“Thailand Halal Assembly 2017” ถือเป็นงานใหญ่และสำคัญเกี่ยวกับกิจการฮาลาลของประเทศไทย โดยการจัดงานครั้งที่ 4 ในปีนี้จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา เป็นเวลา 4 วัน
งานนี้จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “ภูมิปัญญาแห่งฮาลาล” เพื่อการส่งเสริมพัฒนากิจฮาลาลประเทศไทย รวมทั้งแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยสู่ความเชื่อมั่นในระดับโลก
“รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร” ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานปีนี้ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า งานในครั้งนี้จะมีการประชุมวิชาการในระดับต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ฮาลาล และระดับในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรับรองฮาลาลของไทย
“ประเด็นหลักที่จะคุยกันคือเรื่องที่ฮาลาลประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์กร SMIIC (The Standard and Metrology Institute for Islamic Countries) ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับกิจการด้านฮาลาลของกลุ่มประเทศโอไอซี (OIC)”
“ประเทศในกลุ่มโอไอซีมองว่าเรามีความเข้มแข็งในเรื่องมาตรฐานฮาลาลตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา” ดร.ปกรณ์ บอกถึงเหตุผลที่ทำให้ไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิมได้เข้าร่วมเป็นภาคีขององค์กรฮาลาลใต้ร่มโอไอซี
งาน “Thailand Halal Assembly 2017” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ภูมิปัญญาฮาลาล” จุดบรรจบของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาการ ซึ่งดร.ปกรณ์บอกว่า “เราจะนำเสนอความคิดของคนรุ่นใหม่แวดวงไทยแลนด์ 4.0 เพื่อจะสื่อให้เห็นว่าอิสลามมีความสอดประสานกับนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างไร”
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนาที่ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับงาน “Thailand Halal Assembly 2017” นั้นส่วนหนึ่งจะเป็นการแสดงสินค้านานาชาติด้านฮาลาลซึ่งประกอบไปด้วยบูธประมาณ 200-250 บูธ
“บูธเหล่านี้นำมาเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรค์ เพราะเราไม่ได้เน้นขายสินค้า แต่เน้นการโชว์ผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาพัฒนาธุรกิจในด้านนี้” ดร.ปกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ในงานยังจัดให้มีการเจรจาทางการค้าระหว่างคู่ค้าในด้านต่างๆ แต่ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า “อาจจะต่างจาก Business Matching ทั่วไป เพราะจะเป็นไปในรูปแบบ From Farm to Table หรือการผลิตสู่ผู้บริโภคอย่างมีคุณค่า หรือสดใหม่จากไร่ ไปจนจบกระบวนที่เกี่ยวข้อง”
ประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2017 เน้นย้ำว่า ความพยายามผลักดันยกระดับมาตรฐานฮาลาลไทยให้โดดเด่นสู่ระดับโลกนั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือเพียงชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นการตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและชาวไทยทั้งหมด
“ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งขอรับรองฮาลาล 96 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่มุสลิม เขาเหล่านี้คือผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง องค์กรมุสลิมเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น” ดร.ปกรณ์ กล่าว พร้อมอธิบายถึงมูลค่ามาหาศาลของตลาดฮาลาลโลกว่า “ประเทศไทยมี 146,400 ผลิตภัณฑ์ที่ขอรับรองฮาลาล มีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตปีละ 12 เปอร์เซ็นต์”
ทั้งนี้ตลาดรวมผลิตภัณฑ์ฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งดร.ปกรณ์ กล่าวว่า “ปีนี้ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นอันดับ 10 ของโลก ขณะที่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเราอยู่อันดับที่ 13 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ผลักดันให้ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 5 ภายในปี 2563”
“ผมขอเชิญชวนพวกเราทุกคนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมมาร่วมงาน “Thailand Halal Assembly 2017” ในครั้งนี้ เพื่อประกาศให้ประชาคมโลกรู้ถึงศักยภาพด้านฮาลาลของไทย” รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากรณ์ ประธานจัดงานกล่าว
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม www.thailandhalalassembly.com