กระแสต่อต้านภาพยนตร์อื้อฉาวแห่งปี “ปัทมาวตี” เรื่องราวของราชินีชาวฮินดู และกษัตริย์มุสลิม

ภาพยนตร์บอลลีวู้ดแห่งปีของอินเดีย “ปัทมาวตี” ซึ่งเป็นเรื่องราวของราชินีชาวฮินดู และกษัตริย์มุสลิม ในศตวรรษที่ 14 กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ หลังจากชาวฮินดูจำนวนมากในอินเดียประท้วงต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์

บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ “ปัทมาวตี” ได้ประกาศเลื่อนการฉายออกไป ท่ามกลางการประท้วงและคำขู่ใช้ความรุนแรง จากพรรคการเมืองฮินดูแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งกล่าวหาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์ และพยายามสร้างภาพแห่งความลุ่มหลงระหว่างกษัตริย์มุสลิม อะลาอุดดิน คิลจี กับราชินีฮินดู ปัทมาวตี ผู้ซึ่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่า ไม่มีตัวตนอยู่จริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ส่วนท้องถิ่น ประกาศตั้งค่าหัว 100 ล้านรูปี หรือ 1,500,000 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่สามารถตัดศีรษะของดารานำหญิงของเรื่องนี้ คือ ทีปิกา ปาทุโกณ และผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ของบอลลีวู้ด ซานเจย์ ลีลา ปันซาลี

นอกจากนี้ กลุ่มชาวฮินดูแนวคิดขวาจัดยังได้โจมตีโรงภาพยนตร์ที่ฉายตัวอย่างของหนังเรื่องนี้ พร้อมประกาศว่าจะขัดขวางการเปิดฉายหนัง “ปัทมาวตี” และขู่ว่าจะตัดจมูกของดารานำหญิงด้วย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพด้านศิลปะและการสร้างสรรค์ในอินเดีย รวมทั้งความกังวลต่อการกระทำของกลุ่มชาวฮินดูแนวคิดขวาจัด ในช่วงที่พรรครัฐบาล BJP ซึ่งเป็นพรรคของชาวฮินดู ปกครองอินเดีย

ด้านบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ “ปัทมาวตี” ออกมาย้ำว่า กลุ่มผู้ประท้วงควรดูหนังเรื่องนี้ ก่อนที่จะสรุปว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกของชาวฮินดูจริงหรือไม่

แต่ดูเหมือนผู้ประท้วงต่างไม่รับฟังคำขอของบริษัทผู้สร้าง โดยยืนยันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของ “ราชปุต” ซึ่งเป็นชนชั้นนักรบของอินเดียเหนือ ซึ่งยึดถือราชินีปัทมาวตีเป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ

ในขณะที่รัฐบาลพรรค BJP ที่นำโดยนายกฯ นเรนธรา โมดี พยายามแยกตัวออกจากเรื่องอื้อฉาวนี้ แต่กลับมีผู้นำพรรค BJP ส่วนท้องถิ่นหลายคนที่เข้าร่วมประท้วงภาพยนตร์ “ปัทมาวตี” และมีอย่างน้อย 3 รัฐ ที่ประกาศว่าจะสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในรัฐตน โดยให้เหตุผลว่าขัดกัับวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย

ด้านนักวิเคราะห์การเมือง ซาติช มิสรา แห่งมูลนิธิ Observer Research ในกรุงนิวเดลี ตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลอินเดียจึงไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มที่ขู่จะใช้ความรุนแรง? และว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรักษาบรรยากาศที่สงบเรียบร้อยและปลอดภัย เพื่อที่ประชาชนจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่ดีได้

ที่ผ่านมา การมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ของราชินี “ปัทมาวตี” ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงในหมู่นักวิชาการเช่นกัน

นักประวัติศาสตร์หลายคนระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่าราชินีฮินดูผู้นี้มีตัวตนจริง ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าต่อๆ กันมาจากวรรณกรรมพื้นบ้านอินเดียสมัยศตวรรษที่ 16 เรื่อง “ปัทมาวัต” ซึ่งเป็นเรื่องราวของราชินีผู้เลอโฉม ผู้กระทำ “Jauhar” หรือการเสียสละเดินเข้าสู่กองเพลิงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับตัว

การประท้วงต่อหนังสือหรือภาพยนตร์ที่ชาวฮินดูหรือชาวมุสลิมในอินเดีย มองว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่น การประท้วงหนังสือชื่อ “The Hindus: An Alternative History” ของนักเขียนชาวอเมริกัน เวนดี้ โดนิเกอร์ เมื่อสามปีก่อน และการสั่งห้ามหนังสือ “The Satanic Verses” ของ ซัลมาน รัชดี วางขายในอินเดียเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า การต่อต้านภาพยนตร์ “ปัทมาวตี” นั้นไปไกลเกินกว่าประเด็นด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพราะเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสำคัญในหลายรัฐของอินเดีย ซึ่งประเด็นด้านชนชั้นวรรณะและอัตลักษณ์ทางการเมืองมักถูกหยิบยกขึ้นมาในการหาเสียง

รวมทั้งการก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มชาวฮินดูแนวคิดขวาจัดในเขตชนบท ในยุคที่พรรค BJP กำลังปกครองอินเดียอยู่ในขณะนี้

ขอบคุณ/ที่มา VOAThai