สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งตุรกี เดินทางถึงบังกลาเทศ เพื่อเยี่ยมผู้อพยพโรฮิงญา

ภาพจากเฟสบุ๊คของรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของตุรกี “เอมีเน เออร์โดกัน” (Emine Erdogan) และรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี “นายเมฟลุต คาวูโซกลู” เดินทางถึงกรุงธากาเแล้ว เพื่อพบกับโรฮิงญาที่หนีไปบังคลาเทศหลังเผชิญการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ของพม่า เว็บไซต์ข่าวบังกลาเทศรายงาน

ทั้งสองเดินทางโดยเที่ยวบินพิเศษเหมาลำ โดยเครื่องลงจอดที่สนามบินนานาชาติชาห์จาลาลเมื่อเวลาประมาณตี 3 ของวันนี้ (7 พ.ย.)

นายโมฮัมหมัด ชาริอะห์ อะลัม (Md Shahriar Alam) รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศได้ไปรับคณะของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตุรกีที่สนามบิน

ภาพจากเฟสบุ๊คของรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ

การไปเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังมีการนองเลือดครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ของพม่าซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพเข้าสู่บังคลาเทศ

สหประชาชาติกล่าวว่าจำนวนผู้อพยพที่หนีเข้าไปยังบังกลาเทศใน 12 วันที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 146,000 คน

ในสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีตุรกี ตอยยิบ เออร์โดกัน ได้โทรศัพท์หา มูฮัมหมัด อับดุลฮามิด ประธานาธิบดีบังกลาเทศ และสนับสนุนมาตรการที่ดำเนินการโดยบังคลาเทศในเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญา

เขาแสดงความห่วงใยต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของพม่า

ก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรีตุรกี นายฮากาน คาวูโซกลู ได้ประกาศกำหนดการเยือนการเยือนบังคลาเทศของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง

ตามกำหนดการของรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ เขากับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตุรกีจะเดินทางไปยังค่ายลี้ภัยคอกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ในวันนี้ (พฤหัสบดี)

นอกจากนี้เธอยังคาดว่าจะได้พบกับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เชค ฮาซีนา ในวันพฤหัสบดีก่อนที่จะออกจากกรุงธากา

คาวูโซกลู รองนายกรัฐมนตรีตุรกีกล่าวในอังการาว่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะมี “การพบปะอย่างใกล้ชิด” กับชาวมุสลิมชาวโรฮิงญาที่หนีออกจากพม่า

“นอกจากนี้หัวหน้าองค์การประสานงานและความร่วมมือแห่งตุรกีและรัฐมนตรีต่างประเทศของเราซึ่งปัจจุบันอยู่ในอาเซอร์ไบจานก็จะมุ่งหน้าไปยังประเทศบังคลาเทศเพื่อพบปะ ประสานงาน และให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่นั่น” เขากล่าว

คาวูโซกลู ตั้งข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีเออร์โดกัน ซึ่งเป็นประธานขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) กำลังหารือกับผู้นำมุสลิมหลายประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไข

รัฐบาลพม่าอนุญาตให้องค์การประสานงานและความร่วมมือแห่งตุรกีหรือ TIKA แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ 1,000 ตันเพื่อช่วยเหลือชาวมุสลิมโรฮิงญาในจังหวัดยะไข่

การได้รับอนุญาตจากพม่าครั้งนี้เกิดขึ้นคล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เออร์โดกันได้โทรศัพท์พูดคุยกับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า