ด้วยความพยายามที่จะทำลายอุปสรรคขวางกั้นระหว่างอิสลามกับคริสต์ คุณแม่และผู้อำนวยการโบสถ์จากรัฐอิลลินอยส์เลือกที่จะสวมฮิญาบเป็นเวลา 40 วันในช่วงเทศกาลมหาพรต
เจสซี่ อีแกน เป็นชาวคริสเตียนที่ดีคนหนึ่ง เธอบอกว่าการปฏิบัติตามพระเยซูเป็นจุดศูนย์รวมหลักในชีวิตของเธอ และหลักฐานในเรื่องนั้นก็คือตำแหน่งของเธอในฐานผู้อำนวยการของเด็กๆ ที่โบสถ์ประจำท้องถิ่นของเธอ ซึ่งทำให้ประหลาดใจที่ได้รู้ว่าเธอตัดสินใจสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิม เป็นเวลา 40 วันในช่วงเทศกาลมหาพรต
เธอรู้ดีว่าเรื่องนี้ฟังดูแปลกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีความตึงเครียดในปัจจุบันระหว่างชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมทั่วโลก แต่เธอเห็นว่ามันเป็นวิธีที่จะส่งเสริมความเข้าใจและท้าทายความแตกต่าง “ในช่วงเทศกาลมหาพรตคุณจะเลิกทำบางอย่างหรือเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเป็นพิเศษก็ได้ ฉันจึงตัดสินใจว่า ฉันจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างเป็นมิตรด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา” อีแกนกล่าวที่บ้านของเธอในรัฐอิลลินอยส์ “ฉันอยากจะรู้ว่าชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร อยากรู้ว่ามันแตกต่างจากชีวิตของฉันอย่างไรบ้าง และเตือนใจตัวเองว่าการเป็นคนภายนอกมันรู้สึกอย่างไร”
ความสนใจที่ดีแกนมีต่อวัฒนธรรมของมุสลิมและประสบการณ์ของ “ผู้อื่น” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอและเจฟฟ์ สามีของเธอตัดสินใจย้ายไปอยู่จอร์แดนระยะหนึ่งเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว พวกเขาต้องการ “ทำอะไรบ้าๆ ก่อนที่จะลงหลักปักฐาน” และหลังจากได้พบกับครูสอนศาสนาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประเทศตะวันออกกลางนี้คนหนึ่ง พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะลอง
ขณะอยู่ที่นั่น พวกเขาเป็นอาสาสมัครทำงานที่คลินิกผู้อพยพชาวอิรักแห่งหนึ่ง และสอนที่โรงเรียนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง พวกเขาได้รู้จักเพื่อนชาวมุสลิมหลายคน แต่การเป็นชาวคริสเตียนที่มีผมสีบลอนด์และดวงตาสีน้ำเงิน ทำให้อีแกนรู้สึก “แตกต่างจนเห็นได้ชัด”
(ภาพ) อีแกนในวันแรกของเทศกาลมหาพรต
สิ่งนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นประสบการณ์การเปลี่ยนแปลง “การไปที่นั่น เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอิสลามเลย” เธอกล่าว แต่เราเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับศาสนานี้ไปโดยสิ้นเชิง เราได้รู้ว่าเรามีความหลงใหลต่อคนเหล่านี้”
ปัจจุบันเจฟฟ์ทำงานให้กับ Crescent Project ซึ่งเป็นองค์กรที่สอนชาวคริสเตียนในอเมริกาเหนือเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและทำงานเพื่อประสานความเข้าใจกับชาวมุสลิม หลังกลับจากจอร์แดน อีแกนสอนที่โรงเรียนอิสลามในท้องถิ่นอยู่ระยะหนึ่ง และเริ่มได้รู้จักเพื่อนๆ ในสังคมมุสลิมที่กว้างขวางที่เธอค้นพบในเมืองของเธอ สิ่งนี้ บวกกับการที่เธอเชื่อว่าสื่อมักจะชี้นำผิดๆ เพื่อปะปนลัทธิก่อการร้ายเข้ากับศาสนาอิสลาม ทำให้เธอตัดสินใจสวมฮิญาบทุกครั้งที่เธอออกจากบ้านตลอดเทศกาลมหาพรต
แต่ก่อนที่จะแต่งตัวในรูปโฉมใหม่นี้ อีแกนตัดสินใจโทรไปหาเพื่อนมุสลิมคนหนึ่งเพื่อถามความเห็น เธอต้องประหลาดใจที่เพื่อนคนนั้นแสดงความสนับสนุน 100 เปอร์เซ็นต์ และถึงขนาดให้อีแกนยืมผ้าคลุมศีรษะของเธอ โดยเขียนผ่านข้อความมาว่า “ลิ้นชักฮิญาบของฉันเป็นของคุณ มาเลือกผืนที่คุณชอบไปได้เลย ถ้าคุณไม่มีเวลาฉันจะเอาไปให้คุณเอง แค่บอกฉันว่าสีอะไร”
นอกจากสายตาที่จ้องมองแล้ว การสวมฮิญาบของเธอโดยภาพรวมแล้วเป็นประสบการณ์ที่เรียบง่าย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นไปในทางบวก เพื่อนๆ ของเธอทั้งที่โบสถ์และที่เป็นมุสลิมต่างก็ต้อนรับกับภาพลักษณ์ใหม่ของเธอเป็นอย่างดี และเธอยังมีโอกาสได้สวม “เบอร์กินี” ตอนที่พาลูกๆ ไปที่สระว่ายน้ำ YMCA เบอร์กินิเป็นชุดว่ายน้ำเส้นใยยืดแบบสามชิ้นที่ปกปิดผู้สวมตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า
(ภาพ) อีแกนในชุด “เบอร์กีนี” กับจีเนเวียร์ ลูกสาวของเธอ ที่ YMCA
อีแกนตระหนักดีว่าการที่เธอเรียกร้องหาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอาจถูกมุสลิมบางส่วนมองว่าเป็นการรุกล้ำ แต่อีแกนยืนยันว่าไม่ใช่เช่นนั้น “สิ่งสุดท้ายที่ฉันอยากจะทำคือการรุกราน” เธอกล่าว “ฉันพยายามที่จะทำลายอุปสรรคขวางกั้นทางวัฒนธรรม และฉันพบว่านี่เป็นวิธีที่ง่ายมากที่จะทำมัน และฉันหวังว่าผู้คนจะเข้าใจ และอาจจะเดินร่วมกับฉันในการเดินทางนี้”
เธอยังได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งนี้ด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ผู้อ่านเริ่มต้นการสนทนากับคนต่างศาสนา พวกเขาจะได้เข้าใจกันและกันดีขึ้น “ด้วยการทำอย่างนี้ ฉันหวังว่าผู้คน โดยเฉพาะชาวคริสเตียน จะมีความกล้าหาญขึ้นมาอีกหน่อยในการเพียงแค่จะกล่าวทักทาย หรือเริ่มต้นการสนทนา(กับมุสลิม) ในร้านค้า” เธอกล่าว ท่าทีที่ดูเหมือนง่ายนี้เป็นบางอย่างที่เราหลายคนไม่ได้ทำ ไม่ว่าจะด้วยความอคติ หรือเพราะกลัวที่จะเคอะเขิน
เพื่อเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ อีแกนถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับเจฟฟ์ ที่แนะนำตัวเองกับนักศึกษาชาวซาอุดี้ฯ สองคนบนรถโดยสารคันหนึ่งหลังจากที่เขาได้ยินสองคนนั้นพูดภาษาอาหรับ พวกเขาเชิญให้เขาร่วมสนทนาด้วย และบอกเขาว่าพวกเขามาเรียนที่สหรัฐฯ เป็นเวลาเก้าเดือนแล้ว และตลอดเวลานั้น เขาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่พูดกับพวกเขา นักศึกษาสองคนนั้นไม่ได้บอกว่าประชาชนปฏิบัติกับพวกเขาไม่ดีหรือมุ่งร้าย แต่การที่ผู้คนเลือกที่จะไม่มองพวกเขาเลยอาจถือเป็นความใจแคบอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้
(ภาพ) “การจ้องมองไม่ได้กวนใจฉันมากนัก” อีแกนพูดถึงประสบการณ์การสวมฮิญาบของเธอ “คงเป็นเพราะฉันดูน่ากลัว ก็เลยมีคนจ้องมองฉันเยอะอยู่แล้ว”
ลักษณะแบบเดียวกันนั้นอาจจะใช้กล่าวถึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง Abercrombie & Fitch ได้เช่นกัน ซึ่งบริษัทนี้เลือกที่จะไม่ใส่ใจว่า ซาแมนธ่า อีลอฟ วัย 17 ปี มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งพนักงานขายที่เธอสมัครไป เพียงเพราะเธอเลือกที่จะสวมผ้าคลุมศีรษะ บริษัทนั้นปฏิเสธไม่ให้งานเธอ โดยอ้าง “นโยบายภาพลักษณ์” ของบริษัท และในภายหลังอีลอฟได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อโอกาสในการจ้างงานที่เสมอภาค (Equal Employment Opportunity Commission) ซึ่ง Abercrombie ได้ดำเนินการต่อสู้ต่อไป ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้เริ่มฟังข้อโต้แย้งเมื่อวานนี้สำหรับคดีเลือกปฏิบัตินี้ และคาดว่าจะสนับสนุนอีลอฟในเดือนมิถุนายนนี้ อีแกนรู้สึกโชคดีที่มีประสบการณ์ที่สะดวกง่ายดายกว่าอีลอฟ แต่เธอก็สงสัยเช่นกันว่าเธอกำลังชดใช้มากเกินไปหรือไม่ ด้วยการมีไมตรีเป็นพิเศษกับผู้คน เพียงเพราะเธอสวมฮิญาบ
“ฉันไม่ได้ตั้งความหวังไว้ว่าสิ่งนี้จะเป็นไปในเชิงบวกไปตลอด” อีแกนกล่าว แต่ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เธอแน่ใจว่าเธอจะได้ประสบกับมุมมองที่กระจ่างแจ้งมากขึ้นกว่าที่เคย “ด้วยการเตือนตัวเองว่าการเป็นคนภายนอกเป็นอย่างไรนั้น ฉันสามารถเรียนรู้ที่จะรักและส่งเสริมพวกเขาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรืออื่นๆ”