิงลบจากประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดั้งเดิม
หลังพม่าได้รับอิสรภาพ รัฐบาลมองว่าการอพยพที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองของอังกฤษเป็นเรื่องที่ “ผิดกฎหมาย และบนพื้นฐานนี้พวกเขาปฏิเสธการเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่” ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานปี 2000 (พ.ศ.2543)
เรื่องนี้ทำให้ชาวพุทธจำนวนมากถือว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชาวเบงกาลี ปฏิเสธคำว่า “โรฮิงญา” ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง
พวกเขาถูกข่มเหงอย่างไร? และทำไมพวกเขาถึงไม่ถูกยอมรับ?
ไม่นานหลังจากที่พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1948 (พ.ศ.2491) ได้มีการออกกฎหมายสหภาพพลเมือง (Union Citizenship Act) โดยกำหนดว่าเชื้อชาติใดจะได้รับสัญชาติ ตามรายงานปี 2015 จากคลินิกกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Human Rights Clinic) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลล์ ระบุว่า โรฮิงญาไม่ได้รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้อนุญาตให้ครอบครัวใดที่พำนักอยู่ในพม่ามาเป็นเวลาอย่างน้อยสองชั่วอายุคนสามารถยื่นขอบัตรประจำตัวได้
ชาวโรฮิงญาได้รับบัตรประจำตัวในขั้นต้นหรือแม้กระทั่งสัญชาติภายใต้บทบัญญัตินี้ ในช่วงเวลานี้โรฮิงญาหลายคนยังทำหน้าที่ในรัฐสภา
หลังจากการรัฐประหารในพม่าปี 1962 (พ.ศ.2505) สิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากสำหรับชาวโรฮิงญา ประชาชนทุกคนต้องได้รับบัตรประจำตัวประชาชน ทว่าชาวโรฮิงญาได้รับเพียงบัตรประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งจำกัดงานและโอกาสทางการศึกษาที่พวกเขาควรเข้าถึงและได้รับ
ในปี 1982 (พ.ศ.2525) มีการผ่านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ อันส่งผลให้ชาวโรฮิงญาตกอยู่ในสถานะผู้ไร้สัญชาติ ภายใต้กฎหมายนี้ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศ กฎหมายกำหนด 3 ระดับของการเป็นพลเมือง เพื่อให้ได้ระดับขั้นพื้นฐานที่สุด (เป็นพลเมืองมีสัญชาติ) พวกเขาต้องมีหลักฐานว่าเป็นคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพม่าก่อนปี 1948 (พ.ศ.2491) รวมทั้งต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในภาษาประจำชาติได้อย่างคล่อง ชาวโรฮิงญาจำนวนมากขาดเอกสารดังกล่าวเนื่องจากไม่มีหรือถูกปฏิเสธที่จะออกให้
ผลมาจากกฎหมายนี้ สิทธิของพวกเขาในการศึกษา ทำงาน ท่องเที่ยว แต่งงาน ปฏิบัติตามศาสนาของตน และการเข้าถึงบริการสุขภาพจึงถูกจำกัดตราบจนวันนี้ ชาวโรฮิงญาไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และแม้ว่าพวกเขาจะข้ามผ่านบ่วงบาศก์นี้จนได้สัญชาติ พวกเขาก็ต้องถูกระบุว่าเป็นพลเมืองโดย “การแปลงสัญชาติ” (naturalized) และมีข้อจำกัดในการเข้าทำงานในสาขาวิชาชีพบางอย่าง เช่น ด้านการแพทย์ กฎหมาย หรือระดับบริหารในสำนักงาน
ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่หลายครั้งได้บีบบังคับให้ชาวโรฮิงญานับแสนคนต้องหลบหนีไปยังบังคลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งมาเลเซีย ไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ในระหว่างการปราบปรามดังกล่าวมีรายงานว่าผู้ลี้ภัยถูกข่มขืน ทรมาน ลอบวางเพลิง และฆาตกรรมโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่า
หลังจากการสังหารตำรวจชายแดน 9 นายในเดือนตุลาคม 2016 (พ.ศ.2559) กองทัพพม่าเริ่มรุกเข้าไปในหมู่บ้านในรัฐยะไข่ รัฐบาลกล่าวโทษในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา” การสังหารตำรวจนี้นำไปสู่การปราบปรามของกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าในหมู่บ้านที่อยู่อาศัยอยู่ของชาวโรฮิงญา ในระหว่างการปราบปรามกองกำลังรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การข่มขืน และการลอบวางเพลิง – ซึ่งรัฐบาลได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้
ในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 (พ.ศ.2559) เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติได้กล่าวหารัฐบาลพม่าว่า ได้ดำเนินการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธ์” ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการกล่าวโทษดังกล่าว
ในเดือนเมษายนปี 2013 (พ.ศ.2556) ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า พม่ากำลังดำเนินการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธ์” ต่อชาวโรฮิงญา รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นนี้อย่างมาโดยตลอด
ล่าสุดกองทัพพม่าได้สั่งปราบปรามชาวโรฮิงญาในประเทศหลังจากป้อมตำรวจและค่ายทหารถูกโจมตีในปลายเดือนสิงหาคม
ชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวได้บรรยายเรื่องราวของกองกำลังทหารพม่าที่เปิดฉากยิงกราดใส่ ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ชาวโรฮิงญาที่ปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่ากล่าวว่า เกือบ 100 คนที่ถูกฆ่าตายนั้นเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มติดอาวุธในนาม “กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน” หรือ “อาร์ซา” (Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) ได้ออกโจมตีฐานตำรวจในพื้นที่นี้
นับตั้งแต่ความรุนแรงได้ปะทุขึ้น กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกเหตุไฟไหม้อย่างน้อย 10 แห่งในรัฐยะไข่ของพม่า ผู้คนกว่า 50,000 คนได้หลบหนีความรุนแรง โดยหลายพันคนติดอยู่ในดินแดนไร้ผู้ครอบครอง (no-man’s land) ระหว่างสองประเทศ พม่า-บังคลาเทศ
ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ พลเรือนหลายร้อยคนที่พยายามจะเข้าไปยังบังคลาเทศถูกผลักดันออกมาโดยหน่วยลาดตระเวน หลายคนยังถูกคุมขังและถูกบังคับให้กลับมายังพม่า
ชาวโรฮิงญาที่หนีออกจากพม่ามีจำนวนเท่าไหร? และพวกเขาไปที่ไหน?
นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ชาวมุสลิมชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนได้หนีออกจากพม่าเนื่องจากถูกกดขี่ทารุณอย่างหนักหน่วง
ตามข้อมูลที่มีอยู่ล่าสุดจากสหประชาชาติในเดือนพฤษภาคม ชาวโรฮิงญามากกว่า 168,000 คนได้หนีออกจากพม่ามาตั้งแต่ปี 2012 (พ.ศ.2555)
รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) ระบุว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อปีที่แล้วชาวโรฮิงญามากกว่า 87,000 คนได้หนีไปยังบังคลาเทศนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2016 (พ.ศ.2559) จนถึงกรกฎาคม 2107 (พ.ศ.2560)
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังเสี่ยงชีวิตที่จะเดินทางไปมาเลเซียด้วยเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน ระหว่างปี 2012 (พ.ศ. 2555) จนถึง 2015 (พ.ศ.2558) ชาวโรฮิงญามากกว่า 112,000 ที่เดินทางด้วยวิธีการอันตรายแบบนี้
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวน 420,000 คนอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นอยู่ในประเทศอีกจำนวนกว่า 120,000 คน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวองค์การสหประชาชาติว่า การใช้ความรุนแรงในพม่าที่เริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมได้บังคับให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 58,000 คนหนีข้ามพรมแดนไปยังประเทศบังคลาเทศ ขณะที่อีก 10,000 คนกำลังตกอยู่ในดินแดนไร้ผู้ครอบครองระหว่างสองประเทศ
ออง ซาน ซูจี และรัฐบาลพม่ากล่าวอะไรเกี่ยวกับโรฮิงญา?
ที่ปรึกษาแห่งรัฐ “นางออง ซาน ซูจี” ผู้นำที่แท้จริงของพม่าได้ปฏิเสธที่จะหารือเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาอย่างจริงจัง
นางออง ซาน ซูจี และรัฐบาลของเธอไม่ยอมรับกลุ่มชาวโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า และกล่าวหาว่ามีการใช้ความรุนแรงในจังหวัดยะไข่ และจะยังคงปราบปรามทางทหารต่อไปในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย”
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไม่มีอำนาจควบคุมทางทหาร แต่ที่เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะความล้มเหลวของเธอในการประณามการใช้กำลังตามอำเภอใจโดยกองกำลังพม่า รวมทั้งยืนหยัดเพื่อสิทธิของโรฮิงญาในพม่าที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคน
รัฐบาลยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลัง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 (พ.ศ.2560) สหประชาชาติได้ตีพิมพ์รายงานที่พบว่ากองกำลังของรัฐบาล “มีแนวโน้มมาก” ในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาตินับตั้งแต่การปราบปรามทางทหารใหม่ๆ ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2016 (พ.ศ.2559)
ในขณะนั้นรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงโดยตรงต่อผลการค้นพบของรายงาน และกล่าวว่าตน “มีสิทธิที่จะปกป้องประเทศโดยชอบด้วยกฎหมาย” ต่อ “การเพิ่มขึ้นของการก่อการร้าย” รวมทั้งระบุว่าการสอบสวนภายในประเทศก็เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน นางออง ซาน ซูจี กล่าวในการสัมภาษณ์กับบีบีซีว่า คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เป็นคำที่ “แรงเกินไป” ในการอธิบายสถานการณ์ในยะไข่
“ฉันไม่คิดว่ามีการล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นที่นั่น” เธอกล่าว “ฉันคิดว่าการล้างเผ่าพันธุ์ แรงเกินไปที่จะใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ในเดือนกันยายนปี 2016 (พ.ศ. 2559) ซูจีได้มอบหมายให้ “นายโคฟี อันนัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติในการหาแนวทางเยียวยาความร้าวฉานอันยาวนานที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ ในขณะที่หลายคนยินดีกับคณะกรรมการและผลการวิจัยสืบค้นซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทว่า “อาซีม อิบรอฮีม” (Azeem Ibrahim) ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของศูนย์นโยบายโลก (Center for Global Policy) แย้งว่า นี่เป็นเพียงหนทางหนึ่งของนางซูจี ในการ “สยบคำวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนทั่วโลกให้สงบลง และพยายามที่จะแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าเธอกำลังทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหานี้”
โคฟี อันนัน ไม่ได้รับมอบอำนาจให้สืบสวนกรณีที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และการดูแลสุขภาพในระยะยาว
เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ รัฐบาลของนางอองซานซูจีกล่าวว่า จะปฏิบัติตามข้อวินิจฉัยของกรรมการดังกล่าว คณะกรรมการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามการค้าประเวณีอย่างเข้มงวดในละแวกที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ ตลอดจนเรื่องข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย และการเป็นพลเมือง
หลังจากได้รับรายงานซึ่งเผยแพร่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการและกล่าวว่า รายงานจะ “ถูกพิจารณาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ … โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่”
รัฐบาลพม่ามักจำกัดนักข่าวและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ในการเข้าถึงรัฐยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคหนือ สำนักงานของนางออง ซาน ซูจี ยังกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้การช่วยเหลือผู้ที่รัฐบาลพม่าถือว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
ในเดือนมกราคม นายยางฮี ลี (Yanghee Lee) ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่ากล่าวว่า เธอถูกปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่บางส่วนของยะไข่ และได้รับอนุญาตให้พูดกับชาวโรฮิงญาเฉพาะผู้ซึ่งผ่านการคัดกรองมาจากรัฐบาลแล้วเท่านั้น
ประเทศนี้ได้ปฏิเสธการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าสอบสวนของสหประชาชาติที่จะมาตรวจสอบการใช้ความรุนแรงและการทารุณกรรมในรัฐยะไข่
บังกลาเทศว่าอย่างไรเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา?
มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบครึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่ในค่ายลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายชั่วคราวในบังคลาเทศ พวกเขาส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้ลงทะเบียนผู้ลี้ภัย
บังกลาเทศถือว่าส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ที่ได้ข้ามพรมแดนและอาศัยอยู่นอกค่ายเป็นผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย บังคลาเทศได้พยายามที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาข้ามพรมแดนเข้ามา
ปลายเดือนมกราคม ประเทศนี้ได้รื้อฟื้นแผนที่จะย้ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยานับพันคนจากพม่าไปยังเกาะที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเกาะดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วม โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นสถานที่ซึ่ง “ไม่สามารถอยู่อาศัยได้” ภายใต้แผนซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2105 (พ.ศ. 2558) เจ้าหน้าที่บังกลาเทศจะย้ายคนพม่าที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าเมืองหรือไม่มีเอกสารไปยังเกาะเทนการ์ ชาร์ (Thengar Char) ในอ่าวเบงกอล
กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ประณามแผนดังกล่าวโดยบอกว่า เกาะแห่งนี้มีน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จในช่วงฤดูมรสุม เช่นเดียวกับองค์กรสหประชาชาติที่เรียกแผนบังคับให้ย้ายถิ่นฐานนี้ว่า “ซับซ้อนและย้อนแย้งอย่างมาก”
ล่าสุด รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้เสนอให้มีการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันในรัฐยะไข่เพื่อช่วยเหลือพม่าในการสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ กระทรวงต่างประเทศยังแสดงความกังวลว่าความรุนแรงที่ปะทุรอบใหม่ว่าจะก่อให้เกิดการไหลบ่าของผู้อพยพข้ามพรมแดนระลอกใหม่
ประชาคมระหว่างประเทศว่าอย่างไรเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา?
ประชาคมระหว่างประเทศถือว่าชาวโรฮิงญาเป็น “ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก”
องค์การสหประชาชาติรวมทั้งกลุ่มสิทธิต่างๆ เช่น แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ตำหนิพม่าและประเทศเพื่อนบ้านในการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญามาอย่างต่อเนื่อง
สหประชาชาติได้กล่าวว่า “เป็นไปได้มาก” ว่าทหารเหล่านี้ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในกรุงยะไข่ที่อาจนับได้ว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” อันเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธ
ในเดือนมีนาคม สหประชาชาติได้มีมติให้จัดตั้ง “คณะผู้แทนอิสระระหว่างประเทศ” เพื่อตรวจสอบการละเมิดที่พม่าถูกกล่าวหา ซึ่งนับเป็นชัยชนะทางการทูตของพม่า เพราะโดยการจัดตั้งคณะผู้แทนนี้เท่ากับได้ยุติการเรียกร้องให้มีการตั้ง “คณะกรรมการสอบสวน” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการสอบสวนของสหประชาชาติ และพม่าคัดค้านอย่างหนักกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนนี้
คณะผู้แทนค้นหาความจริงของสหประชาชาติต้องมีการอัพเดทสถานการณ์ด้วยวาจาภายในเดือนกันยายนและทำรายงานฉบับเต็มในปีหน้าเกี่ยวกับผลของการสืบค้นของพวกเขา
กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าว่าไม่เต็มใจที่จะตอบรับคณะผู้แทนค้นหาความจริงของสหประชาชาติ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ เตือนว่ารัฐบาลพม่าเสี่ยงต่อการถูกจัดอยู่ให้อยู่ในประเภท “รัฐที่ไม่ถูกยอมรับจากสังคมนานาชาติ” หรือ “รัฐนอกคอก” (pariah states) เช่น เกาหลีเหนือ และซีเรีย หากไม่อนุญาตให้สหประชาชาติสอบสวนการก่ออาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา
ล่าสุด “นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เขา “กังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐยะไข่
“เหตุการณ์รอบนี้น่าสังเวช” หัวหน้ากลุ่มสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ “เซด ราอัด อัลฮุสเซน” (Zeid Ra’ad al Hussein) กล่าวและว่า “มันเป็นเรื่องที่ถูกคาดการณ์ไว้แล้วและควรได้รับการป้องกัน” ฮุสเซนกล่าวเพิ่มเติมว่า “หลายทศวรรษของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รวมทั้งการตอบสนองด้วยมาตรการความมั่นคงอย่างรุนแรงต่อการโจมตีนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2016 ได้มีส่วนฟูมฟักลัทธิสุดโต่งนิยมความรุนแรง ที่สร้างความสูญเสียให้กับทุกคนในท้ายที่สุด”
เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติทั้งคู่กล่าวว่า พวกเขาสนับสนุนผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ปรึกษาที่นำโดยนายโคฟี อันนัน และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะดังกล่าว
กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน คือใคร?
“กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน” หรือ “อาร์ซา” (Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) เดิมถูกรู้จักในนาม “ขบวนการศรัทธามั่น” หรือ “หะรอกัต อัลยากีน” (Harakat al-Yaqeen) พวกเขาได้ออกแถลงการณ์ภายใต้ชื่อองค์กรใหม่ในเดือนมีนาคม 2017 (พ.ศ.2560) โดยระบุว่า มีความจำเป็นต้อง “ปกป้อง กอบกู้ และคุ้มครองชุมชนชาวโรฮิงญา”
ขบวนการนี้กล่าวว่า จะทำเช่นนั้น “อย่างสุดความสามารถของเรา เพราะเรามีสิทธิอย่างถูกต้องภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการปกป้องตัวเองตามหลักการป้องกันตัวเอง”
กลุ่มนี้ถูกถือว่าเป็นองค์กร “ก่อการร้าย” โดยรัฐบาลพม่า
ในแถลงการณ์เดือนมีนาคมของพวกเขา ขบวนการ “อาร์ซา” ระบุเพิ่มเติมว่า “พวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ทั่วโลก” และ “ไม่กระทำการก่อการร้ายใดๆ ต่อพลเรือนทั้งหมดไม่ว่าศาสนาและชาติพันธ์ุใด”
แถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่า “เรา [… ] ประกาศอย่างชัดเจนว่า การโจมตีฝ่ายตรงข้ามของเรานั้น เพียงมุ่งเป้าไปที่ระบอบการปกครองของพม่าผู้กดขี่ ตามหลักเกณฑ์และหลักการสากล จนกว่าคำเรียกร้องของเราจะบรรลุผลสำเร็จ”
กลุ่มนี้ได้อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีป้อมตำรวจและฐานทหารในรัฐยะไข่ ตามที่รัฐบาลบอกว่ามีผู้คนเกือบ 400 รายถูกฆ่าตาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของขบวนการ “อาร์ซา” อย่างไรก็ตามกลุ่มสิทธิมนุษยชนบอกว่าพลเรือนหลายร้อยคนถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงพม่า
กลุ่มสิทธิมนุษยชนฟอร์ตี้ฟาย (Fortify Rights) ระบุว่า มีหลักฐานว่านักรบของ“อาร์ซา” ถูกกล่าวหาว่าสังหารพลเรือนในช่วงหลายวันและหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการขัดขวางไม่ให้ผู้ชายและเด็กชายหนีออกจากเมืองมองดอว์ (Maungdaw) ในรัฐยะไข่” (ข้อกล่าวหานี้ยังคงถูกตั้งข้อสังเกตและสงสัยว่าอาจเป็นข้อมูลจากฝั่งรัฐบาล)
ตามข้อมูลของ อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group) นั้นระบุว่า ขบวนการ “อาร์ซา” มีความสัมพันธ์กับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอารเบีย
รัฐบาลพม่าได้จัดกลุ่มดังกล่าวให้เป็นองค์กร “ก่อการร้าย” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม
—
แปล/เรียบเรียง : โต๊ะข่าวต่างประเทศ เดอะพับลิกโพสต์
Source: Al Jazeera