วิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง ตอนที่ 2 (อณัส อมาตยกุล : จริยธรรมอิสลามมิอาจรองรับเสรีภาพทางการพูดในกรณี ชาร์ลีเอปโด)

ดร.อณัส อมาตยกุล กับหัวข้อเสวนา “เสรีนิยมตะวันตกกับจริยธรรมอิสลาม: ปรากฏการณ์ชาร์ลี เอปโด” บนเวทีเสวนาวิชาการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันเอเชียศึกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

จากนั้นเวทีวิชาการของศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ได้เริ่มการเสวนาโดย “ดร.อณัส อมาตยกุล” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด่นร้อนแรงต้อนรับศักราชใหม่ “เสรีนิยมตะวันตกกับจริยธรรมอิสลาม: ปรากฏการณ์ชาร์ลี เอปโด” โดยมี ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา ทำไมจริยธรรมอิสลามจึงมิอาจรองรับเสรีภาพทางการพูดในกรณีของ ชาร์ลีเอปโด ได้  อ.อนัส ได้เกริ่นนำว่า การเปรียบเทียบระหว่างตะวันตกกับอิสลาม อันที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ตะวันตก คือ ภูมิภาค หรือ ทวีป เป็นเรื่องของ ภาษา เศรษฐกิจ หรือ ชาติพันธ์ ขณะที่ อิสลาม คือ ศาสนา และธรรมะ เป็นตัวบทของศีลธรรม อันเป็นสองสิ่งที่มีเนื้อหาและธรรมชาติที่แตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

ทั้งนี้อาจารย์ได้ให้ข้อสรุปว่า “จริงๆแล้วความแตกต่าง ระหว่างตะวันตกกับ อิสลาม หรือ เสรีนิยมตะวันตก กับ จริยธรรมอิสลาม ก็คือ ความแตกต่าง ระหว่างลัทธิโลกียะ หรือ ลัทธิที่ใส่ใจเรื่องทางโลก ซึ่งหมายถึง เสรีนิยมตะวันตกไม่มี และไม่สนใจในเรื่องของบาปบุญ คุณโทษ เช่น การเวียนว่ายตายเกิด บุญกรรมทำแต่ง หรือ การลงโทษในวันฟื้นคืนชีพแบบผู้ที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ดังนี้แล้ว เสรีนิยมตะวันตก จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัตถุนิยม หรือ ลัทธิโลกี”  ที่อาจารย์ได้อธิบายว่า “ได้รับการพัฒนาขึ้นภายหลังยุคเรเนอซองส์ และยุคสงครามครูเสด ซึ่งแตกต่างจากอิสลาม ที่เป็นเรื่องของธรรมะ”

กำเนิดรัฐเซคคิวลาร์ : รอยแยกระหว่าง 2 อารยธรรม

อ.อณัส จึงได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ยุคที่กรีกมีความเจริญรุ่งเรือง และล่มสลายลง ด้วยโรมันผงาดขึ้น และภายหลังจากการล่มสลายของโรมันอีกที กระทั่งยุคที่คน ‘ฝรั่ง’ ปัจจุบัน ที่เคยได้ขึ้นชื่อเป็นชาวป่ามาก่อน สามารถเข้าพิชิตภูมิภาคนี้ได้สำเร็จ เพื่อตีแผ่ความเป็นมา ของตะวันตก ก่อนที่จะกลายมาเป็น รัฐเซคคิวลาร์ หรือ รัฐที่แยกตัวออกจากศาสนาอย่างสมบูรณ์ตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าโลกในยุคโบราณต่างก็ปกครองแบบศาสนจักรทั้งสิ้น

อ.อณัส อธิบายว่า “ความพ่ายแพ้ของคริสตจักรต่ออิสลามในสงครามครูเสด คือต้นตอ ที่ทำให้คนยุโรปได้หันมาทบทวน และค้นพบว่า อิสลามมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งด้านฟิสิกซ์ เคมี ชีวะ ฯลฯ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะทำอย่างไร พวกเขาจึงจะมีนักวิทยาศาสตร์บ้าง  หรือในด้านศิลปะ จะวาดรูปยังไงให้ดูวิจิตรงดงาม เหมือนกับชาวกรีก หรือพวกโรมัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ว่า ชาวตะวันตกจะสามารถมีความก้าวหน้ามากกว่ามุสลิมได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาละทิ้งศาสนา และเป็นที่มาของ secularization”

อ.อณัสบอกต่อว่า ในบริบทเช่นนี้ เรเนอซองส์ ได้นำแนวคิดของกรีก 2 ประการ คือ 1. มนุษย์นิยม (humanisms) และ 2. ธรรมชาตินิยม (Naturalism) เข้าพิชิตยุโรปด้วยศิลปะ ซึ่งในเบื้องต้นมีความขัดแย้งกับศาสนจักร เพราะพระเจ้าของกรีกถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์นอกศาสนา พระศาสนจักรจึงสั่งเผาคนที่ต่อต้านพระศาสนจักรทั้งหมด แต่ท้ายที่สุด แนวคิดดังกล่าว ก็สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ผ่านการจูงใจให้คนที่มีอำนาจเผาคนอื่น หรือคนในพระศาสนจักรเอง วาดรูปนักบุญเพื่อให้เป็นที่น่าเคารพนับถือจากศาสนิกชนมากขึ้น

จากนั้น ความเป็นมนุษยนิยม และธรรมชาตินิยมจึงได้ถูกถ่ายทอดและสะท้อนผ่านงานศิลปะ เช่นใน ประเทศอิตาลี เป็นต้น เมื่อเรเนอซองส์เข้าไปถึงฝรั่งเศส แนวคิด มนุษยนิยม บวกกับ ธรรมชาตินิยมก็เข้าเพลงฤทธิ์เดช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเมือง มีการปฏิวัติที่ได้เอาพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 มาตัดคอ และเมื่อแทรกแซงทางยุโรปตอนเหนือ เรเนอซองส์ก็เข้าไปยุ่งในเรื่องของศาสนา บาทหลวงธรรมดาอ้างความสามารถในฐานะมนุษย์ ใช้สิทธิ์อรรถาธิบายพระคัมภีร์ โดยไม่หวังพึ่งพระศาสนจักรที่โรม

“อิทธิพลของเรเนอซองส์ ด้วย Humanism และ Naturalism เข้าเปลี่ยนแปลงคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตสเตนท์ จึงบังเกิดขึ้นมา จนถึงศตวรรษที่ 17 ตะวันตกก็ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ตัดขาดโดยเด็ดขาดจากไสยศาสตร์ จวบศตวรรษที่ 18 เกิด The enlightenment หรือ การรู้แจงทางวัตถุได้รับการขยายตัว กระทั่งศตวรรษที่ 19 พวกเขาก็ปฏิวัติอุตสาหกรรม”

อาจารย์ชี้ว่า จากปฏิวัติอุตสาหกรรมนี่เอง คือจุดที่ ชาวตะวันตกเริ่มออกล่าอาณานิคม ด้วยเป้าหมายช่วงชิงเส้นทางการค้าทั่วโลกแทนชาวมุสลิม เพราะชาวมุสลิมมีความอ่อนแอลง ตามที่ประวัติศาสตร์กล่าวว่า ‘เส้นทางสำเภา’ ของชาวอาหรับได้ยุติลงเมื่อศตวรรษที่ 15

“เมื่อโลกอิสลามยุติบทบาททางการค้าโลกลง มุสลิมจึงขาดแคลนเงินทองและยากจนลดลงเรื่อยๆ หนำซ้ำเจ้าอาณานิคมยังกำชับห้ามทำการค้ากับชาติอื่น จนหลายสิบปีผ่านไป การศึกษาของชาวมุสลิมก็ล่มสลายลงตาม ด้วยความที่จริยธรรมอิสลามในเบื้องต้น ต่อต้านการศึกษาแบบตะวันตก สถานภาพของมุสลิมจึงตกต่ำลงมาเรื่อย
ทั้งนี้ต้องเสริมว่า จริยธรรมตะวันตกและ จริยธรรมอิสลามนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตะวันตกให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ (Human) จึงคำนึงถึง สิทธิตามธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ในกรณีที่มีอายุครบ 18 ปี มนุษย์คนหนึ่งจะมีสิทธิเป็นของตัวเอง อยากจะดื่มสุรา เป็นโสเภณี ก็สามารถกระทำได้ ซึ่งจุดนี้ขัดแย้งกับจริยธรรรมของศาสนา เนื่องจากการนับถือและเชื่อฟังในคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นไม่มีวันหมดอายุ เมื่อบรรลุนิติภาวะ จึงไม่อาจทำสิ่งที่ผิด หรือเป็นบาปได้ เหล่านี้มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นๆ เช่นเดียวกัน ตรงนี้เองความขัดแย้งในกรณีของจริยธรรมอิสลาม กับ เสรีนิยมตะวันตก จึงเกิดขึ้น”

“ตะวันตกได้รับการพัฒนาไปสู่ความเป็น ผู้นำด้านเสรีนิยม ที่หยั่งรากลึกอยู่บนพื้นฐานของ Humanism และ Naturalism ชาวตะวันตกจึงมองศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ศักดิ์สิทธ์ พวกเขามีสิทธิที่จะวิจารณ์ราชสำนักฝรั่งเศส หรือ พระคริสตจักรได้อย่างไม่มีขอบเขต จึงคิดว่า สามารถ วิจารณ์ นบีมูฮัมมัด ได้ด้วยเช่นกัน เพราะถือว่า นบีมูฮัมมัด เป็นเพียง ‘มนุษยปุถุชน’ คนหนึ่ง”

 

ศาสดามุฮัมมัด ไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ์หรือ?

อย่างไรก็ดี อ.อนัสได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากเสรีนิยมตะวันตกมีสิทธิเสรีภาพอย่างสูงสุด ไร้ขอบเขตจำกัดจริงๆ ทำไม จึงยังต้องมีการเซ็นเซอร์ ภาพเยาวชนที่กระทำความผิด หรืออื่นๆ ในฐานะผู้ที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ แต่เหตุไฉนจึงไม่ให้เกียรติแก่ศาสดามูฮัมมัดด้วย ในฐานะที่ท่านก็ยังมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบันจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในนิกายชีอะฮ์ หรือ ซุนนี่ ทั้งยังเป็นบุคคลที่มีผู้เคารพนับถือปฏิบัติตาม คือ ชาวมุสลิมอยู่อีกพันกว่าล้าน ที่ยังคงขับขาน ร่ำไห้ถึงความดีงาม และคำสอนของท่าน ซึ่งในบริบทเช่นนี้เอง อ. อณัสจึงให้ความเห็นว่า นบีมูฮัมมัดก็ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ที่มีเครือญาติ มีเกียรติจากคำสอนที่ดีงาม ต่างๆของท่าน

“เมื่อเราลองมองดูเสรีนิยมตะวันตก พวกเขาก็ยังคงมีขอบเขต ก็ยังคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยโรคเอดส์ เยาวชนทีลักขโมย ก็ยังได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น จึงมีคำถามฝากไปยังสังคมยุโรป ทำไมศาสดาที่สอนให้ เมตตาผู้อื่น บริจาคทานแก่ผู้อื่น อภัยโทษแก่ศรัตรู จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง?”

ทั้งนี้ อาจารย์ยังให้ความเห็นอีกด้วยว่า  อิสลาม ถือเป็นสิ่งที่คนไทยควรจะต้องให้ความสำคัญ เพราะมีบทบาทสำคัญอยู่ในโลกยุคปัจจุบันและในภายภาคหน้า ซึ่งคิดเห็นตรงกันกับ อาจารย์ สุรชาติ ไม่ว่าจะเป็น บทบาททางบวก หรือลบ รวมไปถึง ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาที่อาจจะตามมาหลังรวมประเทศอาเซียน หรือ ปัญหาด้านความมั่นคง การศึกษาโลกอิสลาม และศาสตร์อิสลามจนมีความเชี่ยวชาญจะช่วยให้ประเทศไทย สามารถพัฒนาระบบการปกครองให้มีศักยภาพมากขึ้น เหมือนกับที่ชาติตะวันตกเคยได้ศึกษาอิสลามอย่างช่ำชอง ครั้งที่ อังกฤษปกครองอียิปต์ และ อิรัก หรือที่ ฮอลันดาเคยได้ปกครองอินโดนีเซีย และ ฯลฯ อีกมากมายที่ยังไม่รวมรัฐสุลต่านเล็กๆ อีกหลายรัฐ

ข้างต้น คือมุมมองจาก นักวิชาการอิสลามระดับชาติไทยคนหนึ่ง ในประเด็นที่น่าค้นคว้าเป็นอย่างมาก ซึ่งกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันย่อมมี บ่อกำเนิดมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนในอดีต จนถึงความแตกต่างของสอง ‘อารยธรรม’ ที่ยิ่งใหญ่ อันนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน