น้ำมัน ก๊าซ ภูมิรัฐศาสตร์ : เหตุผลแท้จริงของสหรัฐฯ ในการเล่นเกม “วิกฤติโรฮิงญา”

ผู้หญิงสวมหน้ากากนางออง ซาน ซูจี ในระหว่างการชุมนุมต่อต้านการข่มเหงชาวโรฮิงญามุสลิมนอกสถานเอกอัครราชทูตพม่าในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2016 (AP / Dita Alangkara)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “พม่า” เป็นประเทศที่ไม่ค่อยปรากฏบนพื้นที่สื่อเท่าใดนัก ความเงียบสงบเป็นหนี้อย่างยิ่งต่อข้อสันนิษฐานที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งกำเนิดของประเทศนี้อยู่ในการดูแลของ “มือดี” ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแห่งปี 1991 (พ.ศ.2534) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่าง “นางออง ซาน ซูจี” ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปี 2015 (พ.ศ.2558) และได้รับตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ในเวลาต่อมา 

อย่างไรก็ตามกระแสความคิดเห็นของสาธารณชนระหว่างประเทศก็ได้หันมาต่อต้านซูจีอย่างรวดเร็วในฐานะที่นางเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติและผู้ได้รับรางวัลโนเบลอีกหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์เธอต่อการจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตโรฮิงญา”

ใจกลางของวิกฤตินี้มุ่งเน้นไปที่ชะตากรรมของ “ชาวโรฮิงญา” ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกข่มเหงตลอดประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ใน “ยะไข่”  (ชื่อเดิมคืออาระกัน) รัฐชายฝั่งของพม่า ชาวโรฮิงญายังคงไร้สัญชาติเนื่องจากรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับการอ้างสิทธิ์ของพวกเขาที่ว่าอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ และรัฐบาลได้ยืนยันหลายต่อหลายครั้งอ้างว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาวพม่า แต่เป็น “ผู้อพยพผิดกฎหมาย” จากประเทศบังคลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง พวกเขาถูกลิดรอนสิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐาน ความรวดร้าวของพวกเขาเป็นผลจากรัฐบาลพม่าที่ได้ใช้ทหารไปข่มขู่ชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง และบังคับให้พวกเขาออกจากดินแดนของตน

ในเดือนนี้ โดยเฉพาองค์กรสื่อ -เช่นเดียวกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สหประชาชาติ- ได้ให้ความสำคัญกับความขัดแย้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตัวอย่างเช่นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) เซด ราอัด อัลฮุสเซน (Zeid Ra’ad al-Hussein) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวหาพม่าว่าเป็น “ตัวอย่างตามตำราของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”  และระบุว่า แผนการต่อต้านชาวโรฮิงญาของพม่านั้น “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ในสองสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนองค์กรสื่อได้รายงานอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวิกฤตินี้ เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา “ซีเอ็นเอ็น” ได้ตีพิมพ์รายงานที่แตกต่างกัน 13 ชิ้นเกี่ยวกับสภาพของโรฮิงญา  มีการเรียกร้องให้ซูจีในฐานะผู้นำพม่าตัวจริงเข้ามาแทรกแซง

การได้รับความสนใจจากสื่ออย่างครึกโครมเที่ยวนี้ และความกังวลในหมู่องค์กรระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติ อาจสันนิษฐานได้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวโรฮิงยาของรัฐบาลพม่าเป็นปรากฏการณ์ล่าสุด  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงความขัดแย้งนั้นมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษ และการเพิ่มระดับขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เริ่มต้นในปีนี้ แต่ในปี 2011 (พ.ศ.2554) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ  นอกจากนี้มีอีกหลายกรณีของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่น การทำลายล้างเยเมนของซาอุดีอาระเบีย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวอิสราเอลในปาเลสไตน์ แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหรือกล่าวถึงในการสนทนาของการเมืองกระแสหลัก

ฉะนั้น ทำไมจึงมาสนใจอย่างฉับพลันต่อพม่า??

ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ

การก่อสร้างท่อส่งปิโตรเลียมจีน – พม่า (Imaginechina / AP)

เช่นเดียวกับหลายกรณีอื่นๆ ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความขัดแย้งของชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ซึ่งได้แก่ “น้ำมันและก๊าซ” โดยในปี 2004 (พ.ศ.2547) มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งชื่อว่า “ฉ่วย” (Shwe) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำทหารที่ปกครองพม่ามายาวนาน ซึ่งถูกค้นพบบริเวณชายฝั่งของพม่าในอ่าวเบงกอล ในปี 2008 (พ.ศ. 2551) บริษัท ปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (China National Petroleum Corporation – CNPC) ได้รับสิทธิในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่แหล่งนี้ การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในอีกหนึ่งปีต่อมาเพื่อวางท่อส่งทางบก 2 สาย ระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ซึ่งจะข้ามจากรัฐยะไข่ของพม่า -บ้านของชาวโรฮิงญา- ไปยังมณฑลยูนนานของประเทศจีน

ท่อส่งนี้ -สายหนึ่งขนส่งก๊าซ และอีกสายขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา-  คลาดเคลื่อนเรื่องวันกำหนดแล้วเสร็จ  โดยท่อส่งก๊าซเริ่มดำเนินการในปี 2014 (พ.ศ. 2557) และขนส่งก๊าซธรรมชาติมากกว่า 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีไปยังประเทศจีน ขณะที่ท่อส่งน้ำมันปราฏว่าสร้างยากกว่าและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะช่วยให้จีนสามารถเข้าถึงน้ำมันได้ง่ายขึ้นจากตะวันออกกลางและแอฟริกา และจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งน้ำมันดังกล่าวได้มากถึงร้อยละ 30

แผนที่แสดงเส้นทางของท่อส่งน้ำมันและก๊าซของจีน – พม่า (ภาพ: Shwe Gas Movement)

นอกเหนือจากประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการเข้าถึงน้ำมันได้ง่ายขึ้น ท่อส่งน้ำมันนี้ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของจีน โดยขณะนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันนำเข้าของจีนไหลผ่านทางช่องแคบมะละกาและพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกันอยู่ เส้นทางในปัจจุบันนี้ทำให้จีนมีความเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นโดยกองเรือรบที่ 6 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นระหว่างสองประเทศที่เป็นคู่แข่ง เมื่อท่อส่งน้ำมันฉ่วยเริ่มดำเนินการแล้วจีนจะไม่ต้องกังวลกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะปิดล้อมเส้นทางนำเข้าน้ำมันหลักของจีนอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับจีนในช่วงที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ

ตั้งแต่การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้น การประท้วงต่อต้านท่อส่งในรัฐยะไข่และพื้นที่อื่นๆ ของพม่าก็ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลและ CNPC (บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน) หลายต่อหลายครั้งว่าโครงการสร้างมลพิษทางแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนประชาชน และทำลายวิถีชาวประมงท้องถิ่น นอกจากนี้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่ถูกเวนคืนเพื่อโครงการนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ CNPC สัญญาไว้ การต่อต้านท่อส่งนำมาซึ่งการประท้วงและความไม่สงบ ผู้ประท้วงยังได้เรียกร้องให้ CNPC จัดหาไฟฟ้าให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังขาดแคลน  และยังเรียกร้องโอกาสในการทำงานมากขึ้นแก่คนงานในท้องถิ่น

รัฐบาลพม่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในท่อส่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งฉ่วย และคาดว่าจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมปีละ 7 ล้านเหรียญ (ประมาณ 231 ล้านบาท) หากท่อส่งทั้งสองสายแล้วเสร็จ และเนื่องจากรัฐบาลพม่าได้ระงับโครงการเขื่อนมิตโสน (Myitsone Dam) ของรัฐในรัฐคะฉิ่นในปี 2011 (พ.ศ. 2554) รัฐบาลจึงตระหนักดีว่าหากไม่จำกัดการต่อต้านท่อส่งของคนในท้องถิ่นอาจจะส่งผลให้รายได้ลดลงต่อปีเป็นล้านเหรียญ ดังนั้น ทหารของพม่าจึงตามติดชาวโรฮิงญาอย่างจริงจัง โดยอ้างถึงการแก้แค้นต่อการโจมตีเป็นระยะๆ ที่เกิดขึ้นโดยพวกก่อการร้ายในพื้นที่เพื่อเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงที่บังคับให้ผู้คนหลายแสนคนต้องจากบ้านของตน

การจลาจลที่ผลิตโดยทุนซาอุดิอาระเบีย

อะตาอุลเลาะห์ อะบูอัมมาร์ จูนจูนี สัญชาติปากีสถานที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับซาอุดีอาระเบีย ผู้เป็นศูนย์กลางและผู้นำของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Photo: screenshot)

“การก่อจลาจลของชาวโรฮิงญา” ในรัฐยะไข่นั้นแทบจะไม่เป็นไป “โดยธรรมชาติ” การตอบโต้ต่อการปราบปรามของรัฐที่มีมายาวนานนั่นคือคำอ้างที่มี กลุ่มนำการจลาจลนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน” หรือ “อาร์ซา” (Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) และเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ฮารอกัต อัลยากีน” (Harakah al-Yakin มาจากภาษาอาหรับแปลว่า ขบวนการศรัทธามั่น) ซึ่งนำโดย “นายอะตาอุลเลาะห์ อะบูอัมมาร์ จูนจูนี”  (Ataullah abu Ammar Junjuni) ชาวปากีสถาน (โรฮิงญาอพยพที่เกิดในปากีสถาน) ที่ทำงานเป็นอิหม่ามวะฮาบี (Wahhabi) ในซาอุดีอาระเบียก่อนเดินทางมาถึงยังพม่า ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อปีที่แล้วระบุว่า กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากปากีสถานและซาอุดิอารเบีย และ “20 คณะกรรมการอาวุโสแห่งผู้อพยพโรฮิงญา (a committee of 20 senior Rohingya emigres) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเมกกะห์เป็นผู้ “กำกับ” กลุ่มนี้

กองทัพ “อาร์ซา” เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการปราบปรามพลเรือนและชุมชนโรฮิงญาทั้งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วและในปัจจุบัน อันเนื่องจากการโจมตีสถานที่ทำการและฐานทหารของพม่าที่นำมาสู่การตอบโต้อย่างรุนแรงของทหาร “อาร์ซา” ยังได้กำหนดเป้าหมายยังพลเรือนชาวพุทธในรัฐยะไข่ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดความสนับสนุนในหมู่กลุ่มหัวรุนแรงชาวพุทธในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อการกลั่นแกล้งชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง

“อาร์ซา” ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนนักรบที่จะเกณฑ์เข้ามาเสริมทัพ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียใช้เงินกว่าพันล้านดอลลาร์ในการสร้าง “มัสยิดวะฮาบี” จำนวน 560 แห่งในประเทศบังคลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ได้หลบหนีความรุนแรงเข้าไปอาศัย

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้องค์กรสื่อต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น และอัลจาซีรา ได้ตีพิมพ์รายงานที่เป็นไปในทางเห็นอกเห็นใจการจลาจลของชาววะฮาบี โดยยืนยันว่ากลุ่มนี้ “ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปที่การโจมตีหัวใจของสังคมพม่าในขณะที่รัฐบาลอ้างว่าเป็น” แต่เป็น “กลุ่มคนสิ้นหวัง” ที่ออกมาเพื่อปกป้องคนของพวกเขา อย่างไรก็ตามองค์กรมุสลิมของพม่าได้ตัดสินประณามกองกำลัง “อาร์ซา” ต่อยุทธวิธีและมุมมองที่หัวรุนแรงของพวกเขา ความคล้ายคลึงอย่างเห็นได้ชัดของสื่อมวลชนระหว่างประเทศในการเรียกขาน “อาร์ซา” ก็เป็นเช่นที่เรียกนักรบซีเรียซึ่งซาอุดีอาระเบียสนับสนุนว่าฝ่าย “กบฏ” (rebels) -แทนคำว่าผู้ก่อการร้าย-

ซาอุดีอาระเบียได้รับอะไรจากการระดมทุนและผลักดันให้เกิดความขัดแย้งกับชาวโรฮิงญา? วิกฤตใหญ่ในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ มีศักยภาพที่จะทำลายความสำเร็จของท่อส่งน้ำมันไปยังประเทศจีนซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้ การกีดขวางไม่ให้มีการสร้างท่อส่งนำ้มันนี้ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ซาอุดีอาระเบียบ้างบางส่วน แต่จะมีประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อพันธมิตรสำคัญของซาอุดีอาระเบียอย่างสหรัฐอเมริกา อีกยังมีพันธมิตรของสหรัฐฯ/ซาอุฯ อย่าง “อิสราเอล” ที่มีส่วนสำคัญในการเป็นผู้จัดจำหน่ายอาวุธให้แก่ระบอบการปกครองพม่า ซึ่งมีบทบาทอย่างต่อเนื่อง

การตอบสนองที่ไม่สอดคล้องกันของสหรัฐฯ ผลผลิตจากลัทธิเกลียดชังสังคมมนุษย์ (cynicism)

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (ขวา) มองยังนางออง ซาน ซูจี ซึ่งกำลังทักทายนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่บ้านพักของนางในย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันจันทร์ ที่ 19 พ.ย. 2012 (AP / Pablo Martinez Monsivais)

ในขณะที่จีนสนับสนุนโดยปริยายในการตอบสนองของพม่าต่อวิกฤติโรฮิงญา เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในประเทศนี้ ทว่ารายงานบางฉบับแสดงความประหลาดใจว่าสหรัฐฯ – ที่มีชื่อเสียงในฐานะ “ผู้พิทักษ์” สิทธิมนุษยชนทั่วโลก- กลับ “ระมัดระวังการมีส่วนร่วม” ในความขัดแย้งนี้ แม้จะมีปฏิกิริยาไม่พอใจซึ่งแสดงออกโดยสหประชาชาติและองค์กรสื่อแล้วก็ตาม อ้างอิงตามรายงานของเอพี สหรัฐฯ กังวลว่าการมีส่วนร่วมของตนอาจ “ทำลายผู้นำประชาธิปไตยของประเทศในเอเชีย” อย่าง “นางออง ซาน ซูจี” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญแห่งเงินทุนตะวันตก

ความสนใจของสหรัฐฯในพม่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ และองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งของสหรัฐฯ ได้ใช้เงินหลายล้านเหรียญในการ “ส่งเสริมประชาธิปไตย” โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งนำโดยซูจี โดยในปี 2003 (พ.ศ.2546) เอกสารชื่อ “พม่า: เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Burma: Time for Change)ของ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) หรือ “CFR” ได้ระบุไว้ว่า พรรค NLD และผู้นำของพรรค “จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในพม่าโดยปราศจากความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประชาคมโลก”

โดยในช่วงหลายปีจากนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้จ่ายเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อปลูกฝัง “สถาบันประชาธิปไตย” และกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อผลักดันรัฐบาลรูปแบบใหม่ในพม่า ระหว่างปี 2012 (พ.ศ. 2555) ถึงปี 2014 (พ.ศ.2557) ฝ่ายบริหารของโอบามาได้ให้ความช่วยเหลือแก่พม่าเป็นจำนวนเงินถึง 375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับความพยายามดังกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2015 (พ.ศ.2558) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ หรือ “ยูเสด” (USAID) เป็น “ผู้บริจาคแถวหน้า” ในการเลือกตั้งของพม่าปี 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งทำให้ได้เห็นนางซูจีและพรรคของเธอได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของพม่าในปีนั้นและเทคโนโลยีทั้งหมดที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้และการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป ในท้ายที่สุดกว่า 18 ล้านเหรียญที่ถูกใช้จ่ายในการเลือกตั้งโดยยูเสด

นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนหลายแห่งที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาเศรษฐีเชื้อสายสหรัฐฯ-ฮังกาเรียน “จอร์จ โซรอส” (George Soros) ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมใน “การส่งเสริมประชาธิปไตย” ของพม่า ตัวอย่างเช่น “องค์กรความหวังของพม่า” (Prospect Burma) ที่มีฐานในกรุงลอนดอน และองค์กรใต้ร่ม “CFR” ที่เรียกว่า “เบอร์ม่า ทาสค์ ฟอร์ซ” (Burma Task Force) ซึ่งยึดเรื่อง “ชะตากรรมของโรฮิงญา” เป็นประเด็นเรือธง มาตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ.2556) นอกจากนั้น “มูลนิธิโอเพ่น โซไซตี้” (Open Society) ของโซรอส ก็เช่นกันที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในพม่าเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพยายามกดดันผู้ถือหุ้นชาวอินเดียของท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉ่วย ให้ละทิ้งโครงการนี้

การได้รับเลือกตั้งของซูจีนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศพม่าในหลายด้าน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ในขณะที่นางซูจีเคยชื่นชอบการลงทุนจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ แต่การขึ้นครองอำนาจของซูจีก็ทำให้การลงทุนของสหรัฐฯในพม่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ รอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศนี้จนกว่าเธอจะกลายเป็นผู้นำประเทศ ไม่นานหลังจากเธอได้รับเลือกตั้งการลงทุนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าจากปัจจุบันภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท ต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ลงทุน 250 ล้านดอลลาร์ในพม่าอันเป็นผลจากการขึ้นครองอำนาจของซูจี

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของการลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัทน้ำมันและก๊าซของสหรัฐฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในพม่าแม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2012 (พ.ศ.2555) แต่ฝ่ายบริหารของโอบามาก็มีข้อยกเว้นเนื่องจากกลัวว่าสหรัฐฯ “จะสูญเสียผลประโยชน์ให้กับคู่แข่งต่างชาติ” ก่อนที่จะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอย่างบริบูรณ์ คู่แข่งดังกล่าวหมายถึงบริษัทจีนและเกาหลีใต้ที่ได้สิทธิ์ในแหล่งก๊าซฉ่วยปีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามซูจีประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำให้บริษัทสหรัฐฯ และบริษัทตะวันตกมีกำไรมากขึ้นโดยเฉพาะ “เชลล์ ออยล์” (Shell Oil) และ “โคโนโคฟิลลิปส์” (ConocoPhillips)

“หุ่นเชิด” ด้วยความคิดของตนเอง

ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า ออง ซาน ซูจี พูดคุยกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และภรรยา เผิง ลี่หยวน ในพิธีต้อนรับผู้นำที่เข้าร่วมงาน Belt and Road Forum ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2560 (Wang Zhao / รูปถ่ายสระว่ายน้ำผ่าน AP)

ในขณะที่การลงทุนจากบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ และเครือข่ายเพิ่มขึ้นในพม่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาจากการลงทุนมหาศาลของสหรัฐฯ ในตัวซูจีและพรรคการเมืองของนาง กระนั้นสหรัฐฯ ก็ไม่ค่อยพึงพอใจนักกับบทบาทของซูจีหลังก้าวสู่อำนาจจนถึงปัจจุบัน ตามที่เดอะนิวยอร์กไทม์สตั้งข้อสังเกตเมื่อไม่นานมานี้ว่า ซูจียังคงรักษาและทำให้ประเทศของเธอมีความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น ล้มเหลวในการสนับสนุนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขึ้นสู่อำนาจของเธอ

ตัวอย่างเช่น ซูจีได้ไปเยือนกรุงปักกิ่งถึงสองครั้งนับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำของพม่า แต่ยังไม่ได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมที่จัดโดย “เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ  เธอแสดงความรู้สึกว่าจีน “จะทำทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพของเรา” ซึ่งหมายถึงความกระตือรือร้นของจีนที่จะยุติการสู้รบของฝักฝ่ายความเชื่อในรัฐยะไข่และพื้นที่อื่นๆ ของพม่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า จีนกำลังพยายามที่จะพัฒนาฐานทัพเรือในเมืองท่าเจ้าผิว (Kyaukpyu) รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการหลีกเลี่ยง

มิน เซน (Min Zin) ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายในพม่ากล่าวกับนิตยสารไทม์ว่า “ในขณะที่สหรัฐฯ หายตัวไป นางออง ซาน ซูจี กำลังพึ่งพาจีนทั้งในพม่าและในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ”

การตัดสินใจของซูจีในการใกล้ชิดกับจีน คล้ายคลึงกับท่าทีของ “โรดรีโก ดูเตอร์เต” ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์  ผู้ซึ่งได้ต่อสู้เพื่อลดอิทธิพลที่มีมาในอดีตของสหรัฐฯในประเทศของตน และกระชับสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งจีนและรัสเซียมากขึ้น ที่น่าสนใจ! หลังจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้กับจีน พม่าและฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกบังคับให้สู้รบกับกลุ่มก่อความไม่สงบวะฮาบี ที่ได้รับเงินจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้แก่กองกำลัง “อาร์ซา” ในพม่า และไอซิสในฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เตได้ตำหนิสหรัฐฯ โดยนัยต่อการเพิ่มขึ้นของไอซิสในประเทศของเขา

การเพิ่มขึ้นของทั้งสองกลุ่มวะฮาบี ได้มอบข้ออ้างที่เหมาะสมสำหรับสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มสถานะทางการทหารในทั้งสองประเทศ สำหรับในพม่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลบพม่าออกจากรายชื่อประเทศที่ใช้ “ทหารเด็ก” อย่างไม่มีเหตุผลสมควร อีกทั้งพม่าก็ยังคงดำเนินการในสิ่งที่น่ารังเกียจนั้นอยู่ ย่าวก้าวนี้ -ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของข้อห้ามในการให้ความช่วยเหลือทางทหาร การฝึกซ้อม และอาวุธของสหรัฐฯ ในพม่า – ได้รับการคัดค้านจากผู้ชำนาญการสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งโดยปกติจะเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายของสหรัฐฯในเรื่องนี้

สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการทหารกับประเทศนี้ โดยการแปรญัตติที่ซ่อนอยู่ในพระราชบัญญัติการป้องกันประเทศ (National Defense Authorization Act – NDAA) ปี 2017 (พ.ศ.2560) ซึ่งถ้าผ่านแล้ว กฎหมาย NDAA นี้จะอนุญาตให้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของสหรัฐฯ และพม่าอย่างเต็มที่ และจะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคและลอจิสติกในระดับเดียวกัน รวมทั้งการฝึกซ้อมทางการทหารที่ปัจจุบันมีอยู่ในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังจะเป็นการเปิดเส้นทางให้สหรัฐฯ จัดตั้งฐานทัพซึ่งจะยุติความหวังของจีนเกี่ยวกับฐานทัพเรือของตนในพม่า ในขณะเดียวกันอิสราเอลซึ่งเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ ก็ได้ขายอาวุธให้กับทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง

เล่นทั้งสองด้าน : การป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

เรือรบของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ในการร่วมซ้อมรบ รหัสโฟล อีเกิล (Foal Eagle) ในทะเลทางตะวันตกของเกาหลีใต้ (AP / กองทัพเรือเกาหลีผ่านสำนักข่าว Yonhap)

ในบริบทของวิกฤตโรฮิงญา สหรัฐอเมริกากำลังเล่นทั้งสองด้านของความขัดแย้ง โดยด้านหนึ่งพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ อย่างซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ให้ทุนและก่อให้เกิดการจลาจลที่นำมาสู่เกิดวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในขณะที่องค์กรสื่อของสหรัฐฯ เป็นผู้ฉาบแต้มว่าการจลาจลนี้เป็น “นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” และนำพาความสนใจของสาธารณชนไปยังประเด็นนี้ในช่วงเวลาที่สำคัญ ขณะที่อีกด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกากำลังเสนอความร่วมมือทางทหารที่แนบชิดกับพม่าเพื่อช่วยต่อสู้กับปัญหาการก่อการจลาจลที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่ยังช่วยเพิ่มการลงทุนของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศพม่า

พร้อมกับการเรียกร้องให้ซูจีดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯ มีความสามารถในการบังคับมือของนางทั้งแอบแฝงและเปิดเผย ถ้าวิกฤติยังเลวร้ายลงมีความเป็นไปได้ที่ซูจีจะขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการแพร่กระจายของ “การก่อการร้าย” ที่เติบโตขึ้น ผลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ ซึ่งจะได้ที่มั่นทางทหารแห่งใหม่ประชิดชายแดนอีกด้านของจีน และยังสามารถรักษาความมั่งคั่งทางน้ำมันและก๊าซของพม่าให้แก่ตนเอง

ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในพม่าแทบจะไม่จำกัดเฉพาะที่การครอบครองผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซที่มหาศาลของประเทศนี้ แรงจูงใจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ คือการสลายอิทธิพลของจีน ซึ่งมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ “สกัดกั้นและปิดล้อมจีน” ในระดับภูมิภาค – ความพยายามจะสร้างแนวร่วมสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลโดยรอบประเทศจีนเพื่อที่จะยืนยันถึงการมีอำนาจของสหรัฐฯ เหนือภูมิภาคนี้อีกครั้ง

เป้าหมายนี้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในยุคอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ “ฮิลลารี คลินตัน” ที่กล่าวสุนทรพจน์ในปี 2013 (พ.ศ.2556) ระบุว่า “เราจะขีดวงให้จีนด้วยระบบต่อต้านขีปนาวุธ เราจะนำกองเรือของเราเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น” “นโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้กับยุคโอบามา ปี 2011 ในนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” (pivot to Asia) ซึ่งส่งผลให้ยอดขายอาวุธของสหรัฐฯ ในประเทศเพื่อนบ้านของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมทั้งการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียในประเทศต่างๆ ที่พยายามจะกระชับสัมพันธ์กับปักกิ่ง ได้แก่ ฟิลิปปินส์และพม่า

มีโอกาสมากที่จะบรรลุเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย “วิกฤติ” ปัจจุบัน อีกสหรัฐฯ ก็ตระหนักถึงความสำคัญของ “การสูญเสีย” หากเบี้ยนี้ตกไปอยู่ทางอื่น การเปิดท่อส่งน้ำมันฉ่วยไปยังประเทศจีนจะเป็นการลบศักยภาพของสหรัฐฯในการปิดกั้นการจัดหาน้ำมันของจีนถึงร้อยละ 80 การสูญเสียข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่นี้จะเป็นผลร้ายต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมืองที่สำคัญระหว่างอำนาจของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนา กับการที่สหรัฐฯ ขู่ว่าจะกำจัดประเทศจีนออกจากระบบเครือข่ายธนาคาร หรือ “SWIFT”, ความตึงเครียดในการรุกคาบสมุทรเกาหลี และการที่ประเทศจีนเสนอทางออกน้ำมัน / ทอง / หยวน แทนที่ เปโตรดอลลาร์ (petrodollar) เช่นความขัดแย้งดังกล่าวยังถือว่าห่างไกลเมื่อเทียบกับเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในพม่าจึงมีหลายแง่มุม – เป็นการมัดรวมความอุบาทว์ของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความไร้เหตุผลที่จะเข้าครอบงำทางการเมืองในเอเชียอีกครั้งเพื่อสกัดจีน เช่นเดียวกับความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ในการควบคุม “ไฮโดรคาร์บอน”โดยปิดบังภายใต้เสื้อคลุม “การจลาจล” ที่ซาอุฯ ให้ทุนสนับสนุน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาสและยังดำเนินมาถึงตอนนี้ เป้าหมายนั้นง่ายมาก ก็คือ บังคับให้พม่าต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ หรือจีน ที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”

ท้ายที่สุดชาวโรฮิงญาก็เป็นเพียง “เบี้ย” ตัวล่าสุดที่สหรัฐฯ ซึ่งกำลังเข้าตาจนใช้เพื่อจะยังคงได้ครอบงำโลกภายใต้หน้ากากของ “มนุษยธรรม”  หากผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สัมฤทธิ์ผลและขับไล่จีนออกไปได้ โรฮิงญาก็จะยังคงประสบกับชะตากรรมดังกล่าวอยู่เช่นเดิม ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือ การที่ผู้ทำร้ายพวกเขาจะตอบคำถามด้วยลีลาชั้นเซียนที่แตกต่างก็แค่นั้น!!

แปล/เรียบเรียง : โต๊ะข่าวต่างประเทศ เดอะพับลิกโพสต์

by : Whitney Webb / Source:  mintpressnews

ข้อเขียนนี้ไม่ได้ผลิตโดยเดอะพับลิกโพสต์ เราเลือกมานำเสนอแก่ผู้อ่านของเราตามสถานการณ์ที่น่าสนใจ ความคิดเห็นที่แสดงในข้อเขียนเป็นของผู้เขียนเอง และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของกองบรรณาธิการเดอะพับลิกโพสต์