เจาะแสนยานุภาพ “อิหร่าน VS ซาอุฯ” ใครเหนือกว่า หากสงครามเปิดฉาก??

ความตึงเครียดระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านเพิ่มสูงกว่าปกติในห้วงเวลานี้ โดยเป้าของริยาดก็คือ “ฮิซบุลเลาะห์” ขบวนการต่อสู้แห่งเลบานอนซึ่งเป็นพันธมิตรของเตหะราน หากความขัดแย้งนำไปสู่การปะทะทางทหารเกิดขึ้นจริง ระหว่างสองฝ่ายใครที่จะมีโอกาสดีที่สุดในการเป็นผู้เหนือกว่าในสมรภูมินี้?

การเผชิญหน้าในภูมิภาคตะวันกลางระหว่างสองประเทศที่แยกจากกันในทางภูมิศาสตร์โดยมีอ่าวเปอร์เซียแคบๆ คั่นกลางนั้นมีรากลึกมาจากการเป็นคู่แข่งด้านประเด็นความเชื่อ การเมือง และเศรษฐกิจ ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านยึดถือในสองสำนักคิดคู่แข่งของศาสนาอิสลามที่แตกต่างกัน “ซุนนี-ชีอะห์” พวกเขายังแข่งขันกันในตลาดพลังงานที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้โดยที่เตหะรานมีความคับข้องใจต่อส่วนแบ่งการตลาดที่หายไปเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ถูกกำหนดโดยอเมริกันผู้อุปถัมภ์ของริยาด พวกเขาต่อสู้กันด้วยสงครามตัวแทนซึ่งมักรุนแรงตามพื้นที่ต่างๆ เช่นประเทศบาห์เรน เยเมน ซีเรีย และเลบานอน

เมื่อเร็วๆ นี้ เปลวไฟได้ถูกโหมขึ้นโดย “เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน” มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ผู้ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากถือว่าเป็นผู้ปกครองที่แท้จริงของราชอาณาจักรแห่งนี้ โดยเขาได้กระชับอำนาจผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การปราบปรามการทุจริต” ต่อผู้ที่ต่อต้านเขา และพยายามดึงดูดการสนับสนุนจากต่างประเทศด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปอิสลามซาอุดิอาระเบียสู่ “สายกลาง” รวมทั้งมีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการใหม่ๆ มากมาย

การฟาดฟันกันภายในประเทศซาอุฯ นั้นอาจงอกเงยขึ้นมาจากความล้มเหลวซ้ำซากของนโยบายต่างประเทศ การแทรกแซงทางทหารของริยาดในเยเมนซึ่งเปิดตัวด้วยการประโคมข่าวอย่างหนักในปี 2015 โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้กลุ่มกบฏ “ฮูซี” ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน ได้กลายเป็นหล่มที่ซาอุฯ ถอนตัวไม่ขึ้น โดยมกุฎราชกุมารเป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมอันใหญ่หลวง กระนั้นก็ยังปราศจากชัยชนะทางทหารใดๆ

ความแตกแยกในปีนี้กับกาตาร์และการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อราชอาณาจักรอาหรับขนาดเล็กโดยซาอุฯ นั้นล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นผลักกาตาร์ให้ใกล้ชิดกับอิหร่านซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านลอจิสติก และตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการแสดงบทบาทของตนในภูมิภาคนี้

ส่วนในซีเรีย กลุ่มก่อการร้ายอิสลามที่ซาอุดีอาระเบียเข้าข้างก็คว้าน้ำเหลวในการล้มรัฐบาลดามัสกัสซึ่งได้รับการสนับสนุนทางอากาศจากรัสเซีย และได้รับความพลังที่เข้มแข็งในภาคพื้นดินจากกกองกำลังชีอะห์และที่ปรึกษาทางทหารอิหร่าน อันทำให้กองทัพซีเรียได้รับชัยชนะอย่างกว้างขวางในความขัดแย้งนี้

ตอนนี้ริยาดดูเหมือนจะพยายามก่อปัญหาให้กับอิหร่านในเลบานอนซึ่งเป็นประเทศที่เคยแตกแยกจากความเชื่อที่แตกต่าง (sectarian) อันนำไปสู่สงครามกลางเมือง 15 ปีที่ถูกระบุว่าคร่าชีวิตผู้คนถึง 120,000 ราย ซึ่งหนึ่งในพัฒนาการหลักของสงครามนี้ก็คือการเกิดขึ้นของ “ฮิซบุลเลาะห์” ขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมชีอะห์ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกองกำลังที่ทรงพลังมากที่สุดในเลบานอน และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงแบ่งสรรอำนาจ (power sharing agreement) ในปี 2016

ในเดือนนี้ เกิดเหตุการณ์พิศดารเมื่อผู้นำซุนนีเลบานอนอัปเปหิตนเองออกจากตำแหน่ง โดย “นายซาอัด ฮารีรี” ได้ประกาศลาออกขณะที่ตนอยู่ในกรุงริยาด และขณะที่ซาอุฯ ยังคงคุกคามทางอ้อมต่อกาตาร์โดยการปิดล้อม เสมือนว่าตอนนี้ซาอุฯ ก็กำลังปลุกผีเก่าอย่าง “สงครามกลางเมือง” ขึ้นมาในเลบานอน “ฮิซบุลเลาะห์” เชื่อว่าซาอุฯ กำลังบีบบังคับนายฮารีรี และพฤติกรรมเช่นนี้เท่ากับเป็นการประกาศสงคราม ขณะที่รัฐบาลซาอุฯ ก็กำลังแสวงหาการสนับสนุนจากอิสราเอลในการเผชิญหน้ากับอิหร่าน

ด้วยข้อกล่าวหาที่ปลิวว่อน ความตึงเครียดที่พุ่งขึ้นในระดับสูง และการต่อต้านอิหร่านอันเป็นทัศนคติที่ครอบงำในรัฐบาลสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงที่อาจส่งผลให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน

วิเคราะห์จากตัวเลข

การคาดการณ์ผลลัพธ์ของสงครามที่อาจเกิดขึ้น โดยอาศัยตัวเลขเพียงอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์ ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งของอิสราเอลกับฮิซบุลเลาะห์ ในปี 2006 ซึ่งยุติลงด้วยการเสมอกัน ทั้งที่กองกำลัง IDF ของอิสราเอลมีสถานะเงินทุนและยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่ามาก แต่ถึงกระนั้น ตัวเลขและจำนวนก็ให้มุมมองต่อสิ่งที่เตหะรานและริยาดสามารถนำมาใช้เล่นในกรณีเกิดสงครามขึ้นจริงๆ

เว็บไซต์ไฟร์เพาเวอร์ อินเด็กซ์ (Firepower Index) ซึ่งติดตามความเข้มแข็งของกองทัพชาติต่างๆ โดยเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างสองประเทศนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบียอยู่ในลำดับที่ 24 ของโลกที่มีความแข็งแกร่งทางการทหารที่สุด ขณะที่ประเทศอิหร่านที่อยู่ในลำดับที่ 21

ประเทศซาอุดิอาระเบียอยู่ในลำดับที่ 24 ของโลกที่มีความแข็งแกร่งทางการทหารที่สุด ขณะที่ประเทศอิหร่านที่อยู่ในลำดับที่ 21

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรสูงกว่าซาอุฯ ถึง 3 เท่า และมีประชากรที่สามารถทำสงครามได้มากกว่า 39 ล้านคนเมื่อเทียบกับประเทศซาอุดิอาระเบียที่มี 14 ล้านคน อิหร่านมีจำนวนบุคลากรทางทหารทั้งหมดประมาณ 934,000 คน หรือมากกว่าคู่แข่ง 3.6 เท่า

ในแง่ของงบประมาณทางการทหารสถานการณ์กลับตรงกันข้าม เตหะรานใช้งบจำนวน 6.3 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) เพื่อป้องกันประเทศในแต่ละปี ขณะที่งบประมาณของริยาดอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท) ทว่าความแตกต่างนี้อาจเร้าความรู้สึกเกินสิ่งที่เป็นจริง หากพิจารณาในแง่ว่าซาอุดิอาระเบียได้รับอาวุธส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาในราคาที่สูงลิบลิ่ว ขณะที่อิหร่านภูมิใจในยุทโธปกรณ์ที่สามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ ความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่นจรวดนั้นปรากฏชัดเจน

เตหะรานใช้งบจำนวน 6.3 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) เพื่อป้องกันประเทศในแต่ละปี ขณะที่งบประมาณของริยาดอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศที่แตกต่างก็ย่อมมีสัดส่วนความคุ้มต่อเงินที่จ่ายไปซึ่งแตกต่างกันเป็นเรื่องปรกติ เพราะสินค้าและบริการมีต้นทุนที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด เว็บไซต์นี้จึงได้ประเมินงบประมาณด้านการป้องกันประเทศของอิหร่านใหม่โดยปรับเปลี่ยนไปอยู่ที่ 1.459 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับซาอุดิอาระเบียที่ 1.731 ล้านล้านดอลลาร์

ในแง่ของยุทโธปกรณ์ด้านความมั่นคง ซาอุดีอาระเบียชนะอิหร่านในเรื่องจำนวนเครื่องบินรบและเครื่องบินโจมตี โดยเครื่องบินของอิหร่านบางส่วนเป็นรุ่นล้าสมัยของอเมริกันที่เหลือจากยุคของกษัตริย์ชาห์ เช่น F-4 Phantom II ในขณะที่เครื่องบินของโซเวียตและจีนได้รับมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990 ส่วนกองทัพอากาศซาอุดิอาระเบียนั้นเต็มไปเครื่องบินรบรุ่นใหม่ๆ ของสหรัฐฯ และบางรุ่นจากยุโรป ในกรณีเกิดสงครามเตหะรานคาดหวังที่จะยิงเครื่องบินเหล่านี้ให้ตกด้วยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศซึ่งได้พัฒนามาหลายปีแล้ว

ความเข้มแข็งทางกองทัพเรือของสองประเทศนั้นเทียบกันแล้วอิหร่านน่าจะได้เปรียบ ความแตกต่างอย่างมากในจำนวนเรือ (อิหร่าน 398 ลำเทียบกับซาอุฯ 55 ลำ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองเรือขนาดเล็กของอิหร่านที่มีเรือลาดตระเวนจำนวน 230 ลำ นอกจากนั้นชาวเปอร์เซียก็ยังสามารถคุยโวในสิ่งที่ชาวอาหรับไม่มีนั่นคือ “เรือดำน้ำ“ ซึ่งอิหร่านมีอยู่ 33 ลำ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ระวางขับ 10 ตัน รุ่น Al-Sabehat 15 SDVs ไปจนถึงเรือดำน้ำ ชั้นกิโล (Kilo class) ของรัสเซีย 3 ลำ ที่มีการส่งมอบในปี 1990 หากสหรัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก) อย่างน้อยที่สุดอิหร่านอาจปิดกั้นเรือซาอุดีอาระเบียทั้งหมดไม่ให้สามารถแล่นในอ่าวเปอร์เซียได้

เมื่อพูดถึงสงครามภาคพื้นดินขนาดใหญ่ อิหร่านมียุทโธปกรณ์พอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่แข่งของตน อาจล้าหลังกว่าซาอุดีอาระเบียในแง่ของยานพาหนะต่อสู้ของทหารบก แต่เหนือกว่าในแง่ความแข็งแกร่งของหน่วยรถถังและจำนวนปืนใหญ่จำนวนมากมายหลากชนิด แต่กระนั้น อิหร่านจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ได้ก็ขึ้นอยู่ว่าสามารถปกป้องน่านฟ้าได้หรือไม่

ความตายและการทำลายล้าง

แน่นอนว่าหากอิหร่านและซาอุดิอาระเบียเดินไปสู่จุดแตกหัก มันก็สร้างหายนะที่ร้ายแรงต่อทั้งสองประเทศและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สถานการณ์ย่อมแตกต่างจากขีปนาวุธที่ยิงเป็นระยะๆ จากเยเมน เพราะขีปนาวุธของอิหร่านมีมากเกินความสามารถของซาอุดิอารเบียที่จะป้องกัน แต่อาจไม่แม่นยำพอที่จะหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทหาร ประวัติของซาอุฯ ในการฆ่าพลเรือนในเยเมนทำให้มีความหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่าซาอุฯ จะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการต่อสู้กับอิหร่าน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่สองรายก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่วนใหญ่ของการค้านี้ต้องพึ่งพาเส้นทางผ่านอ่าวเปอร์เซีย

และหากทั้งสองประเทศปะทะกัน ผู้เล่นตัวอื่นๆ ก็ไม่น่าจะอยู่นิ่งได้ กองกำลังตัวแทนต่างๆ ก็จะถูกปั่นให้ออกมาแสดงบทบาท ซึ่งสามารถทำนายได้เลยว่า ความปั่นป่วนยุ่งเหยิงของจริงจะเกิดขึ้นโดยที่ทุกฝ่ายต่างได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์นี้คงจะไม่เกิดขึ้น!!

แปล/เรียบเรียงจาก https://www.rt.com/news/409875-iran-saudi-arabia-military/