เออร์โดกันขู่ปิดพรมแดน-ท่อส่งน้ำมัน หลังเคิร์ดอิรักลงประชามติแยกประเทศ เตือนโบกธงยิวช่วยอะไรไม่ได้

AFP PHOTO / Bulent Kilic

MEE – เมื่อวันอังคาร (26 ก.ย.) เรเยบ ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี เพิ่มแรงกดดันต่อฝ่ายบริหารเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก หลังการลงประชามติแยกประเทศจากอิรัก โดยเขาเตือนว่า ชาวเคิร์ดเสี่ยงที่จะต้องผจญกับความอดอยากหากตุรกีมิให้นำเข้าอาหารผ่านพรมแดน

ประธานาธิบดีตุรกียังตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขผู้ลงคะแนนและข้อมูลเบื้องต้นว่า “มีพิรุธ”

ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติมากกว่าร้อยละ 80 และในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 90 ลงคะแนนเสียงแยกประเทศ ซึ่งคาดว่าผลอย่างเป็นทางการจะออกมาในวันพุธนี้ (27 ก.ย.)

ในคำปราศรัยจากทำเนียบประธานาธิบดีในอังการา เออร์โดกันย้ำคำขู่ว่า เขาจะปิดเส้นทางท่อส่งน้ำมันของชาวเคิร์ดอิรักที่ส่งไปยังตลาดต่างประเทศและตั้งคำถามว่า ชาวเคิร์ดอิรักจะอยู่ได้อย่างไรหากตุรกีปิดกั้นการค้าชายแดน

“ตอนนี้เมื่อเราเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตร คุณก็จะติดขัดอยู่ตรงกลางนั้น และทุกอย่างก็จะจบสิ้นเมื่อเราปิดท่อส่ง” เออร์โดกันกล่าว “พวกเขาจะไม่สามารถหาอาหารได้เมื่อรถบรรทุกหยุดไปทางเหนือของอิรัก”

เออร์โดกันยังได้มุ่งเป้าไปที่อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศเดียวที่สนับสนุนการลงประชามติของชาวเคิร์ดอิรักอย่างเปิดเผย

“เมื่อเราใช้มาตรการคว่ำบาตร แล้วอิสราเอลจะส่งอะไรไปจากที่ไหนได้?” เขากล่าวและเตือนรัฐบาลของนายมัสอูด บาร์ซานี ผู้นำเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในอิรัก เกี่ยวกับประเทศที่กำลังปลุกปั่นในขณะนี้ แต่จะไม่สามารถมาป้วนเปี้ยนในภายหลัง

“รู้ไหมว่าการโบกธงชาติอิสราเอลจะไม่ช่วยให้คุณรอดพ้นได้” เออร์โดกันกล่าว

นอกจากนี้เขายังกล่าวหาว่า โดยการลงประชามติเอกราชนี้ เท่ากับรัฐบาลเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของนายบาร์ซานี ได้ทรยศต่อตุรกี เขาย้ำว่าอังการาได้จ่ายเงินกู้ยืม 1.5 พันล้านเหรียญให้กับรัฐบาลเคิร์ดเพื่อที่จะสามารถจ่ายเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ของตนได้

“จนถึงวินาทีสุดท้ายที่เราไม่คิดว่าบาร์ซานีจะกระทำผิดพลาดดังกล่าว เราเข้าใจผิด การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นในภาวะที่ความสัมพันธ์ของเราอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา เห็นได้ชัดว่าเป็นการทรยศต่อประเทศของเราด้วย “เขากล่าว

เออร์โดกัน ยังเตือนว่า การลงประชามติครั้งนี้อาจส่งผลกระทบไกลกว่าการนองเลือดที่เกิดจากกลุ่มไอซิส

“มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมากยิ่งกว่าภัยคุกคามของไอซิส ตุรกีจะไม่อยู่นิ่งในการเผชิญหน้าพัฒนาการเช่นนั้นตามแนวพรมแดน” เออร์โดกันกล่าว

“เรามีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอิหร่าน ในฐานะรัฐบาลกลางสามประเทศในภูมิภาคนี้ หน่วยข่าวกรองของเรากำลังทำงานไปในเวลาเดียวกัน”

ทั้งนี้ในเย็นวันจันทร์ (25 ก.ย.) มีการประกาศว่าทหารอิรักเข้าร่วมการฝึกทางทหารกับทหารตุรกีในเขตชายแดนของซิลอปี (Silopi)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อุสมาน อัลกานีมี หัวหน้ากองกำลังร่วมของอิรัก ได้ไปพบฮุลูซี อะการ์  (Hulusi Akar) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของตุรกีในอังการา จากรายงานระบุว่า จะมีการประชุมสามฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมเจ้าหน้าที่ของอิหร่าน คาดว่าจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ที่กรุงเตหะราน

รัฐบาลกลางอิรัก ตุรกี และอิหร่าน ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับการลงประชามตินี้ และว่าเป็นผลของการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ตุรกีเป็นประตูสู่ตลาดต่างประเทศที่สำคัญสำหรับเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรักที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล น้ำมันมากกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันถูกส่งผ่านท่อส่งและแท่นบรรทุกสินค้าจากตุรกีไปยังตลาดต่างประเทศ

นอกจากนั้นตุรกียังคงเป็นผู้จัดจำหน่ายอาหารแปรรูปและอาหารดิบรายหลักในภูมิภาค อิรักเป็นประเทศส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของตุรกี โดยทางตอนเหนือของอิรักเป็นผู้ซื้อหลัก

รัฐบาลตุรกีมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองหลังฉากในการลงประชามติและพยายามโน้มน้าวให้บาร์ซานีทบทวนการจัดลงประชามติ แต่ที่สุดบาร์ซานีก็ยังคงเดินหน้าซึ่งจัดไปแล้วในวันจันทร์ (25 ก.ย.) ที่ผ่านมา