
โครงการนี้ของ “ตาริค บักรี” (Tarek Bakri) มุ่งเน้นให้ชาวปาเลสไตน์ผู้ถูกขับไล่ออกจากมาตุภูมิได้เห็นสภาพปัจจุบันของบ้านเดิมและละแวกใกล้เคียงที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยก่อนที่ไซออนิสต์จะสร้างรัฐยิวบนมาตุภูมิของพวกเขา
คำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) ในปี 1917 ซึ่งสนับสนุนแผนของไซออนิสต์ในการสร้างรัฐยิวทับบนมาตุภูมิของชาวปาเลสไตน์ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางมาจนทุกวันนี้
ด้วย “67 คำ” ในประกาศดังกล่าวของอังกฤษ ได้สร้างเคราะห์กรรมใหญ่หลวงต่อชาวปาเลสไตน์ และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาพแวดล้อมที่พวกเขาเคยอยู่อาศัย
บ้านและโรงภาพยนตร์ของชาวปาเลสไตน์ ร้านค้าและมัสยิด สถานีรถไฟและตลาดต่างๆ สูญหายไปในปี 1948 (พ.ศ.2491) เมื่อชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกขับไล่ออกจากประเทศของตนท่ามกลางความรุนแรงของ “นักบา” (Nakba) ในภาษาอาหรับ ที่มีความหมายว่า “ภัยพิบัติ”
“ตาริค บักรี” (Tarek Bakri) นักวิจัยและผู้จัดเก็บเอกสารสำคัญซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ได้พยายามรวบรวมข้อมูลภาพเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นสภาพบ้านเรือนปาเลสไตน์เมื่อ 100 ปีที่แล้วก่อนเหตุการ์นักบาว่าเป็นเช่นไร แรงขับเคลื่อนนี้มาจากความคิดถึงบ้านและความรู้สึกคนึงหาที่ยังคงเกาะกุมหัวใจของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก
“พวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในประเทศจอร์แดนและเลบานอน” ตาริคกล่าวกับสำนักข่าว MEE “พวกเขาติดต่อผมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และส่งภาพบ้านของพวกเขามาให้ผม ผมออกไปตามหาบ้านเหล่านั้นและถ่ายรูปว่าสภาพปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร”
ตาริค บักรี กล่าวว่า ภาพเหล่านี้ซึ่งเป็นเอกสารส่วนตัวจากครอบครัวชาวปาเลสไตน์ แสดงให้เห็นว่าดินแดนปาเลสไตน์เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอาหรับ “มันไม่ใช่ทะเลทรายเหมือนที่ไซออนิสต์คนแรกซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานเชื่อ” เขากล่าว
แต่ชาวอิสราเอลบางคนในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านที่เคยเป็นของชาวปาเลสไตน์มาก่อนหน้านี้ก็คัดค้านการทำงานของ ตาริค บักรี
“ผมได้รับปฏิกิริยาแปลกๆ จากพวกเขา” เขากล่าว “ครั้งหนึ่ง ผมได้โชว์ภาพครอบครัวชาวปาเลสไตน์ที่เคยอยู่ที่นั่นให้ชายคนหนึ่งดู และบอกกับเขาว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นเจ้าของเดิม เขาตอบกลับมาว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นคนที่ถูกเลือก และพระเจ้าทรงประทานบ้านให้แก่เขา”
ภาพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งการทำงานของ “ตาริค บักรี” :
โรงภาพยนตร์
โรงภาพยนต์อัลฮัมบรา (Al-Hambra) ภาพนี้ถ่ายในปี 1937 (พ.ศ.2480) เป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์ของชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีอยู่หลายแห่งที่ถนนจามัล ปาชา (Jamal Pasha) ในเมืองจาฟฟา ตอนนี้ถูกใช้เป็นโบสถ์โดยคริสจักรไซเอนโทโลจี (Scientology)


สถานีรถไฟ
รถไฟจากจาฟฟาไปยังเยรูซาเล็ม สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1892 ยุคจักรวรรดิออตโตมัน กลายเป็นชื่อรถไฟเทลอาวีฟ-เยรูซาเล็ม หลังนักบา ปี 1948


คฤหาสน์ของครอบครัวหนึ่ง
นายฮันนา บีชารอต (Hanna Bisharat) สร้างวิลล่าของเขาในย่านตัลบียา (Talbiya) ในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อปี 1926 (พ.ศ.2469) ภาพนี้ของเขาและครอบครัวถ่ายเมื่อปี 1929 (พ.ศ.2472) วิลลาของเขาเป็นที่รู้จักในนาม พระราชวังฮารูน รอชีด (Harun al-Rashid) เป็นการอ้างอิงถึงกาหลิบราชวงศ์อับบาซิดของอิสลามผู้ร่ำรวยและทรงอำนาจ
นางโกลด้า เมียร์ (Golda Meir) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้เข้าอาศัยอยู่ในบ้านของนายบีชารอตหลังจากที่ครอบครัวของเขาจากบ้านหลังไป นางโกลด้าบอกกับสื่อมวลชนในเดือนมิถุนายนปี 1969 ว่า “ที่นั่นไม่มีอะไรเลยที่บ่งชี้ถึงความเป็นปาเลสไตน์”


โบสถ์
โบสถ์ในหมู่บ้านชาวคริสเตียนที่มะอาลูล (Ma’alul) อยู่ห่างจากเมืองนาซาเร็ธ ไปทางตะวันตกประมาณ 6 กิโลเมตร ภาพนี้ถ่ายในช่วงทศวรรษที่ 1930 โบสถ์ถูกทำลายและประชากรในหมู่บ้านก็ลดจำนวนอย่างมากในปี 1948 (พ.ศ.2491) โดยฝีมือกองกำลังชาวยิว


บ้านของครอบครัวหนึ่ง
ชาวปาเลสไตน์ ชุกรี อัลจามาล และภรรยา, น้องสาวและลูกสาวของเขารวมตัวกันอยู่หน้าบ้านของพวกเขาในย่าน ตัลบียา (Talbiya) ในกรุงเยรูซาเล็มช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 ในวันนี้มีชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกันนี้


สถานกงสุล
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่นอกประตูสถานกงสุลอียิปต์ในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อปี 1947 (พ.ศ.2490) อาคารแห่งนี้กลายเป็นสถานกงสุลกรีกในปัจจุบัน


ข้อมูล http://www.middleeasteye.net